เนื้อหาวันที่ : 2012-11-02 14:14:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3268 views

ชุดอุปกรณ์ช่วยเหลือฉุกเฉิน (Survival kit)

หากถึงคราวต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ความรู้และอุปกรณ์เหล่านี้ช่วยท่านได้

สำหรับท่านใดที่เดินทางกลางป่าเขาและคุ้นเคยกับการพักค้างอ้างแรมตามป่าเขาหรืออุทยานธรรมชาติย่อมเคยชินกับการใช้งานอุปกรณ์ยังชีพหลากหลายแบบที่จะต้องเตรียมพร้อมเพื่อการพึงพาตัวเองจากสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ ที่บ้านเราเคยมี อาจจะด้วยความชอบหรือจำเป็นต้องออกเดินทางค้างป่าเขาก็สุดแล้วแต่ความจำเป็น หากว่าเครื่องมือหรืออุปกรณ์ที่จำเป็นต้องพกพาไปด้วย เวลาใช้งานจะได้เอามาใช้ได้อย่างทันท่วงที

เมื่อลองค้นหาและสืบเสาะหาอุปกรณ์จำพวกที่พกพาหรือมัลติทูลแบบต่างๆ จะเห็นได้ว่า ต่างประเทศหรือฝรั่งมังค่าเขามักมีอุปกรณ์เหล่านี้ติดตัวสม่ำเสมอและมีให้เลือกหลากหลายแบบ จนมองได้ว่าพวกฝรั่งเขามีการพัฒนาเครื่องมือเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง อาจจะด้วยว่าบ้านเมืองเขายามที่ต้องทนหนาวเหน็บจากฤดูหิมะ หรือความชอบที่ต้องเดินทางแทบจะเป็นส่วนที่เข้าอยู่ในกระแสเลือดนักเดินทางและสำรวจ จึงช่วยให้เขาคิดค้นวิธีการดำรงชีวิตตามแหล่งธรรมชาติหรือหาเครื่องมือที่เหมาะสมกับการใช้ชีวิตกลางแจ้ง

หากจะไม่นำเอาประเด็นนี้มาแนะนำสนุก ๆ ก็คงจะไม่เหมาะนัก กับเหตุการณ์เกี่ยวกับภัยพิบัติที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกทีทั่วโลก เลยนำเอาอุปกรณ์จำเป็นบางส่วนเข้ามาแนะนำเผื่อว่าจะมีประโยชน์ พร้อมกับกระตุ้นเตือนใครหลายคนให้หันมาสนใจเรื่องราวเล็กๆน้อยๆ แบบนี้ในสังคมเรามากขึ้น และอาจจะเป็นส่วนช่วยให้เกิดการพัฒนาต่อยอดเครื่องมือดั่งเดิมที่เคยมีมาแต่ครั้งเก่าให้ทันสมัยและเข้ายุคกับเหตุการณ์ปัจจุบันได้บ้าง

ชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินหรือเรียกสนุก ๆ ว่า Survival Kit อันเป็นเครื่องมือให้ใช้งานยามเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินหลายกรณีไม่ว่าจะเป็นในบ้าน อาคารหรือทั่วไปตามท้องถนนหนทาง หรือมีเหตุต้องการใช้ บางคนที่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวเหล่านี้เลย อาจจะเตรียมตัวไม่ถูกว่าจะต้องเตรียมอะไรบ้าง ถึงจะเหมาะสมครอบคลุมการใช้งาน คิดในแบบของผู้เขียนเอง อาจจะไม่ถูกต้องตามหลักสากลคนทั่วไปเขาใช้ ก็ถือเสียว่าเป็นอีกความคิดไอเดียหนึ่งให้สนุกๆ กัน

ประเภทและความต้องการขั้นพื้นฐาน
คิดเอาแบบพื้นฐานของความต้องการและความจำเป็นเบื้องต้นก็จะมีอุปกรณ์อาทิ เช่น แสงสว่าง, เสียงเรียก, มีดหรือของมีคมไว้ตัดโน้นนี่ตามความจำเป็น ยาสามัญประจำ เช่น แก้ปวด, แก้ไข้, พลาสเตอร์ปิดแผล, ยาล้างแผล, ยาทาแผลสด และบางส่วนที่จำเป็นอีกนิดหนึ่ง เข็มเย็บผ้าพร้อมด้ายสักม้วน, เข็มทิศขนาดเล็กหรือไม่ก็พกมีดโกนหนวดเผื่อเอามาทำเข็มทิศได้

โดยการแบ่งประเภทการใช้งานตามที่กล่าวมาข้างต้นนั้นจะแบ่งเป็น

1.ทางแสง เพื่อใช้ส่องสว่างในยามกลางคืนหรือที่มืด ก็จะมีจำพวก ไฟฉายขนาดต่างๆ ตามแต่ละท่านสะดวกพกพาแต่ก็ควรเลือกอันที่พอจะกันน้ำได้บ้างหรือกันน้ำแบบ 100 เปอร์เซ็นต์ยิ่งดี เพราะบางทีเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงการใช้งานตอนฝนตก ลุยน้ำ  ฯลฯ นอกจากนี้ก็เป็นพวกถ่านหรือแบตเตอรี่สำรองที่จะต้องเตรียมให้พร้อมด้วย กำหนดระยะการใช้งานว่าจะสามารถใช้งานได้ยาวนานประมาณกี่ชั่วโมง ส่วนใหญ่ก็จะพิจารณาประมาณการได้ 8-12 ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย

2.ทางเสียง อันนี้เพื่อใช้สำหรับการค้นหาหรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือยามที่ต้องพลัดหลงกับกลุ่มหรือมีเหตุร้ายที่ต้องการความช่วยเหลือก็สามารถใช้ส่งสัญญาณเสียงไปยังผู้คนอื่นๆ ที่สามารถได้ยินเสียงได้ ความพิเศษของตัวนกหวีดนี้ บางคนอาจจะคิดว่าไม่เห็นจำเป็นต้องมีไว้เลยตระโกนเอาก็ได้ อย่าประมาทเพราะเมื่อเราเองบาดเจ็บหรือไม่มีแรงพอที่จะตระโกนหากยังมีลมหายใจอยู่การเป่าลมเพียงเบาๆ ก็สามารถส่งเสียงได้ นกหวีดที่ใช้งานควรเป็นแบบพิเศษที่ใช้งานด้านนี้โดยเฉพาะน้ำหนักเบา แตกหักยาก ให้เสียงที่ความถี่เสียงสามารถไปได้ไกลสำหรับตัวที่แนะนำนี้สามารถให้ความถี่ที่ 110 dB ส่งไปได้ไกลถึง 1.5 กิโลเมตร พื้นที่โล่ง นอกจากนี้ก็มีเกร็ดเล็กน้อยสำหรับจังหวะการเป่าสัญญาณเสียง

ข้อควรจำสำหรับการใช้งานนกหวีด
-รหัสสัญญาณเสียง
สัญญาณเสียง 1 ครั้ง หมายถึง “คุณอยู่ไหน”
สัญญาณเสียง 2 ครั้ง หมายถึง “ฉันอยู่นี่”
สัญญาณเสียง 3 ครั้ง หมายถึง “ช่วยฉันด้วย”

-การส่งสัญญาณเสียงแต่ละครั้งควรเว้นห่างระยะเวลากันประมาณ 3 วินาที ตามประเภทรหัสสัญญาณ ส่วนจังหวะการเป่าเสียงสัญญาณควรห่างกัน 1 วินาที

-ควรรอเวลา 30 วินาที หรือนานกว่านี้เล็กน้อย เมื่อได้ยินสัญญาณเสียงแล้วตอบกลับไป ถ้าได้ยินมากกว่าหนึ่งเสียงให้ฟังจังหวะรหัสสัญญาณเสียงแบบ 1 ครั้ง เพื่อตอบกลับ

พึงระวัง: อย่าเป่านกหวีดเล่นใส่หูคนหรือสัตว์

3.ทิศทาง หรือตำแหน่งที่อยู่ของตัวเองเพื่อที่จะได้หาทางกลับไปยังกลุ่มหรือแจ้งสถานะแหล่งที่อยู่ของตัวเอง หากไม่สามารถเคลื่อนตัวออกนอกพื้นที่ได้ เฝ้าสังเกตและหาจุดเด่นหลักๆ สำหรับใช้เป็นเป้าหมายการค้นหา สิ่งจำเป็นอาทิเช่น เข็มทิศ, แผ่นที่ดาวหรือGPS อันหลังนี่จะทันสมัยหน่อยแต่มีราคาแพง

4.เครื่องมือช่วยเหลือ ส่วนที่ใช้งานสำหรับอัตถะประโยชน์อื่น ๆ  เช่น ของมีคมแบบต่างๆ มีดเล่มเล็ก มีดพับ มัลติทูลอื่นๆ พกพาได้สะดวกไม่แกะกะ เชือกขนาดเล็กๆ เข็มด้าย เบ็ดตกปลา เอ็นตกปลา ไม้ขีดไฟ ไฟแช็คหรือจะเป็นแบบแม็กนิเซียมที่ใช้งานแบบขูดติดไฟก็สามารถใช้ได้และดีกว่าตรงที่เวลาเปียกชื้นก็สามารถใช้งานได้ไม่ต้องรอให้แห้งสนิท การใช้งานแบบนี้อาจจะต้องใช้ความคุ้นเคยกับอุปกรณ์เล็กน้อย

5.ยาสามัญประจำ ถือว่ามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งเวลาต้องเดินทางทั้งที่ไม่ลุยก็ต้องมีเผื่อเหลือเผื่อขาดตามกรณีไป เช่น ยาแก้ปวด แก้ไข้ พลาสเตอร์ยาปิดแผล น้ำยาล้างแผลหรือน้ำเกลือ ยาใส่แผลสด ผ้าพันแผล ยาประจำตัวอื่น ๆ ที่จำเป็น ยานวดคลายกล้ามเนื้อและที่สำคัญยาหม่องที่สารพัดประโยชน์คู่วิถีไทยเรา

6.น้ำและอาหารแห้งหรืออาหารกระป๋อง ส่วนนี้ถือว่าอาจจะนอกเหนือส่วนที่จะพกพายามเหตุการณ์ฉุกเฉินเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด แต่ก็ถือว่าเป็นส่วนสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่น ๆ อย่างเรื่องน้ำหลายคนอาจจะต้องพกเครื่องกรองน้ำแบบพกพาที่สามารถกรองน้ำให้สะอาดได้ในระดับหนึ่งซึ่งสามารถหาซื้อได้โดยไปตามร้านขายของเดินป่าแต่สนนราคานั้นแพงอยู่บ้าง หากใครสนใจก็หามาไว้บ้างก็ดี หรือไม่ก็ประเภทคลอรีนชนิดเม็ดเมื่อต้องการน้ำสะอาดแต่ก็ต้องศึกษาการใช้งานว่าปริมาณน้ำเท่าไรถึงใช้ต่อเม็ดที่พกมา อย่างนี้ก็สามารถช่วยเรื่องความสะอาดของน้ำได้ อาหารแห้งจำพวกอบเอาน้ำออกอย่างผักอบแห้งเดี๋ยวนี้ก็แพ็กเป็นห่อให้เลือกใช้สะดวกมากขึ้นราคาไม่แพง พกเผื่อไว้ก็เบาใจไปอีกเปาะหนึ่ง บะหมี่สำเร็จรูป อาหารกระป๋องเป็นต้น

7.วิทยุพกพา หากพูดถึงความจำเป็นในการพกพาเครื่องรับสัญญาณวิทยุ อาจจะดูว่าการพกแบบนี้จะเป็นเรื่องของความบันเทิงซะส่วนใหญ่ แต่เดียวก่อนความจำเป็นของเครื่องรับสัญญาณวิทยุทั้ง ย่าน AM หรือ FM นั้นจำเป็นต่อการรับรู้ข่าวสารเมื่อเราขาดการติดต่อกับส่วนกลางหรือถูกตัดขาดจากอุปกรณ์สื่อสารอื่นๆ ทั้งนี้ก็เพื่อรับทราบข่าวคราวความเคลื่อนไหวของหน่วยกู้ภัยหรือการช่วยเหลือว่า กำลังดำเนินอยู่อย่างไร ที่ไหน จะรวมพลหรือมีการแจกจ่ายสิ่งของ ณ จุดใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะดำเนินการผ่านระบบวิทยุชุมชนหรือวิทยุกระจายเสียงหลักของจังหวัดนั้นๆ สำหรับขนาดของเครื่องนั้นก็เล็กๆ ที่หาได้ตามตลาดนัดอันละ 199 หรือ มากกว่านั้นเพื่อให้ทนทานต่อสภาพการใช้งานก็จะดีมาก แล้วอย่าลืมเตรียมถ่านสำรองไว้ด้วยละ สักแพ็กหนึ่งก็ยังดี

8.เครื่องยึดเหนี่ยว อันนี้หลายท่านอาจจะแย้งด้วยเหตุแห่งความจำเป็นหรือไม่ ที่จริงเรื่องความเชื่อนั้นมองไปแล้วอาจจะต่างมุมมองกัน แล้วแต่ใครรักใครชอบแบบไหนก็สุดแล้วแต่ความคิดอ่าน หากแต่ว่าเรื่องของกำลังใจหรือแรงผลักดันที่ซ่อนอยู่ภายในจะสร้างให้เกิดพลังอันมหาศาลที่จะสร้างสรรค์หรือเกิดแรงบันดาลใจอื่นๆ ตามมา บนพื้นฐานความยากลำบากหากเราไม่มีเครื่องหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณหรือตัวที่จะทำให้ใจเรามีความหวังสร้างกำลังผลักดันแล้ว ความที่จะเอาตัวเองรอดนั้นแทบจะไม่มีเลย หลายเหตุการณ์คนที่จะยังเอาตัวเองรอดพ้นเครื่องกีดขวางหลายสิ่งหลายอย่างได้นั้น มาด้วยเหตุผลเพียงต้องการกลับไปเห็นคนที่รัก อยากปกป้องคนที่รอคอยหรือเหตุแห่งความคิดอื่นๆ ที่จะสร้างแรงขับเคลื่อนที่รุนแรงทำให้ตัวเองมีความเชื่อมั่นและจะยังคงสู้ต่อไปเพื่อจะผ่านผลเหตุการณ์อันเลวร้ายนั้นๆ ได้ ที่ยกตัวอย่างมานี้ อาจจะไม่ใช่พระเครื่องแต่อย่างเดียว อาจจะเป็นรูปครอบครัว คนที่รัก เป้าหมายของชีวิตหรืออื่นๆ ที่เราตั้งใจอยากทำให้สำเร็จเป็นต้น

เมื่อไหร่ถึงต้องพกพา
ตามหลักการแล้วใช้เมื่อไหร่ก็สามารถนำออกมาใช้ได้เลย หากแต่ว่าบ้างทีก็อาจจะเหมือนคนบ้าหอบฟางที่พกโน้นพกนี่พะรุงพะรังเต็มกระเป๋าไปหมด ถ้าเป็นอย่างนั้นมันจะกลายเป็นภาระมากกว่าของช่วยเหลือ ความเป็นจริงของบางชิ้นบางอย่างก็สามารถพกติดตัวไปได้บ้าง อย่างมีดพับขนาดเล็ก ๆ หรือจำพวกไฟฉายอันเล็กพกติดไว้อย่างน้อยก็เอาไว้ส่องโน้นนี้เวลาของตกตอนกลางคืน

เมื่อหันมามองว่าแล้วเมื่อไหร่เราถึงจะพกพาเต็มอัตราศึกก็เอาเป็นว่ามีกระเป๋าหลายใบหน่อยขนาดพกพาแล้วเตรียมของที่มีความจำเป็นในระดับหนึ่ง สองหรือสามแล้วแต่ว่าเราจะใช้งานตอนไหนยกตัวอย่างเช่น เตรียมเซ็ตแรกสำหรับการเดินทางแบบประจำหรือติดรถไว้เลย ก็อาจจะใช้กระเป๋าใบเล็กที่มีเครื่องช่วยเหลือเหล่านี้เพียงไม่กี่ชิ้น ถ้าหากว่าต้องเดินทางไกลหรือต้องพักค้างแรมตามที่ต่างๆ มากกว่า 1- 2 คืนก็จัดกระเป๋าใบขนาดกลาง หรือหากเกิดเหตุสุดวิสัยที่จะต้องจัดเตรียมเมื่อมีเหตุแจ้งการอพยพของชุมชนหรือหมู่บ้านก็ใช้กระเป๋าใบใหญ่ที่เตรียมของไว้สำหรับตัวเองและคนในครอบครัวก็จะเป็นเรื่องที่เหมาะควร

เสร็จสิ้นภารกิจ
หลายคนอาจจะหลงลืมเมื่อคราวเสร็จสิ้นการใช้งานของที่เตรียมไว้ไม่ได้ตรวจเช็คว่าสิ่งใดขาดพร่องลงไปบ้าง ถึงคราวต้องใช้จริงก็อาจจะขาดๆ เกิน ๆ ไป ดังนั้นเมื่อเสร็จสิ้นการใช้งานชุดอุปกรณ์ฉุกเฉินแล้วควรตรวจเช็คของให้เข้ารูปลงรอยตามรายการที่จัดไว้แต่เดิม ทั้งนี้ก็เพื่อเตรียมความพร้อมในครั้งต่อๆ ไป ข้างหน้า ถึงคราวใช้งานก็จะได้จัดหาได้อย่างพร้อมเพรียง

การเตรียมความพร้อมเพื่อรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดนั้นดีกว่า มานึกถึงทีหลังว่า “รู้อย่างนี้เตรียมไว้ก็ดี” ก็อาจจะสายเกินไป ความเสียหายที่เกิดขึ้นหลายๆ เหตุการณ์ก็เนื่องจากขาดความตระหนักหรือไม่ได้รับการเตรียมการณ์ล่วงหน้าเอาไว้ การเตรียมความพร้อมไว้ก่อนนั้นถือว่ารอบครอบไม่เสี่ยงจนเกินไป ทั้งยังสามารถช่วยเหลือยามวิกฤตได้อย่างปลอดภัยและยังพร้อมช่วยเหลือคนอื่นได้อีกด้วย

ทุกเหตุการณ์ต่างๆ ล้วนแล้วแต่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น อยู่ที่ว่าเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราจะยังสามารถดำรงอยู่ได้อย่างเข้มแข็งและจดจำบทเรียนราคาแสนแพงเหล่านี้อย่างไร ทั้งในหัวใจและสมอง เพื่อพร้อมที่จะถ่ายทอดเรียนรู้กันจากรุ่นสู่รุ่นไปอย่างไม่รู้จบ เหมือนอย่างที่บรรพชนของเราเคยสร้างและสืบทอดความรู้เรื่องการเอาตัวรอดในยามคับขันหรือหาแหล่งที่อยู่ให้เหมาะแก่ลูกหลานไว้

เพียงแต่เราควรใส่ใจและหวนรำลึกถึงเรื่องราวและภูมิปัญญาแต่ครั้งเดิมไว้ ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าคิดน่าจำน่ารักษาเอาไว้ไม่น้อยเลย