เนื้อหาวันที่ : 2007-05-16 17:20:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3658 views

ส.อ.ท. ประกาศตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง

ส.อ.ท.ตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงเป็นลำดับที่ 71 หลังสถาปนาจับมือภาครัฐนำยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด “เมืองหลักการเกษตร ก้าวหน้า และยั่งยืน” กำหนดแผนงานเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งแก่ระบบเศรษฐกิจจังหวัด

ส.อ.ท.ตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงเป็นลำดับที่ 71 หลังสถาปนาจับมือภาครัฐนำยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัด เมืองหลักการเกษตร ก้าวหน้า และยั่งยืนกำหนดแผนงานเพื่อเพิ่มความเข้มแข็งแก่ระบบเศรษฐกิจจังหวัด

.

นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เป็นประธานในพิธีสถาปนาสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำดับที่ 71 ณ ชายหาดแสนสุขลำปำ อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนต่างๆ ได้แก่ นายสุเทพ โกมลภมร ผู้ว่าราชการจังหวัดพัทลุง นายอุดมเดช นิ่มนวล อุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง  และนายทวี ปิยะพัฒนา ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้

.

ทั้งนี้ นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมฯ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดว่า เนื่องจากสภาอุตสาหกรรมฯ เชื่อมั่นว่า ความเจริญก้าวหน้าของเศรษฐกิจประเทศและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนในท้องถิ่น จะเกิดขึ้นได้ขึ้นอยู่กับความเข้มเข็งของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในภูมิภาคนั้นๆ เป็นสำคัญ ทำให้ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา สภาอุตสาหกรรมฯ ได้พยายามสนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนรวมตัวกันจัดตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขึ้น เป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการในท้องถิ่นให้เหมาะสมกับคุณลักษณะเฉพาะตัวของวิถีการดำเนินธุรกิจของท้องถิ่นนั้นๆ และมีความสอดคล้องกับนโยบายของส่วนกลาง ซึ่งในขณะนี้ภาครัฐกำลังเร่งผลักดันให้ทุกจังหวัดในภูมิภาคต่างๆ เร่งสร้างความเข้มแข็งด้านเศรษฐกิจและสังคมแก่ประชาชนในพื้นที่ โดยให้แต่ละจังหวัดกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สอดรับกับทรัพยากรธรรมชาติ ภูมิปัญญา และความต้องการของประชากรในท้องถิ่น  ควบคู่กับปรับรูปแบบการบริหารงานของจังหวัดให้มีความคล่องตัวและเป็นเอกเทศในการบริหารราชการมากขึ้นกว่าเดิม เพื่อให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนเป็นไปด้วยความสะดวก ส่งผลให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนต้องปรับตัวและทำความเข้าใจต่อรูปแบบบริหารงานใหม่ของจังหวัด ขณะเดียวกันภาคเอกชนท้องถิ่นเองก็มีภารกิจต้องประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการระดับภูมิภาค เพื่อร่วมกันผลักดันให้โครงการต่างๆ ตามยุทธศาสตร์พัฒนาจังหวัดของตนเอง และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ได้วางไว้

.

ดร.นิพนธ์ สุรพงษ์รักเจริญ รองประธานสภาอุตสาหกรรมฯ เปิดเผยว่า คณะผู้ก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง มีทั้งหมด 18 คน มีนายเล็ก อังศุวารี เป็นประธานคณะผู้ก่อตั้ง ซึ่งภายหลังจากการเสร็จสิ้นการเลือกตั้งประธานและกำหนดคณะกรรมสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สภาอุตสาหกรรมฯ จะเร่งให้สภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงประสานความร่วมมือกับหน่วยงานราชการในท้องถิ่น เพื่อดำเนินกิจกรรมที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในพื้นที่ ทั้งด้านการค้า การลงทุนและการบริการ ควบคู่กับการส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในจังหวัดให้ทัดเทียมกับภูมิภาคอื่นและคงไว้ซึ่งความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติในท้องถิ่น

.

ด้านนายเล็ก อังศุวารี ประธานคณะผู้ก่อตั้งสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงกล่าวเพิ่มเติมถึงแผนงานตามกรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดที่ภาคเอกชนจะประสานความร่วมมือกับภาคราชการผลักดันให้เห็นผลสำเร็จเป็นรูปธรรมโดยเร็วว่า จากศักยภาพที่โดดเด่นของจังหวัด ด้านการเกษตรซึ่งมีพืชสำคัญทางเศรษฐกิจหลายชนิดที่มีศักยภาพในการผลิตเพื่อส่งออก เช่น ยางพารา ข้าว ผลไม้ ทุเรียน มังคุด ส้มโอ และพืชผักต่างๆ จึงมีแผนงานจะผลักดันให้จังหวัดเป็นแหล่งผลิตอาหารและแปรรูปสินค้าเกษตรปลอดภัย เพื่อสนับสนุนศูนย์อาหารฮาลาล พร้อมทั้งการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงนิเวศ เนื่องจากจังหวัดพัทลุงมีสถานที่ท่องเที่ยวตามธรรมชาติที่คงความสมบูรณ์ เช่น เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำโลกแห่งแรกของประเทศไทย อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเทือกเขาบรรทัด รวมทั้งมีความหลากหลายทางศิลปวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่น หนังตะลุง ประเพณีแข่งโพน

.

สำหรับแผนงานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการภาคธุรกิจอุตสาหกรรมของจังหวัดพัทลุง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก เช่น โรงงานแปรรูปไม้ยางพารา โรงสีข้าว ธุรกิจค้าวัสดุก่อสร้าง โรงผลิตภัณฑ์นม เหมืองแร่ ซึ่งภายหลังจากได้เลือกตั้งกรรมการและประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุงเรียบร้อยแล้ว จะเร่งจัดตั้งคณะทำงานเพื่อประชุมระดมสมองวางแนวทางแก้ไขปัญหาของภาคอุตสาหกรรมและท้องถิ่นควบคู่กันไปด้วย ทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ปัญหาการขาดการพัฒนาแหล่งน้ำ และการวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งต่อภาคอุตสาหกรรมและประชาชนทั่วไป เพื่อประมวลแนวทาง   แก้ไขปัญหาและเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป