เนื้อหาวันที่ : 2007-05-22 08:38:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2019 views

ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ เข้าเทรดรอบใหม่ พร้อมรุกตลาดท่อสแตนเลส

บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) ติดอันดับหนึ่งของหุ้นที่มีราคาเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุดประจำวัน ชี้นักลงทุนเข้าใจในตัวธุรกิจความเป็นผู้นำอันดับ 1 ท่อสแตนเลส และปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของบริษัท มั่นใจกระแสดันตลาดโตต่อเนื่อง

.

TGPRO เข้าเทรดรอบใหม่วันแรกปิดที่ 1.37 บาท สูงกว่าราคาเดิมก่อนที่จะมีการพักซื้อขายถึง 37%  ส่งหุ้น TGPRO ติดอันดับหนึ่งของหุ้นที่มีราคาเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นมากที่สุดประจำวัน  ชี้นักลงทุนเข้าใจในตัวธุรกิจความเป็นผู้นำอันดับ 1 ท่อสแตนเลส และปัจจัยพื้นฐานโดยรวมของบริษัท มั่นใจกระแสดันตลาดโตต่อเนื่อง

.

นายรชต ลีลาประชากุล  กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทย-เยอรมัน โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TGPRO ผู้นำในด้านการผลิตและจำหน่ายท่อและผลิตภัณฑ์สแตนเลส สำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมทั้งการตกแต่งและก่อสร้างทั้งในและต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการเข้าซื้อขายของหุ้น TGPRO วันแรกคือในวันที่ 3 พฤษภาคม 2550 หลังจากได้รับอนุญาตจาก ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ให้กลับเข้าทำการซื้อขายได้อีกครั้ง ในหมวดธุรกิจวัสดุอุตสาหกรรมและเครื่องจักร ปรากฏว่าหุ้นของบริษัทได้รับความสนใจจากนักลงทุน โดยมีราคาปิดที่ 1.37 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้น 37 สตางค์  หรือ 37% เมื่อเทียบกับราคาปิดครั้งล่าสุด มีจำนวนหุ้นที่ทำการซื้อขายรวม 109.8  ล้านหุ้น   และมีมูลค่าการซื้อขายรวม 167.6 ล้านบาท ติดอันดับ 1 ของหุ้นที่มีราคาเปลี่ยนแปลงขึ้นมากที่สุดประจำวัน (Top Gainer)    แสดงให้เห็นถึงนักลงทุนส่วนใหญ่มีความเข้าใจในธุรกิจของบริษัท รวมถึงปัจจัยพื้นฐานและแนวโน้มการเติบโตในอนาคต

.

"สำหรับหุ้นของ TGPRO ถือเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดี โดยสถานะทางการเงินอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้นหลังจากที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ลูกค้าทั้งเก่าและใหม่มีความมั่นใจ ที่ผ่านมามีรายได้เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง คาดการณ์ว่ารายได้ปี 2550 น่าจะโตจากปีที่แล้วประมาณ 5-10% ขณะที่ตัวเลขอื่นๆอยู่ในทิศทางที่ดีขึ้นเช่นกัน ทำให้การทำงานง่ายขึ้น โดยหลังจากนี้ TGPRO ต้องเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ โดยเฉพาะการเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ ๆ รวมถึงการขยายฐานของกลุ่มลูกค้าให้มากขึ้น" นายรชต กล่าว

.

สำหรับผลการดำเนินงานในปีที่ผ่านมาปรากฏว่า บริษัทฯ มีรายได้รวม 1,756 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิรวม 36 ล้านบาท มีทรัพย์สินรวม 1,845 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรข้างต้นอยู่ที่ 15.43% อัตราผลตอบแทนแก่ผู้ถือหุ้น 32.65% ซึ่งมีกำไรต่อหุ้นขั้นพื้นฐานคิดเป็น 0.11 บาท

.

การเข้าทำการซื้อขายรอบใหม่ของ TGPRO ทำให้บริษัทสามารถดำเนินงานตามแนวทางที่วางไว้ สำหรับแผนงานปี 2550 ที่มีแนวทางด้านการดำเนินงานออกเป็น 3 แนวทางหลัก ๆ ดังนี้    

.

1) การพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการขยายฐานด้านการตลาด โดยปัจจุบันบริษัทฯ ถือเป็นผู้ผลิต และส่งออกท่อสแตนเลสสำหรับใช้ในงานอุตสาหกรรมเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทย ทั้งในด้านกำลังการผลิตและความแตกต่างของสินค้า โดยมีกำลังการผลิตของเครื่องจักรสูงสุด กว่า 50,000 ตันต่อปี สามารถผลิตท่อตั้งแต่ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4.5 508 mm. และความหนาสูงสุดถึง 12.5 mm.  ด้วยเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงจากประเทศเยอรมนี ภายใต้การรับรองมาตรฐาน ISO 9000 จากสถาบัน TUV NORD ขณะที่กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะประกอบไปด้วย กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมหนักทั่วไป เช่น โรงงานปิโตรเคมีโรงงานผลิตเยื่อกระดาษและเคมีภัณฑ์ รถยนต์ อาหาร นม ยา เวชภัณฑ์ต่าง ๆเฟอร์นิเจอร์ รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องใช้ท่อสแตน        เลสแบบพิเศษ ทั้งในและต่างประเทศ โดยหลังจากการออกจากแผนฟื้นฟูกิจการจะส่งผลให้กลุ่มลูกค้ามีความเชื่อมั่นมากขึ้น ทำให้บริษัทฯ วางแผนที่จะมุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆออกสู่ตลาด รวมถึงการขยายกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นทั้งในและต่างประเทศ  โดยปัจจุบันมีอัตราการขายในประเทศ 70% ต่างประเทศ 30%

.
2) การบริหารและจัดการโครงสร้างทางด้านการเงิน  มุ่งเน้นการบริหารงานภายใต้ระบบบรรษัท ภิบาลที่ดี (Good Governance) เน้นความโปร่งใส และมุ่งให้ผลตอบแทนที่ดีกับนักลงทุนและผู้ถือหุ้น ขณะที่ในส่วนของนโยบายด้านการลงทุนใหม่ ๆจะพิจารณาจากผลตอบแทนของการลงทุน และปัจจัยพื้นฐานต่าง ๆ โดยพยายามควบคุมอัตราส่วนทางการเงินให้อยู่ในค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรมเป็นหลัก

 .

3) การพัฒนาและส่งเสริมภาพลักษณ์ของกิจการ โดยที่ผ่านมาบริษัทฯ อยู่ภายใต้แผนฟื้นฟูจึงประชาสัมพันธ์เฉพาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่รู้จักบริษัทหรือมี Brand Loyalty โดยตรง เนื่องจากบริษัทเป็นผู้ผลิตรายแรกของประเทศไทยและปัจจุบันกำลังขึ้นปีที่ 35 โดยในปี 2550 จะหันมาเน้นการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกับกลุ่มลูกค้ามากขึ้น โดยมุ่งการสื่อสารไปยังลูกค้าโดยตรง กลุ่มลูกค้าคาดหวังใหม่ ๆและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นลูกค้ารายย่อย หรือ End Users ผ่านกิจกรรมทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศในหลายรูปแบบ อาทิ การโฆษณา และการประชาสัมพันธ์ รวมถึงการออกงานแสดงสินค้าที่เกี่ยวข้อง เพื่อมุ่งสร้างความเข้าใจในรูปแบบสินค้าและบริการให้เพิ่มมากขึ้นด้วย นอกจากนี้ในส่วนของลูกค้าเดิมก็จะมุ่งเน้นกิจกรรมที่สนับสนุนกิจกรรมทางด้านงานขาย และการสร้างสัมพันธ์อันดีกับกลุ่มลูกค้า อาทิ การจัดงานสัมมนา การเยี่ยมชมโรงงานผลิต  เป็นต้น