เนื้อหาวันที่ : 2012-09-21 11:42:31 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1810 views

ก.คมนาคม เสวนาแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่ง รองรับ AEC

กระทรวงคมนาคม จัดเสวนาแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง เพื่อสร้างอนาคตของประเทศไทยและรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน

กระทรวงคมนาคมจัดเสวนา “โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556 – 2563” เพื่อวางรากฐานการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจในระยะยาว สนับสนุนการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ พร้อมรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน ในปี 2558

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดงานเสวนา “โครงการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้และร่วมรับฟังความคิดเห็นของสาธารณชนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556 – 2563” ในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน 2555 ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการมีส่วนร่วม สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ เพื่อยกระดับความสนใจของประชาชนต่อแผนการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของประเทศ และจัดทำรายงานการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ที่มีต่อแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อประกอบการจัดทำร่างพระราชบัญญัติลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศต่อไป

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวว่า ตามนโยบายของรัฐบาลที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2554 ได้ให้ความสำคัญต่อการดำเนินงานต่าง ๆ ของกระทรวงคมนาคม ได้แก่ การพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง เร่งรัดโครงการรถไฟฟ้า 10 สายทาง โดยเก็บค่าบริการ 20 บาทตลอดสาย พัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี และพัฒนาท่าอากาศยานสากล ท่าอากาศยานภูมิภาค และอุตสาหกรรมการบินของไทย พร้อมทั้งรองรับการเข้าร่วมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี พ.ศ. 2558  โดยรัฐบาลได้จัดทำแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ พ.ศ. 2556 – 2563 วงเงินลงทุน 2 ล้านล้านบาท ครอบคลุมทั้งการขนส่งทางถนน ทางราง ทางน้ำ และทางอากาศ เพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจในอีก 10-15 ปีข้างหน้า โดยแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ส่วนใหญ่เป็นโครงการด้านคมนาคมขนส่ง อันส่งผลดีต่อการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ซึ่งแผนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานฯ ดังกล่าวเป็นโครงการระยะยาวที่มีผลกระทบต่อประชาชนในทุกภาคส่วน ดังนั้น การดำเนินงานตามแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ จึงจำเป็นต้องสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และสร้างความตื่นตัวของประชาชนในพื้นที่ เพื่อยกระดับความสนใจของประชาชนต่อแผนการลงทุนขนาดใหญ่ของประเทศ รวมทั้งสำรวจความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง และมีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานฯ ที่จะเกิดในแต่ละภูมิภาค

สำหรับการรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน ในปี 2558 ในส่วนของกระทรวงคมนาคม จำเป็นต้องพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งทุกด้านให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยตั้งเป้าหมายที่จะมุ่งลดสัดส่วนต้นทุนโลจิสติกส์ของไทย จากปัจจุบันร้อยละ 17.9 ต่อ GDP ให้ลดลงเหลือร้อยละ 2 ภายในระยะเวลา 5 ปี ทั้งนี้ในส่วนความรับผิดชอบของกระทรวงคมนาคม จะเป็นสัดส่วนของต้นทุนภาคการขนส่งประมาณร้อยละ 8.7 ซึ่งการดำเนินโครงการทุกโครงการจะต้องส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการขนส่ง จากปัจจุบันที่มีการขนส่งในภาคทางบกสูงถึงร้อยละ 86 ภาคการขนส่งทางน้ำร้อยละ 12 ภาคการขนส่งทางรางร้อยละ 2 และภาคการขนส่งทางอากาศร้อยละ 0.02 จะต้องส่งเสริมให้มีการขนส่งทางน้ำและทางรางเพิ่มสูงขึ้น โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องเพิ่มสัดส่วนการขนส่งทางน้ำเป็นร้อยละ 14 และการขนส่งทางรางร้อยละ 4

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจังหวัดในภาคตะวันออก เฉียงเหนือที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจทางภาคอีสาน เนื่องจากเป็นจังหวัดเศรษฐกิจชายแดนไทย – ลาว มีมูลค่ารวม 111,020 ล้านบาท ในปี พ.ศ. 2554 มีการไปมาหาสู่กันด้านการค้า การท่องเที่ยวระหว่างไทย – ลาว ผ่านทางด่านพรมแดนช่องเม็ก – วังเต่า จังหวัดอุบลราชธานี เป็นจำนวนมาก ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวต้องปรับตัวเพื่อรองรับการเป็นประชาคมเศรษฐกิจเสรีอาเซียน ในปี 2558 โดยผลักดันให้มีการพัฒนาและการลงทุนระบบคมนาคมขนส่ง พัฒนาระบบขนส่งและโลจิสติกส์ในภูมิภาคและเชื่อมโยงกับโครงข่ายคมนาคมกับประเทศเพื่อนบ้านตามแนวเศรษฐกิจ ปรับปรุงระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งสินค้าข้ามแดนในพื้นที่บริเวณชายแดนที่สำคัญ ได้แก่ ด่านหนองคาย แม่สอด มุกดาหาร สระแก้ว ด่านสิงขร และช่องเม็ก

กระทรวงคมนาคมมีภารกิจในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่ง จึงได้จัดเสวนาฯ เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และสำรวจความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งประชาชนในระดับท้องถิ่นต่อแผนลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบคมนาคมขนส่ง พ.ศ. 2556 – 2563 และนำผลที่ได้จากการสำรวจความคิดเห็นในครั้งนี้ มาใช้วิเคราะห์ปัญหาและโอกาสของโครงการต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน รวมทั้งเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศต่อไป