เนื้อหาวันที่ : 2012-11-05 14:48:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3183 views

ปตท.ลุย Green-Diesel ทดลองเติมในรถยนต์

ครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลชีวภาพ (Green BioDiesel) เพื่อนำมาใช้ในรถยนต์

สำหรับความคืบหน้าการศึกษาโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลชีวภาพ (Green BioDiesel) เพื่อนำมาใช้ในรถยนต์นั้น ทางบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)ได้มอบหมายให้ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. ทำการศึกษาร่วมกัน โดยได้ทำเป็นโครงการนำร่อง (Pilot Project) ที่สามารถที่จะผลิตน้ำมันไบโอดีเซลชีวภาพ ซึ่งเรียกว่าเป็น  Bio  Hydrogenation Diesel  (BHD) ซึ่งใช้วัตถุดิบจากปาล์มน้ำมัน และสบู่ดำ

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการนำน้ำมันมา ทดลองเติมในรถยนต์ และทดลองวิ่งอยู่ เพื่อที่จะดูว่าน้ำมันชนิดนี้จะมีผลกระทบต่อเครื่องยนต์หรือไม่โดยจะทดลองวิ่งก่อนประมาณ 100,000 กิโลเมตร หากประสบความสำเร็จก็จะมีการทดลองผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ (Green  Jet Diesel) เพื่อนำไปทดลองใช้ในเครื่องบินต่อไป

นอกจากนี้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ยังได้ร่วมกับ ปตท. ศึกษาที่จะทดลองนำ น้ำมันไบโอดีเซลชีวภาพสำหรับเครื่องบินมาใช้ทดลองในการบิน โดยได้มีโครงการนำร่องทดลองบินในประเทศไปแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2554 โดยครั้งนั้น ปตท. ยังไม่มีการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลชีวภาพสำหรับเครื่องบินแต่ได้นำเข้าจากต่างประเทศมาให้การบินไทย

นางรัตนาวลี อินโอชานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. กล่าวว่า ปตท. มีแนวทางการดำเนินงานที่ชัดเจนในการพัฒนาพลังงานนวัตกรรมในรูปแบบสีเขียว (Green  Innovation) ได้เล็งเห็นความสำคัญในการพัฒนาพลังงานทดแทน ด้วยเหตุผลเพื่อความมั่นคงทางด้านพลังงานและการลดมลภาวะสิ่งแวดล้อม ความเป็นไปได้ของเทคโนโลยีที่ได้ถูกพัฒนาขึ้น รวมถึงศักยภาพของวัตถุดิบที่มีในประเทศไทย จึงมีความเป็นไปได้ที่จะมีการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพ เพื่อจำหน่ายให้กับสายการบินต่างๆ ที่บินเข้ามาในประเทศไทย ตลอดจนการพัฒนาเพื่อทำให้ต้นทุนของเชื้อเพลิงอากาศยานลดลง เพื่อให้สายการบินต่างๆ สามารถใช้ได้โดยไม่เพิ่มภาระมากนัก ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

ปตท. ได้ร่วมมือกับการบินไทย ในโครงการพัฒนาเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน ด้วยการเป็นหน่วยงานที่ทำการวิจัยและพัฒนาการผลิตเชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพตั้งแต่การพัฒนาวัตถุดิบที่เหมาะสม การพัฒนากระบวน การผลิตเพื่อให้ได้เชื้อเพลิงอากาศยานที่มีคุณภาพพร้อมร่วมกับการบินไทยในการผลักดันหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ให้จัดทำแผนพัฒนาการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพอย่างยั่งยืน

ปัจจุบันสถาบันวิจัยของ ปตท. อยู่ระหว่างทำ  Pilot  Plant ที่ทดลองนำพืชชนิดต่างๆ ที่ปลูกได้ในประเทศไทย เช่น ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ และมีการนำน้ำมันพืชใช้แล้ว มาทดลองใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลชีวภาพ โดยได้ทำการผลิตที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาของ ปตท. ที่ อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา ในปริมาณ 20 ลิตรต่อวัน ทดลองเติมลงในรถยนต์ เพื่อดูผลกระทบต่างๆ ต่อเครื่องยนต์

โดยเมื่อปลายปีที่ผ่านมา การบินไทย ได้ทำการทดลองบิน โดยใช้เชื้อเพลิงอากาศยานชีวภาพเป็นเที่ยวบินแรกในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย เป็นเวลา 20 นาที ด้วยเครื่องบินโบอิ้ง 777 – 200  และยืนยันว่าการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอากาศยาน มีความปลอดภัย ตรงตามมาตรฐานที่ผู้ผลิตเครื่องบิน และเครื่องยนต์ยอมรับโดยเชื่อว่าภายใน 6 – 7 ปี จะทำให้ผู้ใช้มั่นใจการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพในอากาศยานมากขึ้น และนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตพืชเชื้อเพลิงชีวภาพในประเทศไทย ทั้งสบู่ดำ หรือปาล์มน้ำมัน  และก่อนหน้านี้  เครื่องบินโดยสารของสายการบินแอร์ นิวซีแลนด์ ประสบความสำเร็จในการทดลองบินนาน 2 ชั่วโมง โดยใช้น้ำมันที่ได้จากต้นสบู่ดำ ถือเป็นก้าวย่างสำคัญในการพัฒนาเชื้อเพลิงที่ช่วยให้เครื่องบินลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและลดต้นทุนค่าใช้จ่าย

สำหรับน้ำมันที่ได้จากต้นสบู่ดำครั้งนี้จะมีส่วนผสมของเชื้อเพลิงเครื่องบิน Jet-A1 รวมอยู่ด้วยครึ่งหนึ่ง โดยแอร์ นิวซีแลนด์ ได้นำน้ำมันชนิดนี้มาทดสอบกับเครื่องบินโดยสาร โบอิ้ง 747-400 แบบเครื่องยนต์เดี่ยว ในการทดสอบบินที่เมืองออคแลนด์ ซึ่งหัวหน้านักบินก็ยอมรับว่าน้ำมันจากต้นสบู่ดำใช้ได้ผลดีทีเดียวในช่วงที่เครื่องบินแล่นอยู่บนรันเวย์และในขณะที่บินอยู่กลางอากาศ ทั้งยังดีต่อระบบเชื้อเพลิงและเครื่องยนต์

ทั้งนี้น้ำมันจากต้นสบู่ดำถือเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 ซึ่งสกัดจากพืชพรรณธรรมชาติหลายชนิด เชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นที่ 2 เมื่อใช้แล้วจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาน้อยกว่าเชื้อเพลิงชีวภาพรุ่นแรก ซึ่งเป็นพวกเอธานอล

ซึ่งทางสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศตั้งเป้าในอีก 9 ปีข้างหน้า เชื้อเพลิงเครื่องบินที่ใช้กันอยู่ 1 ใน 10 ต้องเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่หลายฝ่ายยังวิตกอยู่ว่าการตั้งเป้าเช่นนี้ อาจทำให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกพืชที่นำไปทำเชื้อเพลิงกันมากขึ้นแทนที่จะปลูกพืชอาหารเป็นหลัก