เนื้อหาวันที่ : 2007-05-17 17:05:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7199 views

การปฐมพยาบาลในสถานที่ปฏิบัติงาน ตอนที่ 2

สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลเป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกและได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ ในด้านการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ณ สถานที่ ประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจและสามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของสถานที่ปฏิบัติงานของตนต่อไป และเพราะเราไม่สามารถที่จะคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมดดังนั้นการเตรียมการที่ดีจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดความสูญเสียและความเสียหายลงได้บ้าง

ฉบับที่แล้ว เราได้พูดกันถึงเรื่องของ ขั้นตอนในการพิจารณาจัดสรรสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการกันไปแล้ว ในคราวนี้เราจะมาว่ากันต่อในเรื่องรายละเอียดของสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ

.

สิ่งที่จำเป็นในการปฐมพยาบาล มีดังนี้

1.เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล เป็นผู้ที่ถูกคัดเลือกและได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ ในด้านการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ณ สถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งจำนวนและระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละสถานที่ปฏิบัติงาน โดยต้องพิจารณาให้มีความเพียงพอ และคลอบคลุมตลอดชั่วโมงทำงานของผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด และยังต้องคำนึงถึงการขาดงานของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล อันเนื่องมาจากวันหยุดหรือการลาป่วยด้วย สำหรับเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลนั้น อาจจะทำการคัดเลือกมาจากผู้ปฏิบัติงานที่มีคุณสมบัติเหมาะสม เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมเป็นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลในสถานที่ปฏิบัติงานที่ตัวเองทำงานอยู่ ซึ่งอาจพิจารณาถึงคุณลักษณะต่าง ๆ ดังนี้ คือ

- มีความกระตือรือร้น และมีบุคลิกที่สามารถรับมือกับอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยของเพื่อนร่วมงานได้

- มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ปฏิบัติงานคนอื่น ๆ

- มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดี

- สามารถตัดสินใจได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับความจำเป็นที่จะต้องประสานงานขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานอื่น ๆ

- สามารถที่จะติดต่อ เรียกตัวจากงานประจำที่ทำอยู่ได้ในระยะเวลาอันสั้น

- สามารถที่จะรับหน้าที่เป็นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลได้ โดยงานประจำไม่เสียหาย

.

ซึ่งการคัดเลือกและการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล จัดว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพราะถ้าคุณสมบัติไม่เหมาะสม หรือได้รับการฝึกอบรมไม่เพียงพอ เมื่อยามเกิดเหตุจำเป็นที่ต้องทำการปฐมพยาบาลขึ้นมาแล้ว อาจทำให้เกิดผลเสียต่อผู้บาดเจ็บได้ ดังนั้นจึงควรให้ความใส่ใจเป็นพิเศษ โดยหลักการแล้ว เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลจะเป็นเพียงผู้ที่ทำการรักษาพยาบาลเบื้องต้นให้แก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ซึ่งจะต้องสอดคล้องหรืออยู่ภายใต้ขอบเขตความสามารถและการฝึกอบรมของตัวเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลเท่านั้น เมื่อมีข้อสงสัยหรือไม่แน่ใจในการรักษาพยาบาล เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลต้องขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ และไม่พึงกระทำการในสิ่งที่ไม่แน่ใจหรือคาดเดาเอาเอง นอกจากนี้ ในกรณีที่สถานการณ์รุนแรงควรรีบติดต่อหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือรถพยาบาลให้เร็วที่สุด

. 

หน้าที่ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล

- จัดเตรียมการบริการสำหรับการรักษาพยาบาลฉุกเฉิน ภายใต้ขอบเขตความสามารถและการฝึกอบรมของตัวเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล

- จัดเตรียมขั้นตอนฉุกเฉินและวิธีที่เหมาะสมในการส่งตัวผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาล หรือคลีนิค

- บริหารจัดการและดูแลรักษา อุปกรณ์ปฐมพยาบาล หรือ/และ ห้องปฐมพยาบาล ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานและมีจำนวนที่เพียงพออยู่เสมอ

- การจดบันทึกหรือกรอกแบบฟอร์มรายงานการปฐมพยาบาลในทุก ๆ ครั้งของการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยแม้เป็นการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อยก็ตาม

- เสนอความคิดเห็นสำหรับการพัฒนาแผนงานการปฐมพยาบาลต่อผู้บังคับบัญชาหรือคณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัย

- พัฒนาศักยภาพของตัวเองในการปฐมพยาบาลโดยฝึกอบรมเพิ่มเติมจากผู้เชี่ยวชาญอยู่เสมอ

- ประชาสัมพันธ์หรือแจ้งผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบถึงข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการปฐมพยาบาล เช่น ชื่อ  เบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉิน และพื้นที่ทำงานหรือตำแหน่งที่อยู่ของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลทุกคน  สัญลักษณ์ที่แสดงถึงตำแหน่งที่ตั้งของชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลและห้องปฐมพยาบาล เรียนรู้และรับทราบถึงประเภทอันตรายรวมถึงระดับความเสี่ยงจากการทำงานต่าง ๆ ในสถานที่ปฏิบัติงานตลอดจนติดตามการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอและรับรู้ถึงผลการประเมินปัจจัยต่าง ๆ ในส่วนที่เกี่ยวข้องด้วย

. 

1.2 ระดับความสามารถของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล

ระดับ 1 สามารถให้การปฐมพยาบาลที่จำเป็นเพื่อตอบสนองต่อเหตุฉุกเฉิน โดยใช้มาตรการเบื้องต้นในการช่วยชีวิต แต่ไม่ถูกคาดหวังให้สามารถจัดการกับการบาดเจ็บหรือเหตุการณ์ที่ซับซ้อนได้ เพียงแต่สามารถทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้นได้เท่านั้น

.

ระดับ 2 สามารถให้การปฐมพยาบาลขั้นสูง และช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บก่อนส่งไปยังแพทย์หรือหน่วยกู้ภัย ตลอดจนสามารถที่จะให้การช่วยเหลือและประสานงานกับหน่วยงานเหล่านั้นได้

. 

ระดับ 3 สามารถรับผิดชอบในการดูแลรักษาและมั่นใจได้ในความพร้อมของชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ทั้งในเรื่องจำนวนและประสิทธิภาพของอุปกรณ์ และมีการเก็บรักษาข้อมูลการปฐมพยาบาล เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลอาจมีหน้าที่หรือไม่มีหน้าที่ในการสั่งซื้ออุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลก็ได้ ขึ้นอยู่กับโครงสร้างขององค์กรในสถานที่ปฏิบัติงานนั้น ๆ

.

ระดับ 4 สามารถบริหารจัดการ พัฒนานโยบายและระบบการปฏิบัติการให้มีประสิทธิภาพสำหรับการช่วยชีวิตผู้บาดเจ็บ เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าการปฐมพยาบาลนั้น ได้มีการจัดสรรอย่างดีมีประสิทธิภาพเพียงพอและเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของสถานที่ปฏิบัติการ

.

1.3 การฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล เนื้อหาหรือหัวข้อการฝึกอบรมนั้นจะขึ้นอยู่กับผลการประเมินอันตรายและปัจจัยเสี่ยงของการได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยในสถานที่ปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล ซึ่งอาจต้องได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติมเป็นพิเศษในหัวข้อใดหัวข้อหนึ่งนอกเหนือไปจากการอบรมขั้นพื้นฐาน เช่น การปฐมพยาบาลดวงตาหรือบาดแผลไหม้ และการแก้พิษสำหรับสถานที่ปฏิบัติงานที่มีการใช้งานหรือจัดเก็บสารเคมี ในขณะที่เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลในพื้นที่งานก่อสร้างอาจต้องมีทักษะพิเศษในการตรวจสอบลักษณะอาการของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจได้รับบาดเจ็บจากสิ่งของตกหล่นใส่หรือบาดแผลฉีกขาด เป็นต้น

.

หัวข้อการฝึกอบรมการปฐมพยาบาลโดยทั่วไปแล้ว จะมีดังนี้ คือ

- หลักการ วัตถุประสงค์ และลำดับขั้นในการปฐมพยาบาล

- การตรวจสอบและประเมินขั้นปฐมภูมิ (DRABC)

- การผายปอดโดยวิธีเป่าลมเข้าทางปากหรือทางจมูก (Expired Air Resuscitation : EAR)

- การช่วยเป่าปาก-นวดหัวใจ (Cardio Pulmonary Resuscitation : CPR)

- การห้ามเลือด

- การรักษาอาการช็อคของผู้ป่วยที่หมดสติ

- การทำให้ผู้ป่วยฟื้นคืนสติ

- การประเมินขั้นทุติยภูมิและระดับต่าง ๆ ของการหมดสติของผู้ป่วย

- การดำเนินการปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่หมดสติ

- หน้าที่และการทำงานของระบบหายใจและระบบไหลเวียนโลหิต

- การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่บาดเจ็บที่กระดูก กล้ามเนื้อ  ข้อต่อ ศีรษะ หรือกระดูกสันหลัง

- การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่มีบาดแผลไฟไหม้-น้ำร้อนลวก

- การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา

- การปฐมพยาบาลผู้ป่วยที่ได้รับสารพิษและความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ MSDS

- สภาวะฉุกเฉินในการหายใจ โรคหืด อาการหายใจยาวและลึกผิดปกติ โรคลมปัจจุบัน โรคลมบ้าหมู

- อาการแพ้

- สุขอนามัย การควบคุมการติดเชื้อ และการกำจัดขยะจากการปฐมพยาบาล

- กรรมวิธีในการเคลื่อนย้ายและส่งตัวผู้ป่วย

- การจดบันทึกหรือการกรอกแบบฟอร์มรายงานการปฐมพยาบาลผู้ป่วย

- การฝึกหัดกระบวนการในการตัดสินใจ

- การใช้งานและการจัดซื้อชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล

- สิทธิและกฏหมายที่เกี่ยวข้องกับตัวเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลและผู้ป่วย

. 

โดยหัวข้อของการฝึกอบรมที่กล่าวมานี้เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลจะได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการทั้งทางด้านทฤษฎีและการปฏิบัติจากผู้ที่เชี่ยวชาญด้านการปฐมพยาบาลโดยเฉพาะ ทั้งนี้อาจมีความจำเป็นต้องมีการอบรมเพิ่มเติมกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในสถานที่ปฏิบัติงานที่จะมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของอันตรายและชนิดของการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากงานที่ทำ ต้องยอมรับกันว่าในเหตุฉุกเฉินแต่ละอย่างจะมีความแตกต่างกัน ดังนั้นจึงเป็นไปได้ยาก ที่จะฝึกอบรมการปฐมพยาบาลให้คลอบคลุมทุกสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องปฏิบัติตามหลักการของการปฐมพยาบาล โดยดำเนินการในสิ่งที่เหมาะสมให้ได้มากที่สุด

. 

สิ่งที่เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรตระหนักไว้เสมอ มีดังนี้

- ปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรวดเร็ว เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลถือเป็นผู้รับผิดชอบโดยตรงต่อการปฐมพยาบาลผู้ที่บาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ภายใต้ขอบเขตของทักษะและความสามารถจากการฝึกอบรม โดยควรที่จะมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการช่วยชีวิตและป้องกันการพิการโดยไม่สมควร บางครั้งผู้บาดเจ็บที่ไม่สามารถหายใจได้โดยสะดวก หรือมีการตกเลือดจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การปฐมพยาบาลอย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วจะช่วยให้ผู้บาดเจ็บมีโอกาสพักฟื้นกลับมาเป็นปกติดังเดิม แต่ในปฏิกิริยาตอบสนองอย่างรวดเร็วนั้น ต้องไม่นำไปสู่การตื่นเต้นจนเกินเหตุ ความระมัดระวัง รอบคอบ มีสติรับรู้ในทุกกิจกรรมที่ทำโดยตลอดอย่างไม่ล่าช้าจนเกินไป ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้บาดเจ็บ ทั้งยังมีผลทางด้านจิตวิทยาด้วย โดยเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่สามารถระงับความตื่นเต้นและควบคุมตัวเองได้ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับผู้บาดเจ็บที่ต้องการการปฐมพยาบาลที่มีประสิทธิภาพ และเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลพึงระลึกอยู่เสมอว่า การกระทำใด ๆ นั้น ต้องไม่เป็นการเพิ่มความเสี่ยงให้กับผู้บาดเจ็บ

 .

เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรที่จะทำการปฐมพยาบาลต่อไปจนกระทั่ง

1.มีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณสมบัติหรือทักษะความชำนาญมากกว่า (เช่น เจ้าหน้าที่รถพยาบาล แพทย์-พยาบาล) มารับช่วงต่อ

2.มีเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลคนอื่นมารับช่วงต่อ

3.ผู้บาดเจ็บได้รับการปฐมพยาบาลเสร็จสิ้นสมบูรณ์หรือเพียงพอแล้ว

4.ไม่สามารถดำเนินการปฐมพยาบาลต่อไปได้

. 

- การขาดความเอาใจใส่ หรือระมัดระวังตามควร หรือเพิกเฉย ละเลยหน้าที่ โดยพิจารณาดูจากปัจจัยเหล่านี้ คือ

1.) หน้าที่ในการดูแลรักษาพยาบาลจะยังคงอยู่ระหว่างเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลและผู้บาดเจ็บ

2.) เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลไม่ได้ใช้ทักษะความรู้อันสมควรในการปฐมพยาบาล

3.) ผู้บาดเจ็บได้รับความเสียหายต่อสุขภาพเพิ่มเติมที่มีสาเหตุจากการปฐมพยาบาล

. 

เมื่อเกิดการฟ้องร้อง ศาลอาจพิจารณาดูว่าถ้าเป็นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลคนอื่นที่มีระดับความรู้ความสามารถและการฝึกอบรมระดับเดียวกันจะทำการปฐมพยาบาลเหมือนกันหรือแตกต่างกันหรือไม่ในสถานการณ์เดียวกัน และดูองค์ประกอบอื่น ๆ ในการพิจารณาด้วย      

. 

ตัวอย่าง : เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลคนหนึ่งได้ทำการเป่าปากและนวดหัวใจ (CPR) ให้ผู้ป่วยที่หัวใจหยุดเต้น ในระหว่างการช่วยปฐมพยาบาลด้วยวิธีนี้ ได้ทำให้ซี่โครงของผู้ป่วยหัก แต่ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาได้ หลังจากเหตุการณ์เสร็จสิ้นผู้ป่วยได้ตัดสินใจยื่นฟ้องว่าเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลได้ให้การช่วยเหลือไม่ถูกวิธียังเป็นผลให้ซี่โครงหัก     

- ศาลอาจพิจารณาถึงความจริงและเหตุผลต่างๆ ว่า

- มีเหตุผลอันน่าเชื่อถือได้หรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลได้ทำให้ซี่โครงของผู้ป่วยหักขณะที่ทำการ CPR เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วย

- เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลได้กระทำการให้การช่วยเหลืออันสมควรแก่เหตุและด้วยทักษะที่มีอยู่หรือไม่

- เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลได้เพิกเฉย ละเลย หรือขาดการเอาใจใส่ หรือไม่ระมัดระวังในการทำ CPR หรือไม่

- ถ้าเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลไม่ได้ทำ CPR ผู้ป่วยจะได้รับบาดเจ็บและร้ายแรงกว่าซี่โครงหักหรือไม่

- การยินยอม ถ้าเป็นไปได้ก่อนปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรถามและได้รับการ

. 

ยินยอมจากผู้บาดเจ็บให้ทำการปฐมพยาบาล ถ้าผู้ป่วยหมดสติหรือไม่สามารถกล่าวให้การยินยอมได้เนื่องจากบาดเจ็บ ให้อนุมานเอาว่าผู้ป่วยยินยอมและดำเนินการปฐมพยาบาล ดังนั้นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลไม่ควรทำการปฐมพยาบาลถ้าผู้บาดเจ็บไม่ยินยอมหรือเกินระดับความสามารถในการปฐมพยาบาล

. 

- สุขอนามัยในการปฐมพยาบาล  เป็นสิ่งที่สำคัญที่เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรที่จะทำการป้องกันเพื่อที่จะมั่นใจได้ว่ามีความเสี่ยงในการติดเชื้อน้อยที่สุด โดยการฝึกอบรมวิธีการปฐมพยาบาลอย่างมีสุขอนามัย เชื้อโรคที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อไปสู่ร่างกายมนุษย์ ในบางกรณีอาจส่งผ่านโดยการสัมผัสกับผู้ที่มีเชื้อ ซึ่งการติดเชื้ออาจมาจากเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส พาราสิต หรือเชื้อรา โดยปกติแล้วร่างกายมนุษย์จะมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ ซึ่งในเลือดจะมีเม็ดเลือดขาวที่ช่วยในการผลิตแอนตี้บอดี้ และทั้งสองตัวนี้จะช่วยต่อสู้เชื้อโรคที่จะทำอันตรายต่อร่างกาย แต่ถ้าเชื้อโรคมีจำนวนมากก็สู้ไม่ไหว ซึ่งในกรณีนี้ต้องได้รับยาปฏิชีวนะ หลีกเลี่ยงการไอ จาม หายใจรดหรือพูดข้ามบาดแผล หลีกเลี่ยงการสัมผัสของเหลวในร่างกายผู้บาดเจ็บ ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการปฐมพยาบาลและอาจจำเป็นต้องสวมถุงมือยาง นอกจากนั้นยังต้องกำจัดสิ่งที่ใช้แล้วอย่างถูกวิธี ดังนั้นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลจึงจำเป็นต้องใส่ใจในสุขอนามัย ยิ่งในกรณีเกิดบาดแผลด้วยแล้วต้องระมัดระวังการติดเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะเป็นอันตรายมาก

. 

ข้อแนะนำ เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลทุกคนควรที่จะมีภูมิคุ้มกันไวรัสตับอักเสบ B (Hepatitis B)

- การจดบันทึก เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรที่จะจดบันทึกหรือกรอกแบบฟอร์มรายงานการให้การปฐมพยาบาล ผู้ป่วยในทุก ๆ กรณี ไม่ว่าจะเป็นเพียงการบาดเจ็บเพียงเล็กน้อย การจดบันทึกที่ถูกต้องจะช่วยเตือนความจำถ้าถูกสอบถามรายละเอียดของเหตุการณ์ในภายหลัง ในบางกรณี ข้อความในการจดบันทึกรายงานการปฐมพยาบาลของผู้ป่วยอาจถูกใช้ในศาล นอกจากยังมีประโยชน์สำหรับผู้ที่รับช่วงการรักษาพยาบาลต่อจากเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลด้วย เช่น เจ้าหน้าที่รถพยาบาล และยังเป็นข้อมูลที่ใช้เป็นองค์ประกอบสำคัญในการประเมินและพัฒนายุทธศาสตร์การป้องกันการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้อีกด้วย ดังนั้นควรมั่นใจว่าการจดบันทึกนั้นมีความถูกต้อง เป็นจริง บรรจุข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ได้มากที่สุด และอยู่บนพื้นฐานของการสังเกตุมากกว่าความคิดเห็น รูปแบบที่ใช้ในการรายงานการปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือเจ็บป่วยอาจจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละสถานที่ปฏิบัติงาน แต่อย่างไรก็ตามควรมีข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญด้วย เมื่อมีการบันทึกรายงาน ควรที่จะคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ด้วย

. 

1.ใช้ปากกาเท่านั้น

2.ถ้ามีการแก้ไขควรขีดฆ่าด้วย “ – “ และเซ็นชื่อกำกับ

3.ไม่ควรใช้น้ำยาลบคำผิดในการแก้ไขข้อผิดพลาด

4.เซ็นชื่อและลงวันที่จดบันทึก

5.ข้อมูลควรเก็บเป็นความลับโดยเก็บไว้ในสถานที่ปลอดภัยและเข้าถึงได้เฉพาะบุคคลที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น

6.อาจต้องมีสำเนาให้ผู้ป่วยหรือผู้ที่รับช่วงต่อในการรักษาผู้บาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ทำการสอบสวนอุบัติเหตุ

. 

ตัวอย่าง : แบบฟอร์มการรายงานในการให้การปฐมพยาบาลผู้ป่วย

. 

- การเก็บข้อมูลการรักษาพยาบาลเป็นความลับ  สิ่งสำคัญที่เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรตระหนักดังนี้ก็คือข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานรวมถึงรายละเอียดของการปฐมพยาบาลหรือการรักษาผู้บาดเจ็บ และสภาวะของสุขภาพหรือผลการทดสอบใด ๆ ทางการแพทย์ ถือว่าเป็นความลับ การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลต่าง ๆ เหล่านี้โดยปราศจากการยินยอมจากผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยถือว่าผิดจรรยาบรรณและผิดกฎหมายด้วย  

. 

- ประสิทธิภาพของอุปกรณ์สื่อสาร ในยามเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติเหตุที่ต้องการได้รับการปฐมพยาบาล อย่างทันท่วงที ประสิทธิภาพของอุปกรณ์สื่อสารเป็นสิ่งที่สำคัญต่อการแจ้งเหตุให้เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลได้รับทราบโดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานที่ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ห่างไกลจากการบริการด้านการแพทย์ นอกจากอุปกรณ์สื่อสารภายในแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันเลยก็คือ  

. . 

 อุปกรณ์สื่อสารของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลหรือบุคคลที่ถูกกำหนดไว้ให้ทำการติดต่อขอความช่วยเหลือจากภายนอก และสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือวิธีการตอบสนองต่ออุบัติเหตุนั่นคือผู้ที่ประสบเหตุรวมถึงผู้รับผิดชอบและเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการปฐมพยาบาล ต้องรับทราบว่าใครควรจะทำอะไรบ้าง และดำเนินการอย่างไรให้มีความเหมาะสมกับแผนงานที่วางไว้ทั้งหมด เช่น

. 

ผู้ปฏิบัติงานแจ้งเหตุไปยังหัวหน้างานและเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล > หัวหน้างานแจ้งฝ่ายบริหาร > เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลดำเนินการปฐมพยาบาลผู้ได้รับบาดเจ็บ > หัวหน้างานดำเนินการในส่วนของผู้ปฏิบัติงานที่อยู่ใกล้เคียงที่เกิดเหตุ > เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลหรือผู้ที่รับผิดชอบดำเนินการประสานงานเรียกรถพยาบาลหรือขอความช่วยเหลือจากหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน เป็นต้น

.

2. ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล ประกอบไปด้วยกล่องปฐมพยาบาลและอุปกรณ์ปฐมพยาบาลต่าง ๆ

2.1 กล่องปฐมพยาบาล จะมีขนาด รูปร่าง หรือทำด้วยวัสดุใดก็ได้ แต่ต้องใหญ่พอที่จะบรรจุอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่จำเป็นได้ทั้งหมด สามารถที่จะป้องกันฝุ่น ความชื้น และการปนเปื้อนที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุปกรณ์ภายในได้ และควรถูกจัดวางในตำแหน่งที่สะอาดและแห้ง ไม่ถูกปิดล็อค  ควรที่จะบรรจุอุปกรณ์ปฐมพยาบาลพื้นฐานที่จำเป็นและอุปกรณ์เพิ่มเติมที่มีความเหมาะสมกับลักษณะเฉพาะของสถานที่ปฏิบัติงานควรที่จะถูกจัดเตรียมและตั้งอยู่ในตำแหน่งที่จะมั่นใจได้ว่า

- ง่ายต่อการเข้าถึงได้อย่างสะดวกรวดเร็วโดยผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด รวมถึงพนักงานที่ปฏิบัติงานในพื้นที่งานที่แยกส่วนหรือห่างไกลจากสถานที่ปฏิบัติงานด้วย

- ผู้ปฏิบัติงานที่ทำงานบนรถเคลื่อนที่ เช่น หน่วยประชาสัมพันธ์หรือหน่วยสาธิตสินค้าเคลื่อนที่ ควรมีกล่องปฐมพยาบาลไว้บนรถด้วย

- ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อและพื้นที่ทำงานหรือตำแหน่งที่อยู่ของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรถูกติดไว้บนตัวกล่องหรือใกล้กับจุดที่ตั้งกล่องปฐมพยาบาล

- ข้อมูลเพิ่มเติม เช่น ชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของหน่วยบริการแพทย์ฉุกเฉินใกล้สุด ควรที่จะติดอยู่ที่กล่องหรือใกล้กับจุดที่ตั้งกล่องปฐมพยาบาล 

- คู่มือแนะนำการปฐมพยาบาลฉุกเฉินสำหรับผู้บาดเจ็บ ในการผายปอด (EAR) การเป่าปาก นวดหัวใจ (CPR) ควรอยู่ในกล่อง (ถูกใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเท่านั้น)  

- คู่มือแนะนำการจัดการกับอาการบาดเจ็บ ซึ่งอาจมีลักษณะเฉพาะกับสถานที่ปฏิบัติงาน (เช่น การบาดเจ็บที่ดวงตาหรือบาดแผลไหม้จากสารเคมี) ควรอยู่ในหรือใกล้กับจุดที่วางกล่องปฐมพยาบาล

- คู่มือแนะนำการใช้และเก็บรักษาอุปกรณ์ปฐมพยาบาล    
. 

กล่องปฐมพยาบาลควรมีสัญลักษณ์บ่งบอกอย่างชัดเจน เช่น กากบาทขาวบนพื้นสีเขียว เป็นต้น และมีการดูแลรักษา ตรวจสอบจำนวนอุปกรณ์ปฐมพยาบาลให้เพียงพอ สำหรับกล่องปฐมพยาบาลซึ่งอยู่บนรถหรือยานพาหนะควรทำจากวัสดุที่ช่วยลดการเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ปฐมพยาบาลภายในจากความร้อนและแสงแดด กล่องปฐมพยาบาลไม่ควรที่จะบรรจุอุปกรณ์ใด ๆ ที่อาจเป็นพิษเมื่อถูกนำใช้งานอย่างผิดวิธี และกล่องปฐมพยาบาลใดที่บรรจุยาอันตรายหรือยาที่ต้องมีใบสั่งยาต้องถูกล็อคอย่างปลอดภัย และใช้งานโดยเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วเท่านั้น

. 

ใครมีหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลรักษา? นายจ้างควรที่จะมั่นใจได้ว่ามีผู้ปฏิบัติงานอย่างน้อย 1 คน (โดยมากจะเป็นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล) ที่จะถูกมอบหมายให้มีหน้าที่รับผิดชอบและควบคุมดูแลกล่องปฐมพยาบาลให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลาที่มีผู้ปฏิบัติงานทำงานอยู่  โดยบุคคลที่ได้รับมอบหมายต้องทำการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอและสำรองยาและอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้เต็มตามปริมาณที่จำเป็นต้องใช้ รวมถึงดูแลรักษาอุปกรณ์ปฐมพยาบาลภายในกล่องและต้องตรวจสอบให้มั่นใจเสมอว่ายังไม่หมดอายุ นอกจากนั้นผู้รับผิดชอบจะต้องมีความเข้าใจในวิธีการใช้งานอุปกรณ์ต่าง ๆ เหล่านั้นและได้รับการฝึกอบรมในการปฐมพยาบาลมาเป็นอย่างดีอีกด้วย

. 

2.2 อุปกรณ์ปฐมพยาบาล จะมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับผลการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และลักษณะของอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่อาจพบในสถานประกอบการประเภทนั้น ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ทุกสถานประกอบการจะต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลพื้นฐานตามที่กฎกระทรวงที่ว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ..2548 ได้กำหนดไว้ ซึ่งระบุไว้ในข้อ 2 ว่าในสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล ดังต่อไปนี้

. 

(1) สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างตั้งแต่ สิบคนขึ้นไป ต้องจัดให้มีเวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาลในจำนวนที่เพียงพอ อย่างน้อยตามรายการดังต่อไปนี้

() กรรไกร

() แก้วยาน้ำและแก้วยาเม็ด

() เข็มกลัด

() ถ้วยน้ำ

() ที่ป้ายยา

() ปรอทวัดไข้

() ปากคีบปลายทู่

() ผ้าพันยืด

() ผ้าสามเหลี่ยม

() สายยางรัดห้ามเลือด

() สำลี ผ้าก๊อซ ผ้าพันแผล และผ้ายางปลาสเตอร์ปิดแผล

() หลอดหยดตา

() ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม

() ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือโพวิโดน ไอโอดีน

() น้ำยาโพวิโดน ไอโอดีน ชนิดฟอกแผล

() ผงน้ำตาลเกลือแร่

() ยาแก้ผดผื่นที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ

() ยาแก้แพ้

() ยาทาแก้ผดผื่นคัน

() ยาธาตุน้ำแดง

() ยาบรรเทาปวดลดไข้

() ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก

() ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร

() เหล้าแอมโมเนียหอม

() แอลกอฮอล์เช็ดแผล

() ขี้ผึ้งป้ายตา

() ถ้วยล้างตา

() น้ำกรดบอริคล้างตา

() ยาหยอดตา

.

โดยส่วนตัวของผู้เขียนมีความเห็นว่า หากแต่ละสถานประกอบการเพิ่มสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ไปเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลด้วยแล้วละก็จะช่วยให้เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลทำงานได้อย่างคล่องตัวขึ้น

- เบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ปัจจุบันของหน่วยให้บริการการแพทย์ฉุกเฉินต่าง ๆ โรงพยาบาล รถพยาบาล

- ชื่อ เบอร์ติดต่อ -พื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล

- คู่มือการปฐมพยาบาล

- สมุดจดบันทึกหรือแบบฟอร์มรายงานการให้ปฐมพยาบาล

- ถุงมือยางใช้แล้วทิ้ง (Latex glove)

. 

ส่วนจำนวนและชนิดของอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติมอื่น ๆ นั้น นายจ้างควรพิจารณาข้อมูลที่ได้จากการประเมินอันตรายและความเสี่ยงในสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดความจำเป็นสำหรับการสั่งซื้ออุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติม

.

2.3 ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติม ในกรณีที่มีการแจกแจงและประเมินถึงอันตรายและความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยแล้ว อาจมีความจำเป็นต้องจัดหาอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติมจากชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลพื้นฐานที่มีอยู่แล้ว โดยเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลต้องได้รับการฝึกอบรมการใช้งานอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติมชนิดนั้น ๆ

 .

โดยทั่วไปแล้วชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติม จะมีอยู่ 4 แบบ คือ

 .
- ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ควรจะเพิ่มเติมในกรณีที่สถานที่ปฏิบัติงานนั้นมีสภาพแวดล้อมในการทำงาน ดังนี้ คือ

1. มีการใช้งานสารเคมีเหลวหรือผงแป้งในภาชนะที่เปิด

2. มีการพ่นสเปรย์ ฉีด อัดอากาศ หรือมีการขัด- ฝนโลหะ

3. มีโอกาสที่จะมีอนุภาคของวัตถุพุ่งไปมา

4. มีการเชื่อม การตัด หรือการใช้งานเครื่องจักร

5. มีการใช้อุปกรณ์ป้องกันดวงตา

 .

ซึ่งชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตาจะประกอบไปด้วย

.

.

ที่มา: Australian Red Cross Society,First Aid,Responding to Emergencies, Australian Red Cross,2001.

หมายเหตุ  การจัดหาหรือเตรียมชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ไม่ใช่สิ่งที่มาทดแทนฝักบัวฉุกเฉินหรือที่ล้างตา แต่เป็นการเพิ่มเติมเข้าไป

 .

- ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลแผลไหม้ ควรจะเพิ่มเติมในกรณีที่สถานที่ปฏิบัติงานนั้นมีสภาพแวดล้อมการทำงาน ดังนี้ คือ

1. มีกระบวนการทำงานที่ใช้ความร้อน

2. มีการใช้ของเหลวไวไฟ

3. มีการใช้งานสารเคมีที่เป็นกรดหรือเบส

4. มีการใช้งานสารเคมีต่าง ๆ ที่มีฤทธิ์กัดกร่อน

.
ซึ่งชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลแผลไหม้จะประกอบไปด้วย
.

.

ที่มา : Australian Red Cross Society,First Aid,Responding to Emergencies, Australian Red Cross,2001.

ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลสำหรับพื้นที่ห่างไกลหรือการปฏิบัติงานนอกพื้นที่ สำหรับผู้ปฏิบัติงานที่ต้องออกนอกพื้นที่หรือพื้นที่ปฏิบัติงานนั้นอยู่ห่างไกลจากความช่วยเหลือทางด้านการแพทย์และได้ประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดการได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยขึ้นได้ จะต้องมีอุปกรณ์ปฐมพยาบาลดังนี้ คือ

- Emergency reference manual

- Broad crepe bandages (for snake bites)

- Cervical collar (for spinal / neck injuries)

- Large clean sheeting (for covering burns)

- Thermal blanket (for treatment of shock)

- Basic splints

- Single use cold packs

- Disposable eye wash

- Analgesics.(used by trained first aiders only)

- Note pad and pencil (for recording treatment given)

- Torch / flashlight

- Whistle (for attracting attention)

ที่มา :   First Aid Procedure,La Trobe University Occupational Health and safety Manual,1999.

.

- ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลอื่นๆ ขึ้นอยู่กับผลการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การได้รับสารพิษ เป็นต้น ควรมีการปรึกษาผู้เชี่ยวชาญในการปฐมพยาบาลว่าควรจัดชุดอุปกรณ์เพิ่มเติมใดให้สอดคล้องกับผลการประเมินความเสี่ยง

.

3. ห้องปฐมพยาบาล ผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย อาจมีความจำเป็นต้องใช้ห้องปฐมพยาบาล (หรือพื้นที่ที่มีความเหมาะสม) ขณะที่พักฟื้นจากอุบัติเหตุ หรือรอการมาถึงของหน่วยแพทย์ฉุกเฉินหรือรับการรักษาพยาบาลอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ความจำเป็นของห้องปฐมพยาบาลจะขึ้นอยู่กับผลของการประเมินปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และขนาดของสถานที่ปฏิบัติงาน

 

 แต่อย่างน้อยต้องเป็นไปตามกฎกระทรวง (จะใช้คำว่า  ห้องรักษาพยาบาลแทนห้องปฐมพยาบาล  ) ที่ว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ..2548 ได้กำหนดไว้ ซึ่งระบุไว้ในข้อ 2 ว่าสถานที่ทำงานของลูกจ้าง ให้นายจ้างจัดให้มีสิ่งที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลและการรักษาพยาบาล ดังต่อไปนี้

(1) ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น

(2) สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่สองร้อยคนขึ้นไป ต้องจัดให้มี

(ก) เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาล (1)

(ข) ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อยหนึ่งเตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ในข้อ

(ค) พยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปไว้ประจำอย่างน้อยหนึ่งคนตลอดเวลาทำงาน

(ง) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสองครั้ง และเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละหกชั่วโมงในเวลาทำงาน

.

(3) สถานที่ทำงานที่มีลูกจ้างทำงานในขณะเดียวกันตั้งแต่หนึ่งพันคนขึ้นไป ต้องจัดให้มี

(ก)เวชภัณฑ์และยาเพื่อใช้ในการปฐมพยาบาล (1)

(ข)ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงพักคนไข้อย่างน้อยสองเตียง เวชภัณฑ์และยานอกจากที่ระบุไว้ในข้อ

.

(1) ตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น

(ค) พยาบาลตั้งแต่ระดับพยาบาลเทคนิคขึ้นไปไว้ประจำอย่างน้อยสองคนตลอดเวลาทำงาน

(ง) แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งอย่างน้อยหนึ่งคน เพื่อตรวจรักษาพยาบาลไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสามครั้งและเมื่อรวมเวลาแล้วต้องไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละสิบสองชั่วโมงในเวลาทำงาน

(จ)ยานพาหนะซึ่งพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลเพื่อให้การรักษาพยาบาลได้โดยพลัน      
.

ข้อ 3 นายจ้างอาจทำความตกลงเพื่อส่งลูกจ้างเข้ารับการรักษาพยาบาลกับสถานพยาบาลที่เปิดบริการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงและเป็นสถานพยาบาลที่นายจ้างอาจนำลูกจ้างส่งเข้ารับการรักษาพยาบาลได้โดยสะดวกและรวดเร็ว แทนการจัดให้มีแพทย์ตามข้อ 2 (2) หรือข้อ 2 (3) ได้โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดี หรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย       

.

ถ้ามีความจำเป็นที่จะต้องมีห้องปฐมพยาบาล ควรที่จะพิจารณาปัจจัยเหล่านี้เพิ่มเติมในการกำหนดสถานที่ตั้ง แผนผังและการบริหารจัดการ

- แผนผังห้องต้องสามารถที่จะเข้าถึงได้ง่ายในระหว่างชั่วโมงทำงาน และตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้กับห้องน้ำ อ่างล้างมือพร้อมที่ระบายน้ำโสโครก  ก๊อกน้ำร้อน-เย็น และกระติกน้ำร้อน รวมถึงง่ายต่อการเข้าออกของเปลพยาบาล เก้าอี้เข็น หรือใกล้กับประตูทางออก เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่รถพยาบาล

.

- พื้นที่ ห้องควรมีขนาดเพียงพอสำหรับจัดวางอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ โดยมีพื้นที่ส่วนทำงานของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล ทางเข้าและทางเดินเชื่อมต่อควรกว้างเพียงพอในการลำเลียงผู้บาดเจ็บโดยเปลพยาบาลหรือเก้าอี้เข็น

.

- สภาพแวดล้อม ห้องควรมีพื้นห้องที่เหมาะสมง่ายต่อการความสะอาดและบำรุงรักษา มีแสงสว่างและการระบายอากาศที่ดี มีอุณหภูมิที่พอเหมาะ

.

- สัญลักษณ์ ห้องควรที่จะมีป้ายบ่งบอกอย่างชัดเจนและสังเกตุได้ง่ายว่าเป็นห้องปฐมพยาบาล เช่น กากบาทขาวบนพื้นเขียว เป็นต้น ที่ประตูห้องควรที่จะระบุชื่อบุคคลที่รับผิดชอบ เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในเวลางาน - เบอร์โทรศัพท์ติดต่อและตำแหน่งพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล   

.

- การบริการจัดการ ห้องควรที่จะถูกบริหารจัดการโดยเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมอย่างเหมาะสมหรือบริหารโดยเจ้าหน้าที่ที่มีความเชี่ยวชาญ ซึ่งจะรับผิดชอบในการประเมินสิ่งที่จำเป็น การบำรุงรักษาเครื่องมือ อุปกรณ์ และมั่นใจได้ว่าห้องอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานและสามารถดำเนินการได้ทันที       

.

โดยทั่วไปแล้วห้องปฐมพยาบาลควรที่จะมีสิ่งเหล่านี้ คือ

- โต๊ะทำงาน พร้อมเครื่องมือสื่อสาร (รวมถึงเบอร์โทรศัพท์ฉุกเฉินต่าง ๆ)

- ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลต่าง ๆ ที่เหมาะสม

- ถังขยะที่มีฝาปิดสำหรับทิ้งสิ่งที่ใช้ในการปฐมพยาบาลแล้ว

- เตียงพักคนไข้พร้อมหมอนและผ้าห่ม

- อ่างล้างมือพร้อมก๊อกน้ำร้อน เย็น

- โคมไฟ

- กระติกน้ำร้อน

- อุปกรณ์ช่วยหายใจที่เหมาะสม

- เก้าอี้นั่งสำหรับตรวจอาการ

- ปลั๊กไฟ

- เปลพยาบาล

- เก้าอี้เข็น

- โต๊ะเข็นสำหรับวางอุปกรณ์แต่งบาดแผลเพื่อความคล่องตัว

- ตู้สำหรับเก็บเวชภัณฑ์และยา อุปกรณ์แต่งแผล

- ตู้เก็บยา(แบบล็อคได้)สำหรับยาอันตรายหรือยาที่ต้องมีใบสั่งยา

- ไฟฉายและไฟสำรองฉุกเฉิน
- คู่มือการปฐมพยาบาลและวิธีการใช้และบำรุงรักษาเครื่องมือและอุปกรณ์ต่างๆ

- ตู้เอกสารไว้เก็บข้อมูลบันทึกหรือแบบฟอร์มรายงานการปฐมพยาบาล (แบบล็อคได้)

.

การให้บริการด้านสุขภาพ ในสถานที่ปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงสูงและมีจำนวนผู้ปฏิบัติงานมาก ๆ ควรมีการพิจารณาในเรื่องการให้บริการด้านสุขภาพซึ่งมีจุดประสงค์ในการรักษา ส่งเสริม และพักฟื้นสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน โดยการให้บริการด้านสุขภาพ อาจรวมถึง

.

1. การจัดเตรียมการปฐมพยาบาลหรือการบริการด้านการแพทย์

2. การตรวจสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน (ทั้งร่างกายและจิตใจ)

3. การให้คำปรึกษา แนะนำเรื่องสุขภาพแก่ผู้ปฏิบัติงาน

4. การส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานมีสุขภาพที่ดี และ

5.การดูแลติดตามสุขภาพของผู้ปฏิบัติงาน

.

ซึ่งการเริ่มต้นให้บริการอาจจะมีเพียงบริการบางอย่างเท่านั้น แล้วจึงทำการขยายเพิ่มเติมในสิ่งที่เหมาะสมกับสถานที่ปฏิบัติงาน เช่น การดูแลติดตามสุขภาพ จำเป็นต้องกระทำเมื่อมีการสัมผัสกับสารอันตราย เป็นต้น การให้บริการด้านสุขภาพอาจจัดสรรโดยเจ้าหน้าที่พยาบาล แพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ

.

การสื่อสารให้รับทราบถึงการปฐมพยาบาลในสถานที่ปฏิบัติงาน

1.ผู้ปฏิบัติงาน ควรที่จะมีการให้ข้อมูลและคำแนะนำแก่ผู้ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการจัดสรรสิ่งที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ โดยมีข้อมูลเหล่านี้ คือ

- ความสำคัญของการปฐมพยาบาล

- ตำแหน่งที่ตั้งของชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล และห้องปฐมพยาบาล

- ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อและตำแหน่งพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล  

- การให้บริการ   

- วิธีการปฏิบัติเมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปฐมพยาบาล และการติดต่อขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานฉุกเฉินภายนอกเมื่อการปฐมพยาบาลไม่เพียงพอหรือต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม (เช่น โทรเรียกรถพยาบาลและวิธีการลำเลียงผู้บาดเจ็บ เป็นต้น)     

.

โดยข้อมูลเหล่านี้จะถูกทบทวน และปรับปรุงเป็นระยะ ๆ เพื่อให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน จากนั้นจึงจะทำการสื่อสารให้ทราบกันโดยทั่วทั้งองค์กรด้วย นอกจากนี้แล้วข้อมูลเหล่านั้นอาจถูกทบทวนและปรับปรุง เมื่อ

.

มีผู้ปฏิบัติงานใหม่เข้ามาทำงาน

- มีการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งที่ตั้งของสิ่งที่จำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ

- มีการเปลี่ยนแปลง ชื่อ เบอร์โทรศัพท์ติดต่อ ตำแหน่งพื้นที่ทำงานของเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล

- เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานหรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่มีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของประเภทความเสี่ยงและชนิดของอันตราย       

- มีการเปลี่ยนแปลงอื่น ๆ เช่น มาตรการป้องกันหรือควบคุมอันตราย หน้าที่การทำงาน ตารางเวลาการทำงาน ฯลฯ    
.

โดยข้อมูลเหล่านี้ อาจจะสื่อสารให้ได้ทราบโดยใช้

- โปสเตอร์ บอร์ดประชาสัมพันธ์ หรือใช้สัญลักษณ์ในสถานที่ปฏิบัติงาน

- การประชุม

- เอกสารแจ้งภายใน หรืออีเมล และ

- การฝึกอบรม

.

2. ผู้จัดการและหัวหน้างาน ควรที่จะทำความคุ้นเคยกับการจัดสรรการปฐมพยาบาล และต้องเข้าใจถึงหน้าที่ความรับผิดชอบภายใต้แผนงานการปฐมพยาบาล ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าข้อมูลเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลจะถูกกระตุ้นเพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบ

.

3. ผู้เข้ามาติดต่อ ในที่ซึ่งปฏิบัติได้ ทุก ๆ คนที่ได้เข้ามาสู่สถานที่ปฏิบัติงาน ควรที่จะได้รับทราบข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการจัดสรรการปฐมพยาบาลที่มีในสถานที่ปฏิบัติงานนั้น ๆ

.

การตรวจสอบว่าการจัดสรรการปฐมพยาบาลยังคงใช้ได้ผลหรือไม่ มีการพัฒนาจัดสรรการปฐมพยาบาล ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ทราบว่ายังคงได้ผลตามที่คาดไว้หรือไม่ก่อนที่เหตุการณ์จะเกิดขึ้น โดย

- มีการทบทวนการจัดสรรการปฐมพยาบาลทั้งหมด รวมถึงตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องภายใต้แผนงานการปฐมพยาบาลเป็นระยะ ๆ

- ถ้ารูปแบบการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีการทำงานในรูปแบบใหม่ ต้องมีการทบทวนและประเมินปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรการปฐมพยาบาล เพื่อที่จะมั่นใจได้ว่าระบบยังคงเพียงพออยู่

- จัดสถานการณ์จำลองการปฐมพยาบาลฉุกเฉิน เพื่อตรวจสอบ ประเมิน และทบทวนถึงประสิทธิภาพของแผนการปฐมพยาบาล

- ถ้าได้รับข้อมูลใหม่เกี่ยวกับอันตรายที่ยังไม่ถูกแจกแจงไว้ล่วงหน้า ต้องมีการทบทวนการจัดสรรการปฐมพยาบาลใหม่ทันที

.

การปรึกษาหารือและการทบทวนแผนงานการปฐมพยาบาล เป็นปัจจัยที่สำคัญมากที่ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น นายจ้าง ผู้ปฏิบัติงาน เจ้าหน้าที่ จป. เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล และคณะกรรมการความปลอดภัยและอาชีวอนามัยจะร่วมกันปรึกษาหารือ ตรวจสอบ ทบทวนและประเมินแผนการจัดสรรการปฐมพยาบาลอย่างสม่ำเสมอและควรให้ความสำคัญและบรรจุใว้เป็นส่วนหนึ่งของแผนงานทั้งหมดขององค์กร

.

คำถามที่ผู้ตรวจสอบมักจะถามเกี่ยวกับการจัดสรรการปฐมพยาบาลในสถานที่ปฏิบัติงาน

- ให้ระบุชนิดหรือประเภทของการบาดเจ็บหรือการเจ็บป่วยที่เคยเกิดขึ้นในสถานที่ปฏิบัติงานในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา

- ประเภทของอันตรายที่มีอยู่ในสถานที่ปฏิบัติงานและมีการดำเนินการอย่างไรในการป้องกันผู้ปฏิบัติงานเหล่านั้น

- มีใครได้รับการฝึกอบรมในเรื่องการบริหารจัดการเกี่ยวกับการปฐมพยาบาลหรือไม่

- ใครเป็นเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล ได้รับการฝึกอบรมมาหรือไม่

- ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลอยู่ที่ใด และมีอะไรบ้าง มีห้องปฐมพยาบาลหรือไม่ ใครเป็นคนรับผิดชอบดูแล

- มีจำนวนผู้ปฏิบัติงานเท่าใดที่ปฏิบัติงานในพื้นที่งานนี้ และสามารถเข้าถึงการปฐมพยาบาลได้อย่างรวดเร็วหรือไม่ อย่างไร

- แผนงานในการจัดสรรการปฐมพยาบาลเป็นอย่างไร มีเอกสารยืนยันหรือไม่

- ผู้ปฏิบัติงานหรือผู้มาติดต่อได้รับทราบว่าหรือไม่ว่า ควรทำอย่างไรถ้าได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยเวลาต้องการการปฐมพยาบาล      
.

จากที่ได้กล่าวมาแล้วทั้งหมด ก็หวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่สนใจและสามารถนำไปเป็นแนวทางเพื่อประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับประเภทของสถานที่ปฏิบัติงานของตนต่อไป และเพราะเราไม่สามารถที่จะคาดเดาสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ทั้งหมดดังนั้นการเตรียมการที่ดีจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะลดความสูญเสียและความเสียหายลงได้บ้าง

.

เอกสารอ้างอิง

- First Aid in the Workplace, Victorian Work Cover Authority Melbourne .

- Introduction to First aid, PARASOL EMT Pty Limited.

- First Aid Procedure, La Trobe University

- First Aid, Australian Red Cross Society

- ตำราวิชาการ การปฐมพยาบาล โดย ศ.,พล...นายแพทย์อุทัย อุเทนพิพัฒน์