เนื้อหาวันที่ : 2007-05-16 13:15:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1638 views

ยอดผู้ประกันตนประสบอันตรายจากการทำงาน 3 เดือนเกือบห้าหมื่น

สำนักงานประกันสังคม เผยยอดผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายจาการทำงานตั้งแต่เดือน ม.ค.-มี.ค 50 พร้อมแนะลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ จะได้รับเงินค่าทดแทนแล้วสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงาน

"สำนักงานประกันสังคม เผยยอดผู้ประกันตนที่ประสบอันตรายจาการทำงานตั้งแต่เดือนม.ค.-มี.ค 50 พร้อมแนะลูกจ้างใช้สิทธิกองทุนเงินทดแทน ลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ"

 .

นายสุรินทร์ จิรวิศิษฎ์  เลขาธิการประกันสังคม  กล่าวถึงสถิติผู้ประสบอันตรายเนื่องจาก  การทำงานตั้งแต่เดือน มกราคม มีนาคม 2550 รวมจำนวนทั้งสิ้น48,485 รายโดยแบ่งเป็นตาย 212 ราย ทุพพลภาพ 3 ราย สูญเสียอวัยวะบางส่วน177 ราย หยุดงานเกิน 3 วัน 12,516 ราย และหยุดงานไม่เกิน 3 วัน 35,577 ราย

 .

ทั้งนี้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยจากการทำงานให้กับนายจ้างจะได้รับเงินทดแทนจากกองทุนเงินทดแทน โดยสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลเท่าที่จ่ายตามจริงแต่ไม่เกิน 35,000 บาท หากเจ็บป่วยรุนแรงสามารถเบิกจ่ายเพิ่มได้ตามความจำเป็นแต่ไม่เกิน 200,000 บาท กรณีที่ลูกจ้างต้องหยุดพักรักษาตัว จะได้รับเงินค่าทดแทนซึ่งคิดจาก 60% ของค่าจ้างต่อเดือนตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด  โดยจะได้รับเป็นรายเดือนเป็นระยะเวลาไม่เกิน 12 เดือน (ทั้งนี้ต้องหยุดงานติดต่อกันเกิน 3 วัน)

 .

สำหรับลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะหรือทุพพลภาพ นอกจากจะได้รับเงินค่าทดแทนแล้วยังสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงานได้ที่ศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพคนงานที่จังหวัดปทุมธานีหรือจังหวัดระยอง รวมถึงเงินค่าทดแทนจากการสูญเสียอวัยวะซึ่งลูกจ้างจะได้รับการประเมินโดยแพทย์  เมื่อสิ้นสุดการรักษาและพยาธิสภาพคงที่แล้ว ส่วนลูกจ้างที่เสียชีวิตผู้มีสิทธิตามมาตรา 20 ของ พ.ร.บ. เงินทดแทน 2537 ได้แก่บิดา มารดา สามี หรือภรรยา บุตรที่มีอายุต่ำกว่า18ปี เว้นแต่เมื่อมีอายุครบ 18 ปีและยังศึกษาอยู่ในระดับไม่สูงกว่าปริญญาตรี/บุตรที่มีอายุตั้งแต่18 ปีและทุพพลภาพหรือจิตฟั่นเฟือน ไม่สมประกอบซึ่งอยู่ในอุปการะของลูกจ้างก่อนตาย จะได้รับเงินค่าทดแทนตามกฎหมายเป็นรายเดือน เป็นระยะเวลา 8 ปี และผู้จัดการศพจะได้รับค่าทำศพ 19,100 บาท (ร้อยเท่าของค่าจ้างรายวันขั้นต่ำ)