เนื้อหาวันที่ : 2012-10-25 09:30:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1762 views

UAC เดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทางเลือก

UAC เดินหน้าขยายธุรกิจพลังงานทางเลือก สานต่ออีก10โครงการ เล็งหญ้าเนเปียร์ สร้างรายได้เพิ่ม

บมจ.ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ฯ เร่งขยายธุรกิจพลังงานทางเลือกภาคเหนือเพิ่ม หลังบอร์ดไฟเขียว ออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวนไม่เกิน 64,000,000 หุ้น ในราคาพาร์ 0.50 บาท และใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มของบริษัทฯ(UAC-W1) จำนวนไม่เกิน 92,200,000 หน่วย

 ด้าน “ กิตติ ชีวะเกตุ ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ ระบุ เตรียมนำเม็ดเงินจากการเพิ่มทุนต่อยอดในอนาคต ขณะที่ โครงการCBG จากมูลสุกร เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เต็มกำลัง เพื่อขายให้ ปตท.พร้อมรับรู้รายได้เข้าไตรมาส 4 เล็ง ก่อสร้างอีก 16 โครงการ ใช้พืชพลังงานหญ้าเนเปียร์ เป็นวัตถุดิบหลัก เชื่อเสริมศักยภาพธุรกิจพลังงานทดแทน

นายกิตติ ชีวะเกตุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิเวอร์แซล แอดซอร์บเบ้นท์ แอนด์ เคมิคัลส์ จำกัด(มหาชน) หรือ UAC เปิดเผยว่า หลังจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญ ครั้งที่ 2/2555 ผ่านมติเพิ่มทุนและออกใบสำคัญแสดงสิทธิแล้วทางคณะกรรมการบริษัทฯ ก็ได้มีมติอนุมัติให้บริษัทฯออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน จำนวน ทั้งสิ้นไม่เกิน 64,000,000หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท

แบ่งเป็นการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (Right offering) จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 39,700,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ0.50 บาท ซึ่งจะเสนอขายต่อผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น ในอัตรา10 หุ้นเดิมต่อ1หุ้นใหม่ ในราคาหุ้นละ3 บาท พร้อมทั้งการออกและเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป(Public Offering) จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 24,300,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท ซึ่งจะเสนอขายต่อประชาชนทั่วไปหลังจากได้รับการอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการก.ล.ต.

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีมติการออกใบและเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ(UAC-W1) จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 92,200,000 หน่วย ต่อผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการ ถือหุ้น และต่อประชาชนทั่วไป โดยใบสำคัญแสดงสิทธิ UAC-W1 จะจัดสรรให้กับผู้ถือหุ้นเดิมที่ได้ใช้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัทฯ จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 7,940,000 หน่วย และการออกใบสำคัญแสดงสิทธิ UAC-W1จัดสรรให้แก่ประชาชนทั่วไป จำนวนทั้งสิ้นไม่เกิน 4,860,000 หน่วย โดยเป็นการเสนอขายโดยไม่คิดมูลค่า และมีราคาใช้สิทธิที่7.50 บาท ในอัตรา5 หุ้นใหม่ต่อใบสำคัญแสดงสิทธิ1 หน่วย

นายกิตติ กล่าวว่า เม็ดเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนในครั้งนี้ บริษัทฯจะนำไปขยายการดำเนินธุรกิจในโครงการพลังงานทางเลือก อาทิ โครงการผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร (CBG) อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการผลิตจากพืชพลังงาน จากหญ้าเนเปียร์ ซึ่งขณะนี้ บริษัทฯได้ทำการเดินเครื่องผลิตก๊าซชีวภาพจากฟาร์มสุกร เชิงพาณิชย์ได้เต็มกำลังการผลิตที่ 6-7 ตัน/วัน หรือ 2,000 ตัน/ปีเพื่อขายให้กับ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน)เรียบร้อยแล้ว โดยโครงการดังกล่าวจะรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ประมาณ 6-10 ล้านบาท โดยโครงการนี้ถือเป็นโครงการต้นแบบให้กับแผนการดำเนินงานของบริษัทฯในโครงการต่อไป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวนอกจากจะสามารถผลิตก๊าซชีวภาพอัดเพื่อการคมนาคมแล้ว ยังถือเป็นการช่วยขจัดของเสียที่เกิดจากฟาร์มสุกร รวมถึงเป็นการบำบัดน้ำเสียเพื่อนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้ง ขณะที่กากของเสียที่เหลือจากการผลิตสามารถนำมาเป็นปุ๋ยอินทรีย์เพื่อจำหน่ายในอนาคตได้อีกทางหนึ่ง โดยบริษัทฯอยู่ระหว่างเตรียมปรับพื้นที่เพื่อก่อสร้างโครงการผลิตก๊าซชีวภาพต่อขยายในโครงการต้นแบบโครงการแรก เนื่องจากฟาร์มสุกรยังมีวัตถุดิบอีกจำนวนมากที่สามารถนำมาผลิตก๊าซเพิ่มเติม

“บริษัทฯได้ดำเนินการผลิตก๊าซ CBG เพื่อจำหน่ายเชิงพาณิชย์อย่างเต็มที่เรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะสามารถรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 จำนวน 6-10 ล้านบาท จากกำลังจากผลิต 6-7 ตัน/วัน โดยโครงการนี้นอกจากจะได้รับการตอบรับที่ดีจากองค์กรภาครัฐแล้ว ยังได้รับการตอบรับที่ดีจากชาวบ้านที่เห็นว่าเราไปช่วยพัฒนาทั้งในเรื่องของเส้นทางการคมนาคม และการกำจัดของเสียให้เกิดประโยชน์ การบำบัดน้ำเสียให้กลับมาใช้ได้ ตลอดจนการจ้างงานคนในพื้นที่อีกด้วย” นายกิตติ กล่าว

ขณะที่บริษัทฯ มีการวางแผนก่อสร้างโครงการในลักษณะเดียวกันเพิ่มเติมอีก 10 โครงการในแถบภาคเหนือ โดยใช้วัตถุดิบหลักในการผลิตจากพืชพลังงานอย่างหญ้าเนเปียร์ หรือหญ้าเลี้ยงสัตว์ ที่มีผลการวิจัยออกมาว่าสามารถนำมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อใช้งานได้ ซึ่งในประเทศไทยถือว่ามีการปลูกกันอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะในแถบภาคเหนือ และภาคอีสาน

สำหรับงบประมาณในการลงทุนทั้ง 10 โครงการ บริษัทฯจะการลงทุนเองทั้งหมด ด้วยงบลงทุนโครงการละประมาณ 100 ล้านบาท แต่ทั้งนี้บริษัทฯ ได้รับแจ้งจากกระทรวงพลังงาน ว่าบริษัทฯ จะได้รับเงินสนับสนุนโครงการละ 10 ล้านบาทจำนวน 7 โครงการ และอีก 3 โครงการ อยู่ในระหว่างการพิจารณา นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมทุนในลักษณะคล้ายกันอีก 6 โครงการ ด้วยการลงทุนร่วมกับเจ้าของพื้นที่ ซึ่งอยู่ระหว่างการหารือเพื่อดำเนินการต่อไป

นายกิตติ กล่าวว่า จากแผนการดำเนินงานของบริษัทฯที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า บริษัทฯมีการวางแผนเพื่อหารายได้เพิ่มเติมและต่อยอดด้วยธุรกิจด้านพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก นอกเหนือจากธุรกิจเทรดดิ้งปิโตรเคมีที่ยังถือเป็นธุรกิจหลัก รวมถึงบริษัท บางจากไบโอฟลูเอล จำกัด บริษัทร่วมทุนเพื่อผลิตไบโอดีเซลเพื่อจำหน่าย

ขณะเดียวกัน มองว่าพลังงานทดแทน ยังมีโอกาสเติบโต เนื่องจากยังมีวัตถุดิบที่จะนำมาวิจัยเพื่อพัฒนาเป็นพลังงานได้อีกมาก ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเองได้มีการสนับสนุนในการค้นคว้าวิจัยเพื่อหาพลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง หลังจากแหล่งพลังงานสำรองในประเทศ เริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดย UAC ถือเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาพลังงานทดแทนมาโดยตลอด ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่บริษัทฯจะมีรายได้ประมาณ 3,000 ล้านบาทในอีก 3 ปีข้างหน้าตามแผนการที่วางไว้