เนื้อหาวันที่ : 2012-09-19 10:04:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1752 views

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้าช่วงฤดูฝน

เตือนช่วงฤดูฝนเสี่ยงอุบัติภัยจากไฟฟ้า พร้อมแนะหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปลอดภัย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนช่วงฤดูฝนเสี่ยงอุบัติภัยจากไฟฟ้า พร้อมแนะหมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปลอดภัย ติดตั้งสายดินกับเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปลือกหุ้มเป็นโลหะ รวมทั้งห้ามใช้หรือสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า สวิตซ์ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายหรือมือเปียกชื้นอย่างเด็ดขาด เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต

นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ฤดูฝนเป็นช่วงที่มักเกิดอุบัติภัยจากไฟฟ้า โดยมีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ไฟฟ้าชำรุด ความชื้นจากฝน และน้ำที่เป็นตัวนำกระแสไฟฟ้า หากผู้ใช้งานขาดความระมัดระวังจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยจากไฟฟ้า เพื่อความปลอดภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

ขอแนะวิธีป้องกันอุบัติภัยจากไฟฟ้า ดังนี้ หมั่นตรวจสอบอุปกรณ์ไฟฟ้าและสายไฟฟ้าให้อยู่ในสภาพปลอดภัยและใช้งานได้ดี โดยเฉพาะอุปกรณ์ไฟฟ้าภายนอกบ้าน เช่น กระดิ่งไฟฟ้า โคมไฟฟ้า ประตูรีโมทไฟฟ้า เป็นต้น

หากพบว่าชำรุดหรือกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ไม่ควรซ่อมแซมด้วยตนเอง ให้เรียกช่างที่มีความเชี่ยวชาญมาดำเนินการแก้ไขหรือเปลี่ยนใหม่ทันที รวมถึงควรติดตั้งสายดินและระบบป้องกันอันตรายจากไฟฟ้ารั่วกับเครื่องใช้ไฟฟ้าประเภทที่มีเปลือกหุ้มภายนอกทำด้วยโลหะ เช่น เครื่องซักผ้า เครื่องทำน้ำอุ่น ตู้เย็น เตารีด หม้อหุงข้าว เตาไมโครเวฟ เป็นต้น

ที่สำคัญ ห้ามนำเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปียกน้ำหรือได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม และอยู่ในสภาพชำรุดมาใช้งานอย่างเด็ดขาด เพราะอาจมีกระแสไฟฟ้ารั่วไหล ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตหรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนเป็นสาเหตุให้เกิดเพลิงไหม้ ตลอดจนห้ามใช้หรือสัมผัสเครื่องใช้ไฟฟ้า สวิตซ์ไฟฟ้าในขณะที่ร่างกายหรือมือเปียกชื้นอย่างเด็ดขาด

กรณีเกิดภาวะน้ำท่วม ให้ย้ายปลั๊กไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าให้พ้นจากระดับน้ำท่วมถึงสับสวิตซ์ฟลง เพื่อป้องกันไฟฟ้ารั่ว ทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิต กรณีพบผู้ถูกไฟฟ้าดูด ให้รีบตัดกระแสไฟฟ้า โดยรีบสับสวิตซ์ไฟ ปลดคัทเอาท์ ยกสะพานไฟ และเบรกเกอร์ออก พร้อมนำวัสดุที่เป็นฉนวนป้องกันไฟฟ้า เช่น ผ้าแห้ง ไม้แห้ง เป็นต้น มากระชาก ผลัก หรือดันตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกจากบริเวณที่มีกระแสไฟฟ้ารั่วไหลโดยเร็วที่สุด

โดยยืนอยู่บนพื้นที่แห้ง และสวมรองเท้าพื้นยาง เพื่อป้องกันการถูกไฟฟ้าดูด หากร่างกายเปียกชื้นหรือยืนอยู่บนพื้นที่ชื้นแฉะ ห้ามเข้าไปช่วยเหลือผู้ถูกไฟฟ้าดูดอย่างเด็ดขาด ตลอดจนห้ามใช้ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายสัมผัสถูกตัวผู้ถูกไฟฟ้าดูด และห้ามใช้วัสดุที่เปียกน้ำหรือโลหะเขี่ยสายไฟ

เพราะอาจทำให้ถูกไฟฟ้าดูดเสียชีวิตได้ ทั้งนี้ เมื่อช่วยผู้ถูกไฟฟ้าดูดออกมาแล้ว ให้รีบทำการปฐมพยาบาล กรณีผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้ทำการเป่าปาก ช่วยหายใจ หากชีพจรไม่เต้น ให้ทำการนวดหัวใจ หากอาการยังไม่ดีขึ้น ให้รีบนำส่งโรงพยาบาลในทันที