เนื้อหาวันที่ : 2012-11-14 08:45:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1417 views

สวทช.ต่อยอด RFID ใช้พลาสติกแทนโลหะลดต้นทุน

สวทช.ทำวิจัยต่อยอดผลิตเสาอากาศฉลาก RFID แบบใหม่ พิมพ์จากโพลิเมอร์นำไฟฟ้าและกราฟีนแบบโปร่งใส ช่วยลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ

ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัย หน่วยปฏิบัติการวิจัยนาโนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องกลจุลภาค ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และ คอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า สวทช.ทำการวิจัยและพัฒนาเสาอากาศของฉลาก RFID (Radio-frequency identication) แบบพิมพ์จากวัสดุใหม่ที่ประกอบด้วยโพลิเมอร์นำไฟฟ้าและกราฟีน (Graphene) แตกต่างจากเสาอากาศแบบเดิมที่ทำจากวัสดุโลหะ เช่น เงินและทองแดง ซึ่งใช้วิธีกัดโลหะ

ข้อดีของเสาอากาศแบบใหม่คือสามารถพิมพ์บนผลิตภัณฑ์ที่โค้งงอได้และมีราคาถูกกว่าฉลาก RFID แบบโลหะมาก วัสดุใหม่จากโพลิเมอร์นำไฟฟ้าและกราฟีน ราคาเพียงกิโลกรัมละ 20,000 บาท น้อยกว่าโลหะเงินที่มีราคากิโลกรัมละ 100,000 บาท ถึง 5 เท่า จึงสามารถช่วยผู้ประกอบการลดต้นทุนได้

ขณะเดียวกันมีคุณสมบัติด้านความปลอดภัยมากขึ้น เพราะฉลาก RFID แบบพิมพ์ไม่สามารถลอกแล้วไปติดกับสินค้าอื่นเหมือนฉลากแบบโลหะ และวัสดุใหม่ทำให้เลือกพิมพ์ RFID ได้ทั้งแบบทึบแสงและโปร่งใส ซึ่งอย่างหลังจะช่วยเพิ่มความปลอดภัยในกรณีที่ไม่ต้องการให้ผู้ใดเห็นฉลากและช่วยประหยัดพื้นผิววัสดุให้สามารถเขียนข้อความหรือใส่รายละเอียดอื่น ๆ ได้ รวมทั้งมีทางเลือกในการดีไซน์มากขึ้น

แต่ข้อด้อยของฉลากแบบนี้คือไม่ทนทานเท่ากับแบบโลหะจึงเหมาะใช้กับสินค้าที่ใช้ครั้งเดียว เช่น บัตรในงานคอนเสิร์ต เป็นต้น ทั้งนี้สวทช.กำลังยื่นเอกสารขอจดทะเบียนสิทธิบัตรการพิมพ์ RFID แบบโปร่งใสอยู่

ดร.อดิสรกล่าวว่า มีเทคโนโลยีใหม่อีกชนิดหนึ่งที่น่าสนใจชื่อ Touch code เป็นกระดาษที่พิมพ์ด้วยหมึกแบบพิเศษที่มีคุณสมบัติโปร่งใสและสามารถบรรจุข้อมูลได้ เมื่อนำกระดาษ Touch code แตะบนอุปกรณ์คอมพิวเตอร์เคลื่อนที่ เช่น แท็บเลต หมึกพิมพ์จะส่งผ่านข้อมูล เชื่อมต่อไปยังหน้าเว็บเพจหรือข้อมูลอื่น ๆ บรรจุอยู่ ซึ่งเทคโนโลยีนี้มีข้อดีกว่าเทคโนโลยี QR Code ที่คนทั่วไปไม่สามารถมองเห็นรหัสได้ ทำให้สามารถจำกัดคนเข้าถึงแหล่งข้อมูล จึงเหมาะกับการให้ข้อมูลพิเศษ เช่น ส่วนลดของร้านค้า เป็นต้น

นายประวิทย์ โชติปรายนกุล ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถาบันรหัสสากลพยายามเผยแพร่ความรู้เรื่องรหัสสากล GS1 แก่เอสเอ็มอีและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น (OTOP) เพื่อให้ผู้ประกอบการ กลุ่มดังกล่าวขอรับรหัส GS1 มากขึ้น เพราะรหัสนี้เป็นต้นทางช่วยยกระดับสินค้าเข้าสู่ห้างสรรพสินค้าหรือโมเดิร์นเทรด ต่าง ๆ ได้ทั่วโลก

ต่อไปสินค้าที่มีรหัสมาตรฐานสากล GS1 จะมีข้อได้เปรียบด้านการประชาสัมพันธ์ เพราะปีหน้าสถาบันรหัสจะสร้างแอปพลิเคชั่นให้ผู้บริโภคตรวจสอบรายละเอียดต่าง ๆ ของสินค้าผ่านรหัส GS1 ทั้งหมดได้ ทั้งนี้ปัจจุบันในทวีปยุโรปใช้แอปพลิเคชั่นดังกล่าวมาแล้วประมาณหนึ่งปีแล้ว