เนื้อหาวันที่ : 2012-11-16 10:07:30 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2780 views

เอทานอลล้นระบบวันละ 2 ล้านลิตรเร่งส่งออก-แก้พ.ร.บ.น้ำมัน

การใช้งานจริงอยู่ที่ 1.3 ล้านลิตร ชี้การยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซินออกเทน 91 ไม่มีผล เพราะโรงงานเก่ายังผลิตไม่เต็มที่ แถมมีโรงใหม่ขึ้นมาอีก

ผู้ผลิตเอทานอลทำใจ ปริมาณการผลิตล้นตลาดขนาดหนัก ปีหน้าผุดอีก 4 โรงใหม่ รวม 1.15 ล้านลิตร  แต่การใช้จริงยังคงอยู่ที่ 1.3 ล้านลิตร ชี้การยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ไม่มีผล เหตุโรงงานเก่ายังผลิตไม่เต็มที่ แถมมีโรงใหม่ขึ้นมาอีก วอนแก้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม หวังส่งออก เอทานอลได้สะดวกเหมือนน้ำมัน

นายสิริวุฒิ เสียมภักดี นายกสมาคม ผู้ผลิตเอทานอลไทย เปิดเผยกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความต้องการใช้เอทานอลช่วง ที่ผ่านมา ถือว่ายังคงในระดับ 1.2-1.3 ล้านลิตร/วัน ในขณะที่กำลังการผลิต เอทานอลทั้งระบบอยู่ที่ 3 ล้านลิตร/วัน "ถือว่า เอทานอลยังล้นตลาดอยู่"

แต่ที่สำคัญก็คือในช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้ต่อเนื่องไปถึงไตรมาส 1 ของปีหน้า จะมีการเปิดโรงงานเอทานอลแห่งใหม่เข้ามาเพิ่มเติมในระบบอีก 4 โรง รวมกำลังผลิตใหม่ 1.15 ล้านลิตร/วัน ได้แก่ บริษัทดับเบิ้ลเอ เอทานอล มีกำลังผลิต 250,000 ลิตร/วัน, บริษัทอุบลไบโอเอทานอล กำลังผลิต 400,000 ลิตร/วัน, บริษัทเอ็มเพลสกับบริษัทจีพีเค กำลังผลิตรวมกันไม่น้อยกว่า 500,000 ลิตร/วัน รวมกำลังผลิตทั้งระบบจะมีปริมาณเอทานอลสูงถึง 4.15 ล้านลิตร/วัน โดยโรงงานเหล่านี้ส่วนใหญ่จะใช้วัตถุดิบในการผลิตเอทานอลจากมันสำปะหลัง

ทั้งนี้เป็นที่ทราบกันดีว่า กระทรวงพลังงานร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม พยายามผลักดันให้เกิดโรงงานเอทานอลแห่งใหม่ โดยไม่มีการควบคุมปริมาณการผลิตจนเอทานอลล้นระบบ ส่งผลให้โรงงานผู้ผลิตต้องหาทางออกด้วยการส่งออก เอทานอล "ส่วนเกิน" ไปยัง 5 ประเทศ คือฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, ไต้หวัน, เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น เนื่องจากราคาส่งออกเอทานอลไปยังประเทศเหล่านี้ ถือว่าแข่งขันได้ หรืออยู่ประมาณ  18-19 บาท/ลิตร

ทางสมาคมผู้ผลิตอาทานอลไทยคาดว่า จนถึงสิ้นปี 2555 ประเทศไทยจะมีการ ส่งออกเอทานอลประมาณ 300 ล้านลิตร ในขณะที่กระทรวงพลังงานเตรียมที่จะ ผลักดันให้บริษัทผู้ค้าน้ำมันยกเลิกการผลิตและจำหน่ายน้ำมันเบนซินออกเทน 91 แต่ก็เลื่อนออกไปเป็นวันที่ 1 มกราคม 2556 อีก เพื่อให้ผู้ใช้รถหันมาเติมน้ำมัน แก๊สโซฮอล์ ซึ่งมีส่วนผสมของเอทานอล เพิ่มขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะเพิ่มคำสั่งซื้อ เอทานอลภายในประเทศได้ไม่ต่ำกว่า 2 ล้านลิตร

อย่างไรก็ตาม ในประเด็นนี้ถึงแม้จะยกเลิกการจำหน่ายน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ได้จริง ทางกลุ่มโรงงานเอทานอล คาดการณ์ว่าความต้องการใช้เอทานอลในการผสมน้ำมันแก๊สโซฮอลล์น่าจะเพิ่มขึ้นระหว่าง 1.5-1.6 ล้านลิตรเท่านั้น

"การใช้เอทานอลในประเทศไม่เพิ่มขึ้นเลย ไม่ว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกเบนซิน 91 วันนี้ก็ไม่ส่งผลกระทบอะไร ซัพพลายก็ยังโอเวอร์อยู่ดี ราคาเอทานอลอ้างอิงที่ประกาศโดยกระทรวงพลังงานอยู่ที่ลิตรละ 19.95 บาท เอาเข้าจริงก็ไม่มีบริษัท ผู้ค้าน้ำมันรายใดรับซื้อที่ราคานี้ ส่วนใหญ่จะซื้อกันอยู่ที่ 19 บาท/ลิตร  เนื่องจากตลาดเป็นของผู้ซื้อ ทั้ง ๆ ที่ราคาต้นทุนที่โรงงานอยู่ได้จะอยู่ระหว่าง 21-22 บาท/ลิตร ผมว่ากระทรวงพลังงานต้องเข้ามาดูแลผู้ผลิตบ้าง ที่ผ่านมาเสนอ แนวทางให้ช่วยเหลือ แต่ไม่มีความคืบหน้าเลย"

นายสิริวุฒิกล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้สมาคมได้เสนอไปยังกระทรวงพลังงานว่าให้แก้กฎหมายใหม่ด้วย การนำ "เอทานอล" เข้าไปอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม เพื่อให้เอทานอลถูกจัดอยู่ในกลุ่มน้ำมัน ซึ่งจะลดข้อจำกัดในการส่งออกเอทานอลให้มีความคล่องตัวมากขึ้นได้ แต่จนถึง ขณะนี้ยังไม่ได้รับการพิจารณาส่วนของการผลักดันให้มีการซื้อขายเอทานอลในตลาดล่วงหน้า หรือ AFET นั้น "ผมว่า คงต้องพับแผนไปก่อน เนื่องจากภาวะตลาดยังไม่เหมาะสม ผู้ขายมีมากกว่าผู้ซื้อ รวมถึงภาครัฐต้องไม่มีการประกันราคาวัตถุดิบอย่างหัวมันสดด้วย

ด้านนายประสาท เกศวพิทักษ์ ประธานกรรมการบริหารตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย  (AFET) กล่าวว่า AFET อาจจะเลื่อนเปิดซื้อขายเอทานอลล่วงหน้าออกไปก่อน จากเดิมที่มีกำหนดจะเปิดให้ทันภายสิ้นปีนี้ เนื่องจากขณะนี้ยังต้องหารือกับผู้ซื้อ- ผู้ผลิตเอทานอล เพิ่มเติมในหลายประเด็นให้ได้ข้อสรุปก่อน เพื่อแก้ไขปัญหาที่ อาจจะเป็นอุปสรรคในการซื้อขาย โดย ทางผู้ซื้อพร้อม แต่ทางผู้ผลิตคิดว่าจะต้องมีการคุยกันหาข้อสรุปในบางเรื่อง มีการ ยกตัวอย่างการซื้อขายเอทานอลล่วงหน้าในตลาดฟิลิปปินส์และจีน "ตรงนี้ก็ยังไม่ค่อยชัดเจน ทราบว่าเป็นการขายฟอร์เวิร์ด แต่ไม่ใช่ฟิวเจอร์"

นอกจากนี้ยังมีการศึกษาแนวทางในการปรับแก้ไขกฎหมายสรรพสามิตเรื่องแอลกอฮอล์ เพื่อป้องกันไม่ให้นำ เอทานอลมาบริโภค หากเป็นการแก้ พ.ร.บ. อาจจะต้องเข้าสภา และกระบวนการจะใช้เวลามาก แต่หากแก้ประกาศกระทรวง อาจจะเร็วกว่า