เนื้อหาวันที่ : 2007-05-17 13:58:20 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 5040 views

การปฐมพยาบาลในสถานที่ปฏิบัติงาน ตอนที่ 1

ในสถานที่ปฏิบัติงานแต่ละแห่งต้องมีอันตรายและความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันออกไป และผลลัพธ์หรืออาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ ก็จะมีความรุนแรงแตกต่างกันตามลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุ และมาตรการฉุกเฉินในการช่วยชีวิต หนึ่งในมาตรการฉุกเฉินคือ การปฐมพยาบาล เป็นภาระหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจัดหาและดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งแวดล้อมในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัย และปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพในการทำงาน

เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าในสถานที่ปฏิบัติงานแต่ละแห่งนั้น มีอันตรายและความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุที่มากบ้างน้อยบ้าง แตกต่างกันออกไป และผลลัพธ์หรืออาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุดังกล่าว ก็จะมีความรุนแรงแตกต่างกันตามลักษณะของการเกิดอุบัติเหตุ และมาตรการฉุกเฉินในการช่วยชีวิต หนึ่งในมาตรการฉุกเฉินนั้นก็คือ การปฐมพยาบาล ซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่ของนายจ้างที่จะต้องจัดหาและดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า สิ่งแวดล้อมในการทำงานของผู้ปฏิบัติงานมีความปลอดภัย และปราศจากความเสี่ยงต่อสุขภาพในการทำงาน รวมถึงมีการจัดสรรสิ่งที่จำเป็นและเอื้ออำนวยความสะดวกอย่างเพียงพอ ต่อสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงาน ณ สถานที่ปฏิบัติงานใด ๆ ที่อยู่ภายใต้การควบคุมและการบริหารงานของนายจ้าง โดยคำว่า สิ่งที่จำเป็นและเอื้ออำนวยความสะดวกต่อสวัสดิภาพ นี้ จะหมายรวมถึง การจัดสรรสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ (First Aid Facilities and Services) ด้วย

.

คำจำกัดความ

สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาล หมายถึง ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลประเภทต่าง ๆ อุปกรณ์ในการปฐมพยาบาลหรือห้องพยาบาล และเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่ได้รับการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี

.

การให้บริการ หมายถึง การจัดสรรเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่ได้ผ่านการฝึกอบรมมาเป็นอย่างดี เพื่อให้การปฐมพยาบาล รวมถึงการแจ้งหรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบถึงข้อมูลพื้นฐาน ความสำคัญและสิ่งต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในการปฐมพยาบาล

.

การบริหารจัดการการปฐมพยาบาลในสถานที่ปฏิบัติงาน หมายถึง การจัดเตรียมระบบสำหรับการปฐมพยาบาลให้กับผู้ปฏิบัติงานที่ได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย ณ สถานที่ปฏิบัติงาน  รวมถึงการจัดสรรสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ

.

การปฐมพยาบาล หมายถึง การช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วย ก่อนที่จะส่งถึงมือแพทย์หรือโรงพยาบาล ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือและป้องกันมิให้ผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยได้รับอันตรายจนถึงพิการหรือเสียชีวิตไปโดยไม่สมควร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1) ให้ผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยรอดชีวิต

2) มิให้ได้รับอันตรายหรือมีความพิการเพิ่มขึ้น

3) ให้ผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วยกลับคืนสู่สภาพเดิม คือฟื้นหรือหายจากอาการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยได้อย่างรวดเร็ว

.

เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาล หมายถึง บุคคลผู้ซึ่งได้รับการฝึกอบรมในการปฐมพยาบาล และมีหน้าที่ในการรักษาพยาบาลเบื้องต้นแก่ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บ หรือเจ็บป่วยจากการทำงาน โดยในการรักษาพยาบาลนั้น ต้องสอดคล้องหรืออยู่ภายใต้ขอบเขตความสามารถ และระดับการฝึกอบรมของตัวเจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลที่มีอยู่ ทั้งนี้เพื่อความปลอดภัยของตัวผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วย

ห้องปฐมพยาบาล หมายถึง สถานที่ที่มีความเหมาะสมและมีวัตถุประสงค์ เพื่อใช้ในการพักฟื้นของผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วย จากอุบัติเหตุ หรือรอการมาถึงของหน่วยแพทย์ฉุกเฉิน หรือให้การปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บหรือผู้ป่วย

ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาล หมายถึง กลุ่มของอุปกรณ์ปฐมพยาบาลที่ใช้ในการปฐมพยาบาล เช่น ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลขั้นพื้นฐาน ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลบาดแผลไฟไหม้น้ำร้อนลวก เป็นต้น

กล่องปฐมพยาบาล หมายถึง ภาชนะที่สามารถใช้เก็บอุปกรณ์ปฐมพยาบาลรวมเข้าไว้ด้วยกัน เช่น กล่องอลูมิเนียม กล่องหนัง หรือกระเป๋าหนัง เป็นต้น

อุปกรณ์ปฐมพยาบาล หมายถึง เครื่องมือต่าง ๆ ที่ใช้ในการปฐมพยาบาล เช่น กรรไกร สำลี ผ้าพันแผล เป็นต้น

อันตราย หมายถึง สิ่งใด ๆ ที่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดการบาดเจ็บ โดยอันตรายจะแสดงออกมาในกิจกรรมของงานที่ทำ

ความเสี่ยง หมายถึง แนวโน้มที่ผู้ปฏิบัติงานจะได้รับบาดเจ็บถ้ามีการสัมผัสกับอันตราย 
.
ขั้นตอนในการพิจารณาจัดสรรสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ   

ในแต่ละสถานที่ปฏิบัติงานจะมีลักษณะเฉพาะตัวที่แตกต่างกันออกไปทั้งประเภทของกิจการหรือกิจกรรมและงานที่ทำในสถานที่ปฏิบัติงานนั้น ๆ ซึ่งปัจจัยที่ใช้ในการกำหนดถึงความจำเป็นและความเหมาะสมในการจัดสรรสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ นี้ จะต้องประยุกต์จาก วิธีบริหารจัดการความเสี่ยง (the risk management) ซึ่งมีขั้นตอนในการพิจารณาดังนี้ คือ

.

ขั้นตอนที่ 1 การระบุชนิดอันตราย (Spot the hazard) โดยต้องมีการระบุความเป็นไปได้ของสาเหตุในการได้รับบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยอันเนื่องมาจากงานที่ทำในสถานที่ปฏิบัติงาน ซึ่งมีปัจจัยที่ต้องพิจารณา ดังนี้

.

1.1 ลักษณะของอันตรายและระดับของความเสี่ยง ประเภทของงานและสภาพแวดล้อมในการทำงานจะมีอิทธิพล และเชื่อมโยงกับอันตราย รวมถึงผลลัพธ์ที่ตามมา ซึ่งอาจก่อให้เกิดการบาดเจ็บของผู้ปฏิบัติงาน โดยจะมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันออกไปตามลักษณะของกิจกรรมที่ทำ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งในการตัดสินใจในเรื่องสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาล เช่น ผู้ปฏิบัติงานในสำนักงานย่อมมีความต้องการสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาล ที่แตกต่างออกไปจากผู้ปฏิบัติงานในโรงงานหรือสถานที่ปฏิบัติงาน ที่มีการจัดเก็บและใช้งานสารพิษหรือสารเคมีกัดกร่อนควรที่จะต้องมีสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลเพิ่มเติมรวมถึงการให้บริการที่พิเศษแตกต่างกันออกไปด้วย ซึ่งอาจมีความจำเป็นในการปฐมพยาบาลในลักษณะพิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการระบุถึงความจำเป็นในการปฐมพยาบาลลักษณะที่เฉพาะเจาะจงลงไปใน MSDS (เอกสารข้อมูลความปลอดภัยสารเคมี) ซึ่งจะรวมไปถึงฝักบัวฉุกเฉิน ที่ล้างตา การแก้พิษ และชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลเพิ่มเติม เช่น ชุดอุปกรณ์ปฐมพยาบาลการได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา หรือบาดแผลไหม้จากสารเคมี เป็นต้น ดังนั้น เจ้าหน้าที่ปฐมพยาบาลควรที่จะได้รับการฝึกอบรมในการดำเนินการกับอาการบาดเจ็บในลักษณะพิเศษ หรือเฉพาะเจาะจงในสถานที่ปฏิบัติงานด้วย

.

โดยเราอาจแบ่งประเภทของอันตรายหลัก ๆ ได้ 6 ประเภท คือ

1.) อันตรายทางกายภาพ (Physical hazards) เช่น ไฟฟ้า เพลิงไหม้ การระเบิด ความร้อนและความเย็น เครื่องจักร เสียง ฝุ่นที่ทำให้เกิดความรำคาญ การสั่นสะเทือน ช่วงแคบกว้างของพื้นที่งาน

2.) อันตรายจากสารเคมี (Chemical hazards) เช่น ฝุ่น ฟูม ก๊าซ ของเหลว ของแข็ง ไอ

3.) อันตรายด้านเออร์โกโนมิก (Ergonomic hazards) เช่น การออกแบบเครื่องไม้เครื่องมือ การออกแบบงาน การใช้เครื่องไม้เครื่องมือ การออกแบบอุปกรณ์ การออกแบบสถานที่ทำงาน

4.) อันตรายจากรังสี (Radiation hazards) เช่น อินฟราเรด อิออน ไมโครเวฟ รังสีที่ไม่แตกตัวเป็นอิออน อุลตราไวโอเลต

5.) อันตรายด้านจิตวิทยา (Psychological hazards) เช่น การเลือกปฏิบัติ การรบกวนหรือรำคาญ เสียงรบกวน การทำงาน การบังคับขู่เข็ญหรือคุกคาม งานหนัก การเปลี่ยนกะทำงานบ่อย ๆ

6.) อันตรายด้านชีววิทยา (Biological hazards) เช่น แบคทีเรีย การติดเชื้อ ไวรัส

.

ดังนั้นจึงควรมีการระบุถึงประเภทอันตรายที่มีในงานด้วย

.

1.2 การแจกแจงลักษณะและสาเหตุของการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วยที่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้

ซึ่งเราอาจใช้วิธีเหล่านี้ คือ

- ทบทวนข้อมูลอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และเหตุการณ์ที่เกือบจะเกิดอุบัติเหตุ

- ปรึกษาหารือกับผู้ปฏิบัติงาน

- เดินสำรวจถึงอันตรายในสถานที่ปฏิบัติงาน

- ทบทวนข้อมูลความปลอดภัยและอาชีวอนามัยที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในสถานที่ปฏิบัติงานจากแหล่งให้ข้อมูลต่าง ๆ

- ทบทวนข้อมูลจากผู้ตรวจสอบและผลการสืบสวนอุบัติเหตุ

.

ตัวอย่าง การแจกแจงลักษณะและสาเหตุของการบาดเจ็บหรือเจ็บป่วย

.

.

 

.

ในตอนต่อไป เราจะมาว่ากันต่อในเรื่องรายละเอียดของสิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลและการให้บริการ (ติดตามตอนต่อไปได้ในฉบับหน้า)

.

เอกสารอ้างอิง

- First Aid in the Workplace ,Victorian WorkCover Authority Melbourne .

- Introduction to First aid , PARASOL EMT Pty Limited.

- First Aid Procedure , La Trobe University .  

- First Aid , Australian Red Cross Society.    
- ตำราวิชาการ การปฐมพยาบาล โดย ศ.,พล...นายแพทย์อุทัย อุเทนพิพัฒน์