เนื้อหาวันที่ : 2007-05-21 11:00:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2581 views

กนอ.หนุนนิคมอุตฯ มุกดาหาร หวังเปิดประตูสู่ตลาดอินโดจีน

นายอุทัย จันทิมา ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.)เข็นนิคมอุตสาหกรรมมุกดาหาร รับการค้าชายแดนไทย (มุกดาหาร)-ลาว (สะหวันนะเขต) ตั้งศูนย์กระจายสินค้า ชูอุตสาหกรรมผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตร เป็น อุตสาหกรรมเป้าหมาย หวังเกิดการเชื่อมโยงสู่ประตูการค้าอินโดจีน

กนอ. เข็นนิคมฯ มุกดาหาร รับการค้าชายแดนไทย (มุกดาหาร)-ลาว (สะหวันนะเขต) ตั้งศูนย์กระจายสินค้า ชูอุตสาหกรรมผลิต และแปรรูปสินค้าเกษตร เป็น อุตสาหกรรมเป้าหมาย หวังเกิดการเชื่อมโยงสู่ประตูการค้าอินโดจีน

.

นายอุทัย จันทิมา ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยถึงโครงการพัฒนานิคมอุตสาหกรรม ว่า กนอ. ได้ร่วมกับจังหวัดมุกดาหาร จัดตั้งเป็นศูนย์กระจายสินค้าบริเวณพื้นที่ชายแดนไทย-ลาว (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต) เพื่อพัฒนาให้เป็นนิคมอุตสาหกรรมและเป็นประตูการค้าสู่ลาว กัมพูชาและเวียดนาม โดยอาศัยสะพานข้ามแม่น้ำโขงเป็นตัวผลักดันให้เกิดการลงทุนในนิคมฯมุกดาหาร โดยกนอ.จะจัดกิจกรรมต่อเนื่องโดยนำนักธุรกิจ และผู้สนใจเดินทางไปศึกษาในพื้นที่ ณ จังหวัดมุกดาหาร และ สปป. ลาว พร้อมทั้งร่วมประชุมทางธุรกิจกับบุคคลสำคัญในพื้นที่ เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัดมุกดา หาร เจ้าแขวงสะหวันนะเขต กงสุลใหญ่ และนักธุรกิจในพื้นที่ ระหว่างวันที่ 14-15 มิถุนายน 2550

.

"พื้นที่ของโครงการดังกล่าวมีความ เหมาะสมเพราะอยู่ใกล้ตลาดส่งออกในแถบเอเชียตะวันออก เช่น จีน ญี่ปุ่น บนเส้นทาง East-West Economic Corridor และมีความ พร้อมทางด้านระบบสาธารณูปโภค และสาธารณูปการ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งสินค้าประเภทเกษตรกรรม สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ยานยนต์ เป็นต้น" นายอุทัย กล่าว

.

นายอุทัยยังกล่าวอีกว่า ในส่วนโครงการ จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมมุกดาหารที่กนอ. สนับสนุนภาคเอกชนจัดตั้ง จะเอื้อประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่การลงทุนแห่งใหม่ให้กับผู้ประกอบการไทย และจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจตามแนวชายแดนไทย-ลาว ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีความเชื่อมโยงทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านในลักษณะการดำเนินธุรกิจที่ก่อให้เกิดการเกื้อกูลซึ่งกันและกัน และมีการพัฒนาการใช้ประโยชน์ของทรัพยากรระหว่าง 2 ประเทศ ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

.

"โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลให้ กนอ.ไปศึกษา ซึ่งได้ศึกษาเสร็จแล้ว ก็เลยประชุมชี้แจงให้นักลงทุนที่สนใจมาลงทุนใน พื้นที่ ซึ่งกนอ.จะจัดโรดโชว์ ในวัน 14-15 เดือน มิถุนายน 2550 ซึ่งมุกดาหารเป็นจังหวัดที่มีความพร้อม"

.

ทั้งนี้ กนอ.ได้คัดเลือกพื้นที่เพื่อดำเนินโครงการ 3 แห่งในจ.มุกดาหาร ประกอบด้วย พื้นที่ของบริษัทสหเรือง จำนวน 2,000 ไร่ 2.พื้นที่โรงงานพนาสินพูนทรัพย์ จำนวน 922 ไร่ และพื้นที่ราชการ ศูนย์บริการวิชาการด้านพืช จำนวน 500 ไร่ เพื่อให้คณะกรรมการ กนอ. พิจารณาขั้นตอนสุดท้ายต่อไป

.

อย่างไรก็ตาม จังหวัดมุกดาหาร นับว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะพัฒนาให้เกิดนิคมฯ เมื่อประเมินศักยภาพของกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายประกอบด้วย อุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปสินค้าเกษตร ซึ่งสินค้าหลักได้แก่ยางพารา ซึ่งจะมีการผลิตทั้งน้ำยางข้น ยางแผ่นดิบรมควัน การแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางพาราต่างๆ สินค้ารองคือเอธานอล เนื่องจากมุกดาหารและจังหวัดใกล้เคียงมีโรงงานน้ำตาล หลายแห่ง สามารถนำกากชานอ้อยจากโรงงานน้ำตาลมาผลิตเป็นเอธานอลเพื่อส่งออกไปอินโดจีนได้ นอกจากนี้ยังมีพื้นที่เพื่อรวบรวมและกระจายสินค้า โดยมีสินค้าหลักได้แก่สินค้าเกษตร สินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม คือ เครื่องใช้ไฟฟ้าพื้นฐาน

.

ส่วนสภาวะการลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมไตรมาสแรกของปี 2550 นั้น มีการขายพื้นที่นิคมฯ ของ กนอ. ประมาณ 1,000 ไร่ ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาและคาดว่าจนถึงสิ้นปีจะสามารถทำยอดขายได้ในระดับ 3,000-4,000 ไร่ ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้อย่างแน่นอน

.

"การลงทุนในนิคมฯ ยังถือว่าปกติใกล้เคียงกับปีที่แล้วแม้ว่าขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจจะเป็นช่วงขาลงก็ตาม แต่การลงทุนในนิคมฯ ไม่ได้ลดลงแต่อย่างใดหากแต่ยังคงไม่ได้ขยายตัวมากนัก ส่วนพื้นที่โดยรวมของนิคมฯ ของกนอ. และเอกชนทั้งประเทศยังเหลืออยู่ประมาณ 2 หมื่นไร่"

.

ที่มา : สยามธุรกิจ