เนื้อหาวันที่ : 2012-11-21 09:07:22 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1456 views

จับตา 4 ธุรกิจหลักไทย จัดทัพแรงงานสู้ศึกเออีซี

ทุกภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้อง เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้

จุดเปลี่ยนสำคัญของธุรกิจไทยในการก้าวไปสู่การเปิดตลาดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ส่งผลให้ทุกภาคอุตสาหกรรมจำเป็นต้อง เตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ที่ถือว่ากำลังจะเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญต่อการผลักดันให้ธุรกิจเดินหน้าไปสู่การแข่งขันในตลาดโลกได้

ดังนั้น เพื่อเป็นการจับตาเศรษฐกิจอาเซียน ทางสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA จึงได้จัดงานเสวนาในหัวข้อพิเศษเรื่องแนวโน้มค่าจ้างกับการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีสิ่งที่น่าสนใจของประเด็นนี้คือการ ฉายภาพด้านแรงงานใน 4 ภาคธุรกิจ ที่มีผลสำคัญต่อตลาดประเทศไทย เพื่อ มุ่งสู่การดึงดูด รักษา และเพิ่มศักยภาพของแรงงานไปพร้อม ๆ กัน

"เนรมิต สร้างเอี่ยม" กรรมการผู้จัดการ บริษัท แกรนด์ ยูนิตี้ ดิเวลล็อปเมนท์ จำกัด ตัวแทนจากกลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ทุกวันนี้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เติบโตขึ้นอย่างมากในช่วง 2 ปีผ่านมา

"โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมกำลังเติบโตมากถึง 90% สืบเนื่องจากไลฟ์สไตล์ของคนเมืองที่เปลี่ยนไป คือมีความต้องการ อยากซื้อคอนโดฯมากกว่าบ้าน ดังนั้น นี่คือ สิ่งที่จะบอกได้ว่าเมื่อดีมานด์ความต้องการของสังคมเมืองมีมากขึ้น จึงส่งผลให้ธุรกิจ คอนโดฯจะเติบโตขึ้นอีกหลายเท่าตัว"

"แต่สิ่งที่ตามมาคือเราต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น ขณะที่แรงงานในกลุ่มก่อสร้างกลับมีเท่าเดิม ปัญหาหลัก ๆ ที่ทำให้ขาดแรงงานในส่วนนี้คือ เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว เมื่อมีการจ้างงานเข้า และออกอย่างไม่สมดุล นายจ้างจึงมองแต่จะหาแรงงานราคาถูกมากกว่าที่จะมองในมุมเอชอาร์"

ในมุมเอชอาร์ที่มีต่อแรงงานของ "เนรมิต" คือการป้อนทักษะเพื่อนำไปสู่การพัฒนาศักยภาพ ซึ่งจะถือว่าเป็นการเพิ่มมูลค่าให้แรงงานอีกทางหนึ่ง "ผมมองว่า ปัญหาของแรงงานคือ ไม่สามารถรับงานในสเกลที่ใหญ่ได้ ถ้าเราจะแก้ปัญหานี้จริง ๆ แทนที่จะไปเพิ่มจำนวนแรงงานให้มากขึ้น กลับน่าจะเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานให้มากขึ้น โดยใช้จำนวนแรงงานที่เท่าเดิม"

"วิธีนี้มีข้อแม้อย่างเดียวคือคุณต้อง หลุดกรอบออกจากการจ่ายค่าแรงแบบตามระดับการศึกษา เพราะผมมองว่าถ้าคุณอยากจะรักษาแรงงานที่มีประสิทธิภาพ และความสามารถจริง ๆ เราอาจต้องจ่ายค่าจ้างตามบทบาทของงาน หรือตามประสิทธิผลของงานมากกว่า"

เช่นเดียวกับ "ม.ล.หทัยชนก กฤดากร" General ManagerCorporate Affairs Thailand, Cambodia, Laos & Vietnam AAPC (Thailand) Limited จากกลุ่มธุรกิจโรงแรมและ ท่องเที่ยว ที่มุ่งให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพให้กับแรงงานไปพร้อม ๆ กับการบริหารทรัพยากรบุคคลให้ดีเพื่อสามารถรักษาคนที่มีอยู่ไว้ให้ได้มากที่สุด

 "ทุกวันสายธุรกิจโรงแรมยังขาดแรงงานอยู่ถึง 30% โดยเฉพาะในส่วนตำแหน่งของผู้บริหารระดับกลาง และผู้บริหารระดับสูง ที่ไม่ค่อยมีคนไทยเข้ามาบริหารงานในส่วนนี้เท่าไหร่อาจเป็นเพราะวิธีคิดแบบเดิม ๆ ที่หากมีผู้บริหารระดับสูงเป็นชาวต่างชาติ ก็จะสามารถสื่อสาร และเข้าใจวิธีคิดของ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้มากกว่า แต่ผมมองว่าเมื่อทุกวันนี้โลกเปลี่ยนแปลง เราจะต้องเริ่มปรับ และเดินหน้าไปสู่จุดยืนแห่งอาเซียนให้ได้"

"ม.ล.หทัยชนก" มองว่าการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี เป็นเรื่องที่จะเสียมากกว่าได้ โดยขอเปรียบเทียบกับแรงงานในประเทศลาว หรือเวียดนาม ที่แม้ระดับการศึกษาเขาจะไม่ดีมาก แต่ความสามารถทางภาษาเขาดีกว่าเรา นั่นอาจจะส่งผลตามมาว่าชาวมาเลเซียอาจจะเข้ามาบริหารงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับกลางและระดับสูงแทนเรา

"ตรงนี้ผมจึงอยากชี้ให้เห็นความสำคัญของคำว่า รู้เขา-รู้เรา เพราะเมื่อเรารู้จักเขาได้มากกว่าที่เขารู้จักเรา แล้วองค์กรไทยจะได้เตรียมพร้อม และรับมือสู่ตลาดอาเซียน ที่เป็นโอกาสไม่ใช่อุปสรรค"

อีกหนึ่งธุรกิจที่ยังคงตรึงอยู่กับดีมานด์ และซัพพลายทั้งด้านแรงงานและวัตถุดิบ นั่นคือกลุ่มธุรกิจอาหาร ในเรื่องนี้ "ศุภนิตย์ มานะจิตต์" รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด (มหาชน) บอกว่า จริง ๆ แล้วเรามีช่องทางตลาดที่รองรับ การส่งออกสำหรับประเทศไทย ค่อนข้างมาก

"รวมถึงการส่งออกไปประเทศอาเซียน 20% เมื่อรวมมูลค่าการส่งออกเราเติบโตขึ้นกว่า 2 หมื่นล้านบาท แน่นอนว่าธุรกิจอาหารยังคงมีดีมานด์ขึ้นเรื่อย ๆ แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้ซัพพลายเกิดความสมดุลกับดีมานด์ให้ได้"

หากมองในแง่ของแรงงานในธุรกิจอาหาร ผมขอแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มแรงงานในอุตสาหกรรม และกลุ่มแรงงานผลิตวัตถุดิบ ได้แก่กลุ่มแรงงานเกษตร อย่างปลูกอ้อย, ข้าว, มัน ซึ่งนับว่ามีจำนวนแรงงานที่น้อยลงมากเมื่อเทียบกับอดีต อาจเพราะค่านิยมที่อยากเปลี่ยนไปอยู่สังคมเมืองมากกว่าภูมิลำเนา จึงทำให้เกิดการขาดแคลนแรงงานด้านเกษตร ค่อนข้างมาก และนั่นจะส่งผลให้เป็นปัญหาใหญ่ของประเทศได้ในอนาคต"

"ศุภนิตย์" จึงเสนอแนวทางการแก้ไขด้านแรงงานกลุ่มผลิตวัตถุดิบว่าจะต้องทำให้แรงงานในกลุ่มนี้มีรายได้เทียบเท่ากับแรงงานในเมือง เพื่อจะได้จูงใจ และเพิ่มคุณภาพชีวิตดีขึ้นที่สำคัญ ควรจะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เพื่อให้การผลิตวัตถุดิบนั้นง่ายและสะดวกขึ้น เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมการเกษตรเติบโตขึ้นอีกทางหนึ่ง"

ส่วนกลุ่มธุรกิจยานยนต์ที่เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งตลาดใหญ่ของแรงงาน "ยงเกียรติ์ กิตะพาณิชย์" กรรมการ รองกรรมการ ผู้อำนวยการบริหาร บริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ยอมรับว่าตลาดยานยนต์มีการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ไม่เฉพาะแต่ในประเทศไทย ยังรวมถึงตลาดโลกด้วย

แต่ผลกระทบของยานยนต์คือเราต้องการจำนวนแรงงานเพิ่มขึ้นอีก 2 แสนคน จากเดิมเรามีจำนวนแรงงานในตลาดอยู่แล้วประมาณ 5 แสนคน เราอยากได้ เพื่อจะได้รองรับตลาดที่ใหญ่ขึ้นในอนาคต"

นอกจากการขาดแคลนแรงงาน ยังรวมถึงปัญหาการโยกย้ายแรงงาน การแข่งขันทางด้านต้นทุนแรงงานที่จะมีการปรับขึ้นเป็นวันละ 300 บาทในต้นปี 2556 ที่สำคัญคือปัญหาทักษะฝีมือของ แรงงาน""ผมว่าจะสร้างทักษะแรงงานให้เกิดประสิทธิภาพได้ จะต้องมุ่งไปที่การผลักดันหลักสูตร ปวช.และ ปวส. ให้ผลิตบุคลากรในระดับช่างฝีมือและช่างเทคนิค เพื่อจะได้สอดรับตรงต่อความต้องการของตลาดแรงงานโดยเฉพาะที่จะส่งผลให้กลายเป็นความต้องการเชิงคุณภาพด้านแรงงานที่ทั้งตลาดไทยและอาเซียนมีความต้องการมากที่สุด !