เนื้อหาวันที่ : 2012-09-21 10:35:38 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2549 views

อุตฯ เหล็กอาเซียนโต 3.0-5.5% ไทยปรับตัวสู้ก่อนเปิด AEC ปี 2558

ราคาเหล็กในประเทศค่อนข้างมีความผันผวนสูงจากราคาตลาดโลก บวกกับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ในประเทศ

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานแนวโน้มตลาดเหล็ก โดยคาดว่า การส่งออกเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กของไทยไปยังตลาดอาเซียนในปี 2555 อาจมีมูลค่าประมาณ 57,5000-59,000 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 3.0-5.5 ซึ่งเป็นผลมาจากการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ อาทิ ถนน เขื่อนสร้างพลังงานไฟฟ้าจากน้ำ และระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น

ปริมาณความต้องการใช้เหล็กในกลุ่มอาเซียน คาดว่าจะอยู่ที่ไม่น้อยกว่า 55.5-56.5 ล้านเมตริกตันในปี 2555 ขยายตัวร้อยละ 4-6 จากปีก่อน ในปี 2556 ตลาดอาเซียนยังคงมีอุปสงค์เหล็กเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 5.0-6.5 ของปริมาณใช้เหล็กในปีนี้ เนื่องจากการขยายตัวของโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในไทย พม่า เวียดนาม และอินโดนีเซียเป็นหลัก

รวมทั้งยังมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่มีความต้องการใช้เหล็กสูง อาทิ กลุ่มยานยนต์ แม้ว่าประเทศไทยจะไม่มีอุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำ แต่เมื่อเปรียบเทียบในกลุ่มอาเซียน พบว่าอุตสาหกรรมเหล็กของไทยยังคงมีศักยภาพสูง เพราะมีการผลิตและส่งออกเหล็กเป็นอันดับต้นๆ ของอาเซียน ซึ่งมีความได้เปรียบทางด้านคุณภาพ

นอกจากนี้ ภายในประเทศยังมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่เข้ามาช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมเหล็กในไทยให้เติบโต อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกล และภาคการก่อสร้าง เป็นต้น จึงคาดว่าไทยยังคงขยายการส่งออกไปยังตลาดอาเซียนได้อยู่

พร้อมกันนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังแนะนำให้อุตสาหกรรมเหล็กไทยเตรียมพร้อมขยายตลาดอาเซียน และรับมือการเปิดเสรีประชาคมอาเซียน (AEC) ในปี 2558 อาจมีแนวทางปรับตัวดังนี้

1.เนื่องจากราคาเหล็กในประเทศค่อนข้างมีความผันผวนสูงจากราคาตลาดโลก บวกกับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ในประเทศ ดังนั้นผู้ประกอบการจึงควรหาวิธีบริหารจัดการสต๊อกสินค้าให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อควบคุมความเสี่ยง

2.ผู้ประกอบการควรเตรียมจัดหาแหล่งเงินทุนสำรองไว้ เพื่อเพิ่มสภาพคล่องและกันไว้ขยายการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์เหล็กที่อุปสงค์มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภค 3.พลังงานเชื้อเพลิงหลัก คือ ถ่านหิน จัดว่ามีต้นทุนสูงมาก จึงควรเริ่มวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ทดแทน

4.ผู้ผลิตเหล็กขั้นปลายกับขั้นกลางควรสร้างพันธมิตรด้านการผลิตเหล็กมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อขายเศษเหล็กในประเทศ และ 5.ควรมีกระบวนการคัดแยกประเภทเศษเหล็ก ทั้งที่นำเข้าและซื้อจากผู้ประกอบการในประเทศ ก่อนเข้าขั้นตอนการผลิตเพื่อควบคุมคุณภาพ