เนื้อหาวันที่ : 2012-09-20 10:25:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1756 views

รู้จักจีน รู้จักซีอาน (ตอนที่ 2) ลู่ทางสินค้าไทยในซีอาน

ยุทธศาสตร์ของจีนในการใช้เมืองซีอานเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาพื้นที่ตอนในซีกตะวันตกของประเทศซึ่งปัจจุบันยังล้าหลัง

ยุทธศาสตร์ของจีนในการใช้เมืองซีอานเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาพื้นที่ตอนในซีกตะวันตกของประเทศซึ่งปัจจุบันยังล้าหลัง ทำไมจีนถึงยังไม่ยอมรับว่าประเทศขึ้นชั้นเป็นประเทศพัฒนาแล้ว นั่นเป็นเพราะเป้าหมายของจีนคือทั่วทั้งประเทศจะต้องมีความเจริญในระดับที่ไม่มีช่องว่างระหว่างกันมากเหมือนปัจจุบันที่คนเมืองมีรายได้เฉลี่ย 17,175 หยวน/ปี (ประมาณ 7,200 บาทต่อเดือน) ในขณะที่คนชนบทมีรายได้เฉลี่ยเพียง 5,153 หยวน (2,150 บาทต่อเดือน)

แนวทางในการพัฒนาซีอานในฐานะประตูการค้านำความเจริญสู่ตะวันตดของจีนได้มุ่งเน้นด้านการเป็นศูนย์กลางทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและไฮเทค การพัฒนาแหล่งพลังงาน นวัตกรรม ธุรกิจบริการ ตลอดจนการเกษตรก้าวหน้า การพัฒนาด้านโลจิสติกส์ รวมทั้งเป็นชุมทางการคมนาคมตัดเข้าสู่มณฑลห่างไกลที่อยู่ลึกเข้าไปในประเทศทั้งซินเกียง ทิเบต มองโกเลียใน

ขั้นตอนการพัฒนาประเทศของจีนแบ่งเป็น 3 ระดับ (3 tiers) ระดับแรกคือการนำพาประเทศให้ผลิตอาหารพอเพียงต่อการบริโภคของประชากรทั้งประเทศ ขั้นที่สองคือการพัฒนาพื้นที่ในเขตเมืองด้านตะวันออกให้มีความเจริญสูงสุดและทันสมัยซึ่งขณะนี้ถือได้ว่าบรรลุเรียบร้อยแล้ว ระดับที่สามคือการนำความเจริญจากตะวันออกสู่ตะวันตก ซึ่งเมืองซีอานเป็นหนึ่งในศูนย์กลางและเป็นเมืองหน้าด่านหรือประตูของการพัฒนาเข้าสู่พื้นที่ตอนในของประเทศ  

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจของเมืองซีอานเติบโตโดยเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี และสำหรับปี 2552 จี.ดี.พี.มีมูลค่ารวม 818,665 ล้านหยวน (ประมาณ 120,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ) รายได้เฉลี่ยต่อบุคคลที่รวมทั้งคนเมืองกับคนชนบทเข้าด้วยกันในปี 2552 มีมูลค่า 21,732 หยวน (ประมาณ 9,000 บาท/คน/เดือน) เป็นเครื่องชี้ให้เห็นถึงฐานกำลังซื้อที่สำคัญในนครซีอาน ยิ่งกว่านั้น ในขณะที่เมืองทางซีกตะวันออกกำลังถึงจุดอิ่มตัว ความเจริญกำลังเคลื่อนเข้าสู่ซีอานอย่างรวดเร็ว ทั้งการเร่งก่อสร้างระบบคมนาคม และอาคารสำนักงานที่อยู่อาศัยเพื่อรองรับการอพยพคนงานทั้งจากชนบทและต่างเมืองเข้ามาทำงาน

สิ่งสำคัญในการทำการค้ากับจีนคือ จะต้องเข้าใจว่าคนในแต่ละมณฑลของจีนมีวัฒนธรรมในการทำการค้าที่แตกต่างกัน สำหรับชาวนครซีอาน มณฑลส่านซึ่งมีรากฐานความเจริญถึงขีดสูงสุดในอดีต จึงมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและชาวต่างชาติ ส่วนอีกด้านหนึ่งมาจากนโยบายการพัฒนาเมืองให้เป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพาตนเองทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งทรัพยากรที่อยู่ใต้ดินทั้งแร่ธาตุและพลังงาน

ในการส่งเสริมการค้าระหว่างไทยกับซีอาน ผู้บริหารระดับสูงของมณฑลเคยให้แนวคิดที่น่าสนใจไว้ อาทิ ในด้านการซื้อขายผลไม้ระหว่างกัน ในซีอานมีวิสาหกิจขนาดใหญ่ทำหน้าที่ส่งออกแอปเปิ้ลจำนวนมหาศาลไปต่างประเทศรวมทั้งประเทศไทย การที่จะขยายปริมาณและมูลค่าการส่งออกผลไม้ไทยเข้าสู่ซีอาน ผู้ผลิตของไทยควรมีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มเพื่อให้ผลผลิตที่ได้คุณภาพสม่ำเสมอ และสามารถป้อนเข้าสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง

โดยขนส่งทางเครื่องบินเหมาลำ หรือการขนส่งทางถนนโดยใช้เส้นทาง R3 R9 ซึ่งปัจจุบันใช้กันอยู่สำหรับสินค้าทั่วไป แต่สำหรับผลไม้จะต้องมีตู้แช่เย็นเพื่อรักษาคุณภาพความสด ในปัจจุบันผลไม้ไทยที่มีขายเกลื่อนในซีอาน เป็นนำเข้าต่อมาจากเมืองอื่น หรือหากส่งตรงทางเครื่องบินก็จะต้องไปแวะเปลี่ยนเครื่องที่เมืองใดเมืองหนึ่งก่อน ทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่ม และสินค้าวางขายได้แต่ในซีอาน ไม่สามารถส่งต่อไปมณฑลอื่นๆ ที่อยู่ลึกเข้าไปได้ ทำให้ไม่สามารถใช้โอกาสทางการตลาดที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่

นอกจากผลไม้เมืองร้อนของไทยแล้ว อาหารไทยก็มีลู่ทางที่จะเข้าสู่ตลาดได้ เห็นได้จากมีชาวท้องถิ่นเปิดร้านอาหารไทยแม้ยังไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้นัก เพราะมองเห็นโอกาสของสินค้าอาหารไทยในนครซีอาน อย่างไรก็ตาม พลวัตรในจีนมีสูงมาก ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลาอย่างรวดเร็วในหลายๆด้าน นักธุรกิจและผู้ส่งออกไทยจึงต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงอย่างตื่นตัวอยู่เสมอและติดตามข่าวสารข้อมูลสภาพทางการตลาดและความต้องการของผู้บริโภคอยู่ตลอดเวลา

รายงานโดย สิริรัตน์ วงศ์ไพโรจน์พานิช
สำนักงานส่งเสริมการค้าฯ ณ เมืองซีอาน