เนื้อหาวันที่ : 2012-10-03 16:21:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1651 views

สำนักโลจิสติกส์ผลักดันไอที เสริมแกร่งผู้ประกอบการไทยรับ AEC

ตั้งเป้าเชิงรุก ใช้ไอทีเสริมบริหารจัดการ ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถ พร้อมเดินหน้า 30 โครงการ ต่อยอดความร่วมมืออุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งเป้าดึงผู้ประกอบการ 400 รายเข้าร่วม พร้อมลดต้นทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

สำนักงานโลจิสติกส์ ตั้งเป้าเชิงรุกหนุนผู้ประกอบการไทยใช้ไอทีเสริมบริหารจัดการ ลดต้นทุน เพิ่มขีดความสามารถแข่งขันรับมือ AEC พร้อมเดินหน้า 30 โครงการ ต่อยอดความร่วมมืออุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตั้งเป้าดึงผู้ประกอบการ 400 รายเข้าร่วม พร้อมลดต้นทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

นายธวัช ผลความดี รองอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แผนเชิงรุกของสำนักโลจิสติกส์ในปี 56 จะผลักดันให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยมีการวางแผนและบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ โดยนำระบบไอที มาเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพให้มีความแพร่หลาย เป็นการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อรับมือการเปิดเสรีการค้า หรือ AEC

ทั้งนี้ สำนักโลจิสติกส์ได้ตั้งเป้าว่าภายในปี 56 จะมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการต่างๆ รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 400 ราย ลดต้นทุนบริหารจัดการในภาพรวมไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท ซึ่งโครงการต่างๆ จะเน้นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเมื่อถึงเวลาเปิด AEC ในอีก 3 ปีข้างหน้า ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยต้องมีความแข็งแกร่งและได้เปรียบในจุดนี้ ต้องมีประสิทธิภาพที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนลดลง

ดังนั้นทางสำนักโลจิสติกส์ ในสังกัด กพร. จึงได้เร่งเดินหน้าโครงการมากกว่า 30 โครงการในปี 56 โดยใช้งบประมาณ 135 ล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนนโยบายสนับสนุนผู้ประกอบการให้มีการวางแผนจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเน้นใน 3 กลยุทธ์หลัก คือ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ ทั้งด้านเทคโนโลยี โดยการนำระบบไอทีเข้าไปใช้งาน การพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือต่างๆ

กลยุทธ์ต่อมา ซึ่งจะเป็นหัวใจหลักที่ต้องเร่งส่งเสริมมากขึ้น คือ ความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรม โดยจะนำระบบไอทีมาเชื่อมโยงข้อมูล การใช้ระบบไอทีดูแลระบบสินค้าคงคลัง และการสร้างมาตรฐานทางอุตสาหกรรม กลยุทธ์ที่ 3 คือ การสนับสนุนช่วยเหลือผู้ประกอบการต้นน้ำ โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ให้มีมาตรฐานและประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

นางอนงค์ ไพจิตรประภาภรณ์ ผู้อำนวยการสำนักโลจิสติกส์ (กพร.) กล่าวว่า โครงการปี 55 ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 355 ราย สามารถลดต้นทุนบริหารจัดการได้กว่า 1,600 ล้านบาท โดยใช้งบประมาณ 85 ล้านบาท มีโครงการเด่นๆ เช่น โครงการ ebXML สร้างระบบส่งข้อมูลมาตรฐานระหว่างกัน โครงการ backhaul บริหารจัดการขนส่งรถเที่ยวเปล่า ซึ่งโครงการต่างๆ ได้ดำเนินการต่อในปี 56 เพื่อต่อยอดถึงความสำเร็จ

สำหรับในปี 56 สำนักโลจิสติกส์จะให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโดยใช้ระบบไอทีเพื่อให้การวางแผนและบริหารจัดการโลจิสติกส์เป็นไปแบบมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นการลดข้อผิดพลาดและลดการใช้งานแรงงานคนในส่วนที่ไม่จำเป็น เนื่องจากปัจจุบันมีการเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ ซึ่งจะมีผลต่อต้นทุนในอุตสาหกรรม การใช้ระบบไอทีจะมีส่วนช่วยได้มาก

หากมีความร่วมมือกันระหว่างอุตสาหกรรมต้นน้ำถึงปลายน้ำ จะทำให้การวางแผนการดำเนินงานทั้งระบบง่ายขึ้น เช่น หากทราบว่าอุตสาหกรรมปลายน้ำจะผลิตสินค้าจำนวนเท่าใด ธุรกิจต้นน้ำก็สามารถจัดเตรียมวัตถุดิบได้อย่างเพียงพอกับความต้องการ การบริหารคลังสินค้าและจัดส่งวัตถุดิบก็ทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดการรวมกลุ่มในอุตสาหกรรมเดียวกันมากขึ้น

สำนักโลจิสติกส์จะผลักดันให้ผู้ประกอบการขนาดใหญ่ที่มีระบบโลจิสติกส์ดีเป็นมาตรฐาน ให้ความรู้และช่วยเหลือผู้ประกอบการระดับเอสเอ็มอีในการพัฒนาระบบและขีดความสามารถมากขึ้น ซึ่งจะมีส่วนช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมในภาพรวม” นางอนงค์ กล่าว

นอกจากนี้ สำนักโลจิสติกส์ ได้เปิดงานวิน-วิน ที่ดำเนินการมาเป็นปีที่ 3 แล้ว เน้นสร้างเครือข่ายความร่วมมือและกระชับความสัมพันธ์โดยดึงให้ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการต่างๆ ของสำนักโลจิสติกส์ตลอดทั้งปีมาเข้าร่วม ทั้งเพื่อชักชวนให้มีการเข้าร่วมโครงการอื่นๆ ในปีต่อไปและสร้างความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบโลจิสติกส์

สำหรับในงานมีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่เป็นต้นแบบที่ดี เช่น บริษัท Imco Pack Corporation จำกัด ตัวแทนจากอุตสาหกรรมอาหาร บริษัท มิกาซ่า อินดัสตรีส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ตัวแทนจากอุตสาหกรรมสิ่งทอ บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด ตัวแทนจากอุตสาหกรรมเกษตร และบริษัท ซีเอชโอโตพาร์ต จำกัด ตัวแทนจากอุตสาหกรรมยานยนต์ มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์ในการบริหารจัดการโลจิสติกส์อย่างมีประสิทธิภาพ