เนื้อหาวันที่ : 2007-05-21 08:59:11 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2450 views

ส.อ.ท. จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 38 ของสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีความแข็งแกร่งและพัฒนาทัดเทียมนานา ประเทศ

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดให้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ขึ้นเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมลำดับที่ 38 ของสภาอุตสาหกรรมฯ โดยได้รับเกียรติจากนางมณีรัตน์ ผลิพัฒน์ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เข้าร่วมในพิธีสถาปนากับผู้บริหารของสภาอุตสาหกรรมฯ ทั้งนี้ นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยถึงความเป็นมาของการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ว่า สืบเนื่องอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์มีความสำคัญต่อระบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการนำไปประยุกต์ใช้ในรูปแบบการบริหารจัดการของภาครัฐ การนำไปเป็นเครื่องมือการขยายขอบเขตการศึกษา การตลาด ฯลฯ ทำให้ประเทศต่างๆ พยายามที่จะลงทุนและพัฒนาด้านซอฟต์แวร์เพิ่มมากขึ้น ทำให้ตลาดสินค้าและบริการด้านไอทีของโลกมีมูลค่าเพิ่มขึ้น และมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

.

ดังนั้น สภาอุตสาห-กรรมฯ จึงได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ทั่วประเทศรวมตัวกันเพื่อจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางในการประสานงานแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารอันเป็นประโยชน์ต่อสมาชิก และเอื้อประโยชน์ให้การวางยุทธศาสตร์การพัฒนา การแก้ไขปัญหาระหว่างผู้ประกอบการในอุตสาหกรรม หน่วยงานภาครัฐและองค์กรในต่างประเทศ ให้ดำเนินไปได้อย่างคล่องตัวและมีทิศทางสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล เพื่อให้อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ของประเทศมีความแข็งแกร่งและพัฒนาทัดเทียมนานาประเทศ โดยเบื้องต้นมีสมาชิกผู้ร่วมก่อตั้งทั้งสิ้น 22 ราย ซึ่งมีนายอนุกูล  แต้มประเสริฐ บริษัท ไทยคอม แมเนจเมนท์ กรุ๊ป จำกัด เป็นประธานคณะผู้ก่อตั้ง

.

นายอนุกูล  แต้มประเสริฐ ได้เปิดเผยถึงสภาวะการณ์อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ว่า อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประกอบไปด้วย บริษัทต่างๆ ตั้งแต่เอสเอ็มอีไปจนถึงบริษัทข้ามชาติ ประมาณ 1,500 บริษัท ขนาดของอุตสาหกรรมประมาณ 50,000 ล้านบาทต่อปี (ปี 2549) แต่ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้ามาจากต่างประเทศ โดยคิดเป็นอัตราเฉลี่ยประมาณร้อยละ 60 ทั้งการนำเข้าสินค้าผลิตภัณฑ์ และการบริการ ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จะถูกจัดให้เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของประเทศ เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร แฟชั่น ท่องเที่ยว ยานยนต์ และอัญมณี ที่คนไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาให้มีศักยภาพทัดเทียมกับนานาประเทศ แต่ที่แตกต่างกันของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จากอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์อื่นๆ คือ ไทยจะต้องมีนโยบายในการพัฒนาอุตสาห-กรรมซอฟต์แวร์ให้เป็นอุตสาหกรรมสนับสนุน (Supporting Industry) ดาวเด่นแทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมส่งออก (Export Leading Industry) เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมอื่นๆ

.

ปัจจัยหลักๆ ที่เป็นอุปสรรคของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ คือ เป็นอุตสาหกรรมใหม่ที่มีเวลาในการพัฒนาเหลือไม่มากนัก รวมทั้งข้อจำกัดของจำนวนบุคลากร และ ผู้เชี่ยวชาญในประเทศ และที่สำคัญที่สุดคือความเชื่อมั่นต่ออุตสาหกรรมไทย และการเข้าถึงตลาด (Market Access) ต่างประเทศ ดังนั้นการสร้างให้เกิดความร่วมมือทั้งเอกชนและรัฐ เพื่อพัฒนาให้เกิดอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยจึงมีความจำเป็นและสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการพัฒนาเศรษฐกิจ และ สังคมของประเทศ

.

ดังนั้น การตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ จึงมีความสำคัญในฐานะตัวแทนของภาคเอกชนอย่างเป็นทางการ เพื่อมุ่งเน้นการยกระดับอุตสาหกรรม และ พัฒนาให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Add) ให้กับห่วงโซ่ของอุตสาหกรรม กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์จึงมิได้มุ่งเน้นเฉพาะอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ แต่เพียงอย่างเดียว แต่กลุ่มจะมุ่งเน้นการสร้างเครือข่าย และการสร้างมูลค่าเพิ่มของทั้งอุตสาหกรรมโดยรวม และการเกื้อประโยชน์ของการนำซอฟต์แวร์ไปใช้

.

นอกจากนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ยังมุ่งหวังในการต่อยอดความร่วมมือ การเชื่อมโยง เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเกิดการนำเทคโนโลยีที่เหมาะสมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมหลักของประเทศ และมุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของคนไทย และการสร้างองค์ความรู้ของคนไทยให้เกิดขึ้นเพื่อสนับสนุนให้เกิดระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ที่มั่นคงยั่งยืน มีภูมิคุ้มกัน และเหมาะสมกับการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ