เนื้อหาวันที่ : 2007-05-18 10:30:09 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1850 views

โตโยต้า ฮึดสู้ศึกอีซูซุ เจาะรายจังหวัดหวังรักษาแชมป์รถปิคอัพ

ประธานโตโยต้าฟันธงตลาดรถยนต์ปีนี้ขึ้นกับการเลือกตั้ง งัดกลยุทธ์เดินสายโรดโชว์ต่างจังหวัด หวังเจาะฐานอีซูซุ รักษาแชมป์ปิคอัพ ยอมรับเสนอ ก.คลังปรับลดภาษีรถเก๋งเล็ก 5% เพื่อให้อีโคคาร์เกิด สิ้นปีนี้รู้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นไฟเขียวผลิตรถไฮบริดในไทยหรือไม่

ประธานโตโยต้าฟันธงตลาดรถยนต์ปีนี้ขึ้นกับการเลือกตั้ง งัดกลยุทธ์เดินสายโรดโชว์ต่างจังหวัด หวังเจาะฐานอีซูซุ รักษาแชมป์ปิคอัพ ยอมรับเสนอ ก.คลังปรับลดภาษีรถเก๋งเล็ก 5% เพื่อให้อีโคคาร์เกิด สิ้นปีนี้รู้บริษัทแม่ที่ญี่ปุ่นไฟเขียวผลิตรถไฮบริดในไทยหรือไม่

.

นายมิทซึฮิโระ โซโนดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เปิดเผยว่า ตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกของปีนี้ลดลง 20% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว หากไตรมาสที่ 4 มีการเลือกตั้งและประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามที่มีการกำหนดไว้ ก็จะทำให้ตลาดรถยนต์ในประเทศไทยขยายตัวตามเป้าหมาย ในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม 2550 จะรู้ว่าต้องมีการปรับเป้าหมายตลาดรถยนต์ในปีนี้หรือไม่ แต่โตโยต้าก็ยังมั่นใจว่าจะสามารถทำยอดได้ 2.9 แสนคัน ตามเป้าหมายปีนี้ เพราะจะใช้กลยุทธ์หันมาเน้นยอดขายรถปิคอัพแต่ละจังหวัดมากขึ้น เพราะบางจังหวัดยอดขายโตโยต้า ไฮลักซ์ วีโก้ชนะอีซูซุ ดีแมคซ์ แต่บางจังหวัดยังแพ้อยู่ ดังนั้น จึงจะจัดกิจกรรมโรดโชว์ไปในจังหวัดที่ยอดขายยังแพ้อีซูซุ เพื่อให้ลูกค้าได้มีโอกาสสัมผัสรถของโตโยต้า จะทำให้โตโยต้ารักษาแชมป์รถปิคอัพในปีนี้ได้

.

นายโซโนดะกล่าวว่า สำหรับโครงการผลิตรถยนต์ประหยัดหรืออีโคคาร์ รัฐไม่ควรส่งเสริมรถยนต์รุ่นใดรุ่นหนึ่งเป็นพิเศษ ควรจะให้รถทุกรุ่นมีประเภทของรถที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตามแนวคิดอีโคคาร์ รุ่นละประมาณ 10% ของยอดขายรถแต่ละประเภท เพราะหากต้องการพัฒนาเฉพาะรถเก๋งเล็ก ก็ต้องแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้ โดยเฉพาะในยุโรป จีน และอินเดีย แต่เท่าที่ดูคุณสมบัติอีโคคาร์ยังสู้ไม่ได้ จึงควรเพิ่มปริมาณรถประเภทนี้ให้มาก เพื่อลดต้นทุนการผลิตให้ต่ำลง

.

นายโซโนดะกล่าวว่า ปัจจุบันโตโยต้าผลิตวีออส ยาริส และโคโรล่ารวมกันได้ปีละ 1.1 แสนคัน แต่อีโคคาร์จะต้องผลิตอย่างน้อยปีละ 2 แสนคัน เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่ำลง และจะต้องมีคุณภาพดี ประหยัดน้ำมัน จึงสามารถแข่งขันได้ ตัวอย่างรถเล็กในต่างประเทศ เช่น เรโนลต์หรือเปอโยต์ 406 ก็ผลิตปีละ 2 แสนคัน ส่วนภาษีสรรพสามิตรถยนต์ขณะนี้มี 3 ระดับ คือ เครื่องยนต์ 3 พันซีซีขึ้นไปเสีย 50% ขนาด 2-3 พันซีซี เสีย 35% ขนาด 2 พันซีซีลงมาเสีย 30% โตโยต้าเสนอให้กระทรวงการคลังปรับลดภาษีลงมาอีกประมาณ 5% คือ รถต่ำกว่า 2 พันซีซีเสีย 25% และหากมีรถเล็กกว่านี้ ใช้เครื่องยนต์ไม่เกิน 1 พันซีซี เสีย 20% การเพิ่มขั้นภาษีดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นตลาดรถเล็กได้ แม้ว่าหากเกิดขึ้นจริง ลูกค้ารถปิคอัพจะหันมาซื้อรถเล็กมากขึ้น แต่ในภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์จะขยายตัวเพิ่มขึ้น

.

"โตโยต้ากำลังศึกษาเพื่อผลิตรถไฮบริดในเมืองไทย ภายในสิ้นปีนี้คงทราบเบื้องต้นว่าบริษัทแม่ของเราที่ญี่ปุ่นจะอนุมัติให้ผลิตรถไฮบริดในประเทศไทยหรือไม่" นายโซโนดะกล่าว

.

ที่มา :  มติชน