เนื้อหาวันที่ : 2012-10-01 09:13:46 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2552 views

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ดึงสมาชิกประสานเสียงดันมาตรการรับ AEC

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนเสนอต่อรัฐบาล เน้นประเด็นการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จัดทำแผนปฏิบัติการเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียนเสนอต่อรัฐบาล เน้นประเด็นการสนับสนุนการลงทุนในต่างประเทศ และปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งส่งเสริมการออกพันธบัตรสกุลเงินบาท การควบรวมกิจการ และพัฒนาตลาดหลักทรัพย์อินโดจีน เพื่อแสดงจุดยืนและแนวทางที่ชัดเจนของตลาดทุนไทยในการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซียนปี 2558

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (สธท.) เปิดเผยว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อก้าวเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในปี 2558 ประเทศไทยต้องมียุทธศาสตร์ที่ชัดเจน เพื่อปูทางสู่โอกาสทางธุรกิจและสามารถแข่งขันในระดับสากลได้ ซึ่งจะทำให้ตลาดทุนไทยน่าจับตามองมากขึ้น และยังเป็นโอกาสในการขยายการลงทุนเชื่อมโยงในระดับภูมิภาคและต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วยองค์กรสำคัญในตลาดทุน เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ซึ่งภายหลังจากที่มีการประชุมเชิงปฏิบัติการร่วมกับภาคเอกชน 5 สถาบัน จึงนำมาสู่ข้อเสนอเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน โดยในการจัดทำมาตรการในครั้งนี้ สธท. ได้รับความร่วมมือจากสมาชิกเป็นอย่างดีในการจัดเตรียมข้อมูล โดยสภาธุรกิจตลาดทุนไทยจะนำเสนอมาตรการต่าง ๆ ต่อสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนต่อไป

ข้อเสนอเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน ประกอบไปด้วย 5 เรื่องหลัก ดังนี้
1. การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ
- ขอให้ภาครัฐเข้ามาให้การสนับสนุนด้านข้อมูลการลงทุนโดยจัดให้มีหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบเรื่องการให้ข้อมูลงานวิจัยเรื่องต่างๆ ให้คำปรึกษาและข้อมูลเชิงลึกเรื่องการไปลงทุนในต่างประเทศ ช่วยแก้ปัญหา และแนะนำ Local Connections รวมทั้งฝึกอบรมเพิ่มศักยภาพนักลงทุนก่อนไปลงทุนต่างประเทศ

 - การสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐบาล สำหรับบริษัทขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ในด้านการประกันความเสี่ยงและสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สำหรับ SMEs ไทยที่สนใจลงทุนในอาเซียน

- การปรับปรุงอัตราการจัดเก็บภาษีทั้งระบบ เพื่อลดปัญหาการเสียภาษีที่ซ้ำซ้อนและเสียในอัตราที่สูง รวมทั้งปัญหาการไม่ยอมรับเอกสารที่เกิดขึ้นในต่างประเทศของกรมสรรพากร โดยขอให้ภาครัฐให้การสนับสนุนมาตรการทางภาษี ได้แก่ การส่งเสริมให้มี Holding Company ของไทย โดยสามารถยกเว้นภาษีเงินได้จากต่างประเทศทั้งในรูปเงินปันผล และ Capital gain จากประเทศที่บริษัทไทยจะไปลงทุน รวมทั้งขอให้รัฐบาลช่วยเจรจายกเว้นภาษีเงินได้ และภาษีหัก ณ ที่จ่าย Withholding Tax จากเงินปันผล ดอกเบี้ยและ ค่าธรรมเนียมการบริหารจัดการกับประเทศที่ไทยจะเข้าไปลงทุนด้วย

- การคุ้มครองการลงทุนของธุรกิจไทยในต่างประเทศ โดยขอให้ภาครัฐเร่งรัดจัดทำข้อตกลงเพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน กรณีผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในอาเซียน โดยระดมความคิดเห็นจากกลุ่มผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์การลงทุนในต่างประเทศเพื่อให้ความรู้ รวบรวมปัญหาอุปสรรค และแนวทางในการดำเนินการเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลอ้างอิงสำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการไปลงทุนในต่างประเทศต่อไป

2. การปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานของธุรกิจ (Corporate Matters)
การปรับปรุงมาตรฐานการดำเนินงานของบริษัท (Corporate Matters) เป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยลดอุปสรรคในการดำเนินงานในหลายๆ ด้าน ได้แก่
1. ขอให้มีการประกาศแนวปฏิบัติเรื่องการประชุมคณะกรรมการบริษัทได้โดยไม่ต้องมาเข้าร่วมประชุมด้วยตนเอง สามารถใช้ Teleconference ได้
2. ขอให้ประกาศแนวปฏิบัติเรื่องการติดต่อสื่อสารกับผู้ถือหุ้นให้ทันต่อความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มความสะดวกและประหยัดในการสื่อสารและส่งข้อมูล เช่น การส่งหนังสือเชิญประชุมทางอีเมล์ การส่งรายงานประจำปีเป็น CD และ
 3. เรื่องความไม่สอดคล้องของ พ.ร.บ. หลักทรัพย์ฯ และ พ.ร.บ. มหาชน ในหลายมาตรการเกี่ยวกับการดำเนินงานของบริษัท ขอให้เร่งรัดการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวให้รวดเร็ว เพื่อรองรับการเปิดเสรีอาเซียนด้วย

 3. การส่งเสริมการออกพันธบัตรสกุลเงินบาท (Baht Bond)
เรื่องการส่งเสริมการออกพันธบัตรสกุลเงินบาท (Baht Bond) จะช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในอาเซียนและเป็นการต่อยอดการค้าการลงทุนระหว่างประเทศ จึงควรส่งเสริมให้รัฐบาล รัฐวิสาหกิจตลอดจนบริษัทที่มีศักยภาพในอาเซียนให้ออก Baht Bond ในไทยมากขึ้น โดยอาจให้ธนาคารของรัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกัน ซึ่งจะช่วยลดภาระต้นทุน รวมทั้งเน้นการให้ข้อมูล สร้างความเข้าใจให้กับกลุ่มนักลงทุนในต่างประเทศที่มีความสนใจ

ทั้งนี้ จำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงการคลัง รวมถึงแก้ไขประกาศของสำนักงาน ก.ล.ต. ที่เกี่ยวข้อง โดยขอให้อนุญาตให้ผู้ออกตราสารหนี้ที่ยังไม่มีอันดับความน่าเชื่อถือสามารถเสนอขายตราสารหนี้ให้แก่นักลงทุนได้ แต่ให้จำกัดอยู่ในกลุ่มนักลงทุนที่มิใช่รายย่อย (Accredit Investors) เท่านั้น

4. การส่งเสริมการควบรวมกิจการ
ขอให้ภาครัฐช่วยเร่งรัดการพิจารณายกร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมการควบรวมกิจการในตลาดทุน โดยขอให้แล้วเสร็จก่อนปี 2558 ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจเพื่อรองรับการเปิดเสรีที่จะมาถึง รวมทั้งควรมีการให้ความรู้เชิงลึกกับผู้ประกอบการที่มีความสนใจในการควบรวมกิจการ แนวทางในการเตรียมความพร้อมในเรื่องที่เกี่ยวข้องด้วย

5. การสนับสนุนการพัฒนาตลาดหลักทรัพย์อินโดจีน
แนวทางที่จะดำเนินการ ได้แก่ การส่งเสริมให้มีบริษัทต่างประเทศเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย การให้การสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนในประเทศเพื่อนบ้าน จัดทำบันทึกความเข้าใจ MOU ระหว่างตลาดหลักทรัพย์เพื่อนบ้าน เช่น ลาว เวียดนาม พม่า เป็นต้น นับเป็นมาตรการที่ช่วยเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดหลักทรัพย์ประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้ง ยังส่งเสริมให้มีการระดมทุนและการลงทุนระหว่างกันให้มากยิ่งขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพและการเติบโตของตลาดทุนและการค้าการลงทุนในภูมิภาคให้มากขึ้นต่อไป

นายไพบูลย์กล่าวเสริมว่า มิใช่เพียงภาคธุรกิจของไทยที่ต้องเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์สำหรับการดำเนินธุรกิจในระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ทว่า หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง นับเป็นตัวจักรสำคัญที่ต้องเตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์ในระดับสากลไว้รองรับด้วยเช่นกัน เพื่อให้ทุกภาคส่วนมองภาพใหญ่ในทิศทางที่สอดคล้องและสนับสนุนซึ่งกันและกัน

 “นับจากนี้ การแข่งขันของภาคธุรกิจ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในประเทศอีกต่อไป แต่จะเป็นการแข่งขันในเวทีระดับสากล อยากให้ใช้เวทีประชาคมอาเซียนเป็นก้าวแรกของการมียุทธศาสตร์ในระดับสากล ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยสามารถยกระดับขึ้นไปอีกขั้น เพื่อพร้อมที่แข่งขันกับธุรกิจข้ามชาติได้อย่างทัดเทียม” นายไพบูลย์กล่าวทิ้งท้าย