เนื้อหาวันที่ : 2007-05-21 14:48:33 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2043 views

กรมส่งเสริมอุตฯ ดันลอจิสติกส์เน้นพัฒนาศักยภาพเอสเอ็มอีไทย

ประเทศไทยใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการตื่นตัวและนำระบบโลจิสติกส์เข้ามาพัฒนาใช้ในหลายภาคส่วนของธุรกิจ แม้แต่ ภาครัฐก็ได้กำหนดเป็นนโยบายยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เกิดมูลค่าการค้าขายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุน และการจ้างงาน ๆ

.

ประเทศไทยใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการตื่นตัวและนำระบบลอจิสติกส์เข้ามาพัฒนาใช้ในหลายภาคส่วนของธุรกิจ  แม้แต่ ภาครัฐก็ได้กำหนดเป็นนโยบายยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เกิดมูลค่าการค้าขายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุน และการจ้างงาน กลายเป็นวัฏจักรหมุนเวียนให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

.

นายจักรมณฑ์  ผาสุกวนิช  ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม  เป็นประธานเปิดกิจกรรมการสัมมนา       ลอจิสติกส์เพิ่มผลผลิตอุตสาหกรรม  ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม  ซึ่งจัดขึ้นเพื่อเพิ่มขีด ความสามารถในการแข่งขันแก่ภาคอุตสาหกรรม ถือเป็นกลยุทธ์ยุคใหม่ใช้พัฒนาศักยภาพเพื่อการขับเคลื่อนธุรกิจ ณ ห้องประชุม กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม วันที่ 16พฤษภาคม 2550

.

ลอจิสสติกส์ (Logistic) คือการจัดการกับสินค้าคงคลังที่เคลื่อนไหว และสินค้าคงคลังที่อยู่นิ่ง เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้า เพราะสามารถทำให้ต้นทุนสินค้าและบริการถูกลง ส่งถึงมือผู้บริโภคได้อย่างถูกต้องรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยผลักดันให้มูลค่าการค้าขายขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เกิดการลงทุน และการจ้างงาน กลายเป็นวัฏจักรหมุนเวียนให้เศรษฐกิจของประเทศเจริญเติบโตยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ

.

นายจักรมณฑ์ เปิดเผยว่า    ปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจและสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาด้วยกระแสแห่งโลกาภิวัฒน์   ทำให้การแข่งขันทางการค้ามีความเข้มข้น ทั้งยังมีการเปิดเสรีทางการค้ามากขึ้น ส่งผลให้ภาคธุรกิจจำเป็นต้องยกระดับขีดความสามารถในการดำเนินธุรกิจในทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มศักยภาพของตน  ซึ่งการทำธุรกิจนั้นต้องแข่งขันกันด้วยความเร็ว ดังนั้น การพัฒนาด้วยระบบลอจิสติกส์และโซ่อุปทานจึงเป็นทางออกของประเทศไทย ลอจิสติกส์ถือ     ได้ว่าเป็นหัวใจสำคัญยิ่งในการแข่งขันทางการค้า ทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการลดต้นทุน การสร้างมูลค่าเพิ่ม การประหยัดพลังงาน การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และการบริหารการจัดการ ซึ่งบริษัทอุตสาหกรรมข้ามชาติชั้นนำหลายแห่งได้ใช้ลอจิสติกส์เป็นกลยุทธ์พิชิตคู่แข่ง

.

สำหรับประเทศไทยใน 3-4 ปีที่ผ่านมา ได้มีการตื่นตัวและนำระบบลอจิสติกส์เข้ามาพัฒนาใช้ในหลายภาคส่วนของธุรกิจ  แม้แต่ ภาครัฐก็ได้กำหนดเป็นนโยบายโดยคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ  เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2550 ให้มียุทธศาสตร์การพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของประเทศไทย (พ.ศ.2550-2554) โดยได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้มีระบบลอจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานสากล (World Class Logistics) เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าในภูมิภาคอินโดจีน ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมได้สนอง ตอบนโยบาย ดำเนินการเสริมสร้างประสิทธิภาพให้อุตสาหกรรมไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในตลาด โลกด้วย 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. สร้างขีดความสามารถด้านลอจิสติกส์และการจัดการโซ่อุปทาน      ให้ภาคอุตสาหกรรม  2. ยกระดับระสิทธิภาพการพัฒนาการดำเนินงานของกระทรวงอุตสาหกรรมที่เอื้อต่อการประกอบธุรกิจของภาคอุตสาหกรรม  และ 3. สนับสนุนการสร้างเครื่อข่ายลอจิสติกส์ทั้งในและระหว่างประเทศโดยมีการบูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานภายในกระทรวงอุตสาหกรรม

.

นายปราโมทย์ วิทยาสุข อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม กล่าวเสริมว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม   ได้ดำเนินการส่งเสริมพัฒนาระบบลอจิสติกส์มาตั้งแต่ปี 2546 ภายใต้โครงการส่งเสริมการจัดการโซ่- อุปทานและลอจิสติกส์ในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมทั้งได้จัดทำLogistics Roadmap ตามกรอบนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ของอุตสาหกรรมไทยอย่างเป็นระบบ  ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของอุตสาหกรรมให้สามารถแข่งขันได้ในเวทีการค้าโลกที่ปัจจุบันต้องแข่งขันกันด้วยความรวดเร็ว

.

โดยกำหนดจัดกรอบการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ภาคอุตสาหกรรมออกเป็น 4 ระยะ หรือ แผนบันได 4 ขั้นสู่ความสำเร็จ  ระยะแรกในปี 2549-2550  เน้นการจัดการเฉพาะหน่วยย่อยในองค์กร     ระยะที่ 2  ปี 2550-2553   เน้นการเชื่อมโยงการจัดการภายในองค์กรตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบจนจัดส่งถึงผู้บริโภค   ระยะที่ 3 ระหว่างปี 2553-2556  เน้นการ เชื่อมโยงระหว่างองค์กรตลอดห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chains) และระยะสุดท้ายปี 2556- 2558  เน้นการจัดซื้อวัตถุดิบและการจัดส่งสินค้าครอบคลุมแหล่งทั่วโลก หรือ Global Logistics  Management   ซึ่งได้ดำเนินงานพัฒนาระบบลอจิสติกส์ให้แก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ด้วยกิจกรรมหลายรูปแบบ อาทิ การให้บริการปรึกษาแนะนำ การอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากร  ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การศึกษารูปแบบลอจิสติกส์ในอุตสาหกรรมอาหาร และสร้าง Best Practices เพื่อขยายผลและนำไปปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมทั่วประเทศ  การพัฒนาวิสากิจชุมชนและเชื่อมโยงตลาดต่างประเทศ   รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ด้านลอจิสติกส์  

.

สำหรับอุตสาหกรรมที่เป็นเป้าหมายในการส่งเสริมและพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งอุตสาหกรรมเหล่านี้บรรจุอยู่ในแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมของกระทรวงอุตสาหกรรมก้าวสู่อุตสาหกรรมยุคใหม่ หรือ Industrial Modernization  ที่เน้นในเรื่องของการลดต้นทุนการผลิตและการสร้างมูลค่าเพิ่ม  นายปราโมทย์ กล่าวในที่สุด