เนื้อหาวันที่ : 2007-05-17 08:26:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1697 views

ปิดฉาก "อีโคคาร์" เมื่อ โฆษิต-ฉลองภพ ขัดคอกันมองต่างมุม

กำลังเป็นที่จับตามองว่าในที่สุดแล้ว โครงการผลิตรถประหยัดพลังงานหรือรถอีโคคาร์(Eco Car )หรือโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานที่ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1000 ซีซี จะได้ข้อสรุปทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ ตามแผนการผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของเอเชีย

กำลังเป็นที่จับตามองว่าในที่สุดแล้ว โครงการผลิตรถประหยัดพลังงานหรือรถอีโคคาร์(Eco Car )จะได้ข้อสรุปทันในรัฐบาลนี้หรือไม่ เพราะหากย้อนกลับไปดูปูมหลังโครงการนี้ เริ่มตั้งไข่มาตั้งแต่ปี 2547 ในรัฐบาล พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ที่พยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ตามแผนการผลักดันให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมยานยนต์ของเอเชีย ( Detriot of Asia ) โดยเป็นรถทางเลือกใหม่ ในชื่อว่าอีโคคาร์( Eco Car) หรือโครงการรถยนต์ประหยัดพลังงานที่ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1000 ซีซี 

.

โครงการดังกล่าวได้ ผ่านการพิจารณาจากรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรมมาแล้วถึง 5 คน ไล่ต้นตั้งแต่นายพินิจ จารุสมบัติ นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล นายวัฒนา เมืองสุข นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ตกหลุมอากาศไปช่วงหนึ่งด้วยข้ออ้างที่ว่าว่าจะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ โดยยกเหตุผลว่าควรจะนำเงินตรงนั้นไปทำโครงการรถไฟฟ้าใต้ดินทั้งที่โครงการถูกกำหนดขึ้นเป็นรูปร่างชัดเจนแล้ว เหลือเพียงแต่ข้อตกลงในประเด็นการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตซึ่งขณะนั้นกำหนดว่าจะผลักดันให้รถอีโคคาร์คลอดได้จะต้องมีอัตราภาษีสรรพสามิตที่รัฐเรียกเก็บต้องไม่เกิน 20% หรืออยู่ในเพดาน 10-15% ถึงจะมีแรงจูงใจให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นมาได้ ประเด็นนี้จึงเป็นที่มาที่ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงการคลังต้องทบทวนเรื่องนี้กันอยู่หลายรอบ

.

กระทั่งมาถึงรัฐบาลสุรยุทธ์ใน ปัจจุบันนายโฆษิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมในฐานะที่เป็นประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนเศรษฐกิจส่วนรวม กำหนดเป้าหมายไว้ชัดเจนว่า พร้อมที่จะขับเคลื่อนการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชน เช่น การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง ที่จ่อคิวลงทุนอยู่แล้วมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท รวมถึงการนำโครงการผลิตรถอีโคคาร์ กลับมาทบทวนใหม่ เพราะคาดว่าจะมีมูลค่าลงทุนทั้งระบบมากกว่า 100,000 ล้านบาท

.

สอดคล้องกับที่ก่อนหน้านั้นท่าทีของภาคเอกชนอย่างค่ายฮอนด้า นิสสัน และซูซูกิ ประกาศขานรับที่จะเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานผลิตรถอีโคคาร์ โดยแต่ละค่ายจะใช้เงินลงทุนก้อนใหม่เข้ามารายละไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท นั่นหมายความว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนตามเข้ามาจำนวน 30,000-40,000 ล้านบาท ภายหลังจากที่รัฐบาลผลักดันโครงการดังกล่าวเกิดขึ้นแล้ว ซึ่งทั้ง3 ค่ายรออยู่ว่า ท้ายที่สุดแล้วอัตราภาษีสรรพสามิตจะออกมาอย่างไร!

.

นายโฆษิต กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องการจะผลักดันให้โครงการผลิตรถอีโคคาร์เกิดขึ้น เพราะแนวโน้มการใช้รถประหยัดพลังงานจะเริ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และประเทศไทยก็เหมาะที่จะเป็นฐานการผลิต และสามารถส่งออกได้เหมือนกับรถปิ๊กอัพ "ทำไมเงื่อนไขถึงกำหนดกำลังผลิตไว้ที่ 100,000 คัน เพราะรู้ว่าขายในประเทศไม่ได้ทั้งหมด ก็จะเป็นการบีบให้ส่งออก ซึ่งสามารถทำได้เพราะรถยนต์ค่ายใหญ่ๆมีเครือข่ายการส่งออกอยู่แล้ว" นายโฆษิตกล่าวตอนหนึ่ง

.

ถึงแม้ว่านายโฆษิตจะออกมาย้ำว่าการผลิตรถอีโคคาร์จะเป็นตัวหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ดูเหมือนว่าปัญหาการกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตที่ไม่ลงตัวในเวลานี้ยังเป็นต้นเหตุหลักที่รัฐบาลไหนก็เข็นไม่ขึ้นเหมือนเช่นเคย ทั้งที่ก่อนหน้านี้ นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้มีการกำหนดอัตราเพดานเบื้องต้นไปแล้วในกรอบที่ต่ำกว่า 20% ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม และผู้ประกอบการมองว่าน่าจะเป็นแรงจูงใจให้โครงการดังกล่าวเกิดขึ้น ก่อนที่ ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะออกมาเบรกด้วยการตั้งคณะทำงานเพื่อพิจรารณาเรื่องภาษีสรรพสามิตใหม่อีกครั้ง โดยให้ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยให้เหตุผลว่าต้องศึกษาผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบ ทั้ง ผู้ประกอบการรถยนต์ทั้งที่ต้องการผลิตอีโคคาร์และผู้ประกอบการที่ไม่ได้ผลิตอีโคคาร์ก่อน

.

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมามีการเรียกกลุ่มผู้ประกอบการจากค่ายรถยนต์ 12 ค่ายเข้าหารือเพื่อรับฟังข้อเสนอแนวทางการปรับลดภาษีสรรพสามิตถึงแนวคิดในการลงทุนผลิตรถประหยัดพลังงานและรับทราบถึงการผลิตรถอีโคคาร์จากผู้ประกอบการเพื่อไม่ให้กระทบกับตลาดรถยนต์ที่มีอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้กระทรวงการคลังระบุว่าไม่จำเป็นต้องเป็นรถยนต์ที่ต่ำกว่า 1,000 ซีซี แต่ยังไม่จำกัดที่ขนาดกระบอกสูบเท่าใดจึงเป็นประเด็นที่ต้องหารือกับเอกชนต่อในขณะนี้

.

ปฎิบัติการครั้งนี้ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์กันวงในว่า โครงการนี้กำลังกลับไปนับหนึ่งใหม่อีกหรือไม่! เมื่อจ้าวกระทรวงการคลังเกิดอาการไม่ไว้ใจคนในสังกัดเดียวกันอย่างนายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยประเด็นนี้กำลังจะถูกโยงไปถึงเมื่อครั้งที่มีการประชุมครม.นัดหนึ่งในช่วงที่นายฉลองภพมานั่งเก้าอีกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังใหม่ๆ นายโฆษิตพูดถึงเรื่องการสนับสนุนรถอีโคคาร์ที่รัฐบาล ให้การสนับสนุนในเชิงนโยบาย ขณะที่ดร.ฉลองภพไม่เห็นด้วยทำให้นายโฆษิต ไม่พอใจเกิดอาการโกรธแบบชนิดที่คนในโต๊ะประชุมคณะรัฐมนตรีบอกว่า ไม่เคยเห็นนายโฆษิตโกรธใครมากขนาดนี้! และเป็นจุดเริ่มต้นของการไม่ลงรอยระหว่างนายโฆษิตกับดร.ฉลองภพในเรื่องอีโคคาร์

.

สำหรับมุมมองของ นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ถ้า (กระทรวงการคลัง) ลดภาษีสรรพสามิตให้ 20 % เท่ากับไม่มีแรงจงใจ เขายังบอกด้วยว่าโครงการอีโคคาร์ของอินเดียเก็บภาษีสรรพสามิต 16 %

.

นอกจากนี้การเรียกบริษัทเอกชนจากค่ายรถยนต์เข้า พบหลายต่อหลายครั้ง ยิ่งสร้างความสงสัยให้กับค่ายรถยนต์ข้ามชาติเป็นอย่างมาก เพราะการเข้าพบหารือร่วมกับรัฐบาลครั้งแล้วครั้งเล่าก็จะอยู่ในมุมเดิม ทั้งการพบกันในประเทศไทยและที่ประเทศญี่ปุ่น จนถึงขนาดมีเสียงนินทาจากทุนญี่ปุ่นบางกลุ่มลับหลังว่า รัฐบาลไทยไม่มีทิศทาง ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้โดยเฉพาะความชัดเจนในโครงการผลิตรถอีโคคาร์ที่ยืดเยื้อมาจนถึงขณะนี้

.

รวมถึงการตั้งข้อสังเกตว่าโครงการอีโคคาร์ไม่คืบหน้า เพราะค่ายโตโยต้าผู้ลงทุนรายใหญ่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งเพราะเกรงว่าจะกระทบกับ โครงการประกอบรถขนาด 1500 ซีซีของตน และเป็นที่ทราบกันว่าในขณะที่ผู้ผลิตรถค่ายอื่นมีโครงการผลิตรถยนต์ขนาดเครื่องยนต์ต่ำกว่า 1000 ซีซีอยู่แล้วจึงพร้อมขยับการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยหากมีโครงการอีโคคาร์ ซึ่งต่างจากโตโยต้าที่ไม่ผลิตรถขนาคดังกล่าวมีแต่เพียงกิจการในเครือ ไดฮัทสุ ที่ผลิตรถยนต์ขนาด 600-1000 ซีซี

.

ต่อประเด็นดังกล่าว นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงการคลังยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นการลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล ( อีโคคาร์) ว่า เนื่องจากขณะนี้ภาคเอกชนเองก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันเป็น 2 ด้านทั้งด้านที่ต้องการผลิตรถอีโคคาร์และไม่ต้องการผลิตรถดังกล่าวโดยกระทรวงการคลังเองก็ต้องฟังเหตุผลทั้งสองข้างประกอบกับพิจารณาผลกระทบในการคำนวณรายได้ภาษีและนำมาชั่งน้ำหนักเพื่อหาทางออกที่เหมาะสม

.

อย่างไรก็ดีหากรัฐบาลสุรยุทธ์ไม่ตัดสินใจคลอดโครงการอีโคคาร์ มีความเป็นไปได้สูงว่าโครงการนี้จะหายไปจากสาระบบอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยตลอดกาล เพราะช่วงเวลาที่ทอดยาวออกไปเพื่อรอให้รัฐบาลใหม่นำมาทบทวนอีกที ค่ายรถที่พร้อมสำหรับโครงการนี้คงหาที่ทาง ลงทุนในหลายประเทศที่เริ่มโครงการทำนองเดียวกันแทน หรืออนุมัติโครงการแต่ยืนอัตราภาษีสรรพสามิตไว้ ที่ 20 % โครงการอีโคคาร์ก็จะล้มโดยปริยาย เพราะอัตราภาษีดังกล่าวไม่จูงใจค่ายรถยนต์ที่ต้องลงทุนนับหมื่นล้าน และหากโครงการอีโคคาร์ที่ผ่านมาถึง 2 รัฐบาล ล้มลงไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทฤษฎีที่ว่า เป็นเพราะอิทธิพลของค่ายรถยนต์ใหญ่อย่างโตโยต้าย่อมได้รับความเชื่อถือมากยิ่งขึ้นทันที

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ