เนื้อหาวันที่ : 2012-09-18 11:00:12 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1533 views

นิด้า คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ขยายตัวได้ 10%

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ขยายตัวได้ 10% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) คาดเศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปีนี้ขยายตัวได้ 10% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปี 55 มีโอกาสโตแตะ 5% ชี้ปัจจัยหนุนมาจากการแก้ไขปัญหายุโรปที่ผ่อนคลาย หลังจากศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนี อนุมัติเงินลงขันในกองทุน ESM

 ขณะที่เฟดออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ ด้วยมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ผลักดันให้เศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้น ขณะที่ไทยได้อานิสงส์จากการส่งออก แม้ทิศทางค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่สุดท้ายเชื่อว่า จะเป็นปัจจัยบวกกับเศรษฐกิจไทยมากกว่า พร้อมแนะภาครัฐฉวยจังหวะเดินหน้าการลงทุน และกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ดันเศรษฐกิจไทยติดเทอร์โบช่วงปลายปี

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)  (Mr.Montree Socatiyanurak, Director of National Development Institute of Administration 's MPA Executive Programme) เปิดเผยว่า เชื่อว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยใน 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ น่าจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าในไตรมาสที่ 3 เศรษฐกิจจะขยายตัวได้ 5.5% และไตรมาสสุดท้ายขยายตัวได้สูงถึง 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ซึ่งการขยายตัวที่เพิ่มขึ้นถึง 2 หลักในไตรมาสที่ 4 นั้น มาจากฐานรวมเศรษฐกิจที่ติดลบจากผลกระทบน้ำท่วมแล้ว ยังมีแรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายงบประมาณปี 2556 แบบขาดดุล ที่เริ่มใช้ในวันที่ 1 ตุลาคมนี้ รวมถึงเศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งสัญญาณในทิศทางที่เป็นบวก หลังมีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ยุโรป รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) 

“การที่ทิศทางเศรษฐกิจของไทยในไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 สามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ความกังวลในภาวะเศรษฐกิจโลกที่ซบเซา จากปัญหาหนี้สาธารณะของ EU และภาวะเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาที่ผันผวนนั้น มาจากแรงขับทางเศรษฐกิจที่น่าสนใจทั้งภายในประเทศ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย โดยเฉพาะอาเซียน

ที่กำลังตื่นตัวเรื่องการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจ เป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 นั้น เป็นปัจจัยดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาลงทุนเพิ่มมากขึ้น จากการเตรียมความพร้อมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของแต่ละประเทศ โดยประเทศไทยมีงบประมาณในส่วนนี้ 2.27 ล้านบาทภายใน 7 ปีข้างหน้า ซึ่งจะมีผลทำให้ภาวะเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในอาเซียน มีทิศทางการขยายตัวเพิ่มสูงขึ้น นับได้ว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยบวก ในการทำให้ภาวะเศรษฐกิจของไทยขยายตัว” รศ.ดร.มนตรี กล่าว

นอกจากนี้ การที่ศาลรัฐธรรมนูญเยอรมนีมีมติอนุมัติให้สัตยาบันรับรองกองทุนกลไกรักษาเสถียรภาพยุโรป (ESM) เพื่อปูทางเครื่องมือกู้วิกฤติอื่นๆ ให้ดำเนินการได้ พร้อมกับการที่ฝรั่งเศสออกมาสนับสนุนการแก้ไขปัญหาของกรีซ ด้วยมาตรการรัดเข็มขัด และสนับสนุนให้กรีซอยู่ในยูโรโซนต่อไป ก็นับได้ว่าเป็นการส่งสัญญาณในทางที่ดีต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งเป็นผลดีต่อเนื่องมาถึงทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย

ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ที่ส่งสัญญาณความผันผวน โดยการประกาศใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 3 (QE3) ด้วยการเข้าซื้อหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนอง เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน (MBS) วงเงิน 4 หมื่นล้านดอลล่าร์สหรัฐฯ ต่อเดือน และขยายเวลาการคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำเป็นพิเศษออกไปจนถึงกลางปี 2558 พร้อมกับการใช้มาตรการโอเปอร์เรชั่น ทวิสต์

 ซึ่งก่อนหน้านี้ ภาวะเศรษฐกิจอเมริกาทำท่าว่าจะฟื้นตัวดีขึ้น จากอัตราการว่างงานที่ลดลง แต่สัญญาณการฟื้นตัวดังกล่าว เป็นเพียงการฟื้นตัวอย่างเปราะบางและในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น ทั้งนี้ แม้การดำเนินมาตรการ QE3 จะสะท้อนได้ถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ส่งสัญญาณไม่สู้ดี แต่การดำเนินมาตรการดังกล่าว จะมีผลทำให้ค่าเงินสหรัฐอ่อนค่าลง ราคาทองคำจะมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น ยังคงอยู่ในสถานการณ์ฟื้นตัวในระดับที่ค่อยเป็นค่อยไป ด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ที่ร้อยละ 2.9 และร้อยละ 3.2 ในไตรมาสที่ 2 ทั้งนี้ ภาคการผลิตของญี่ปุ่น ส่งสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีขึ้นตามลำดับ โดยล่าสุดยอดการสั่งซื้อเครื่องจักรพื้นฐานของภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ขณะที่ทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่ม BRICS ชะลอตัวลงเกินคาดในหลายประเทศ แต่สถานการณ์โดยรวมยังไม่น่ากังวล ทั้งนี้เศรษฐกิจประเทศจีนเอง ก็ยังคงใช้มาตรการทางการเงิน และการคลังเพื่อการสนับสนุนการขยายตัว และเป้าหมายทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

“หากสถานการณ์ปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปไม่เลวร้ายไปกว่านี้ รวมถึงเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาส่งสัญญาณดีขึ้น ภาคการท่องเที่ยวของไทย จะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ช่วยให้เศรษฐกิจของประเทศเกิดการขยายตัว เมื่อรวมกับนโยบายในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนโยบายรถคันแรก ที่ยืดเวลาการการดำเนินการออกไป จะช่วยกระตุ้นภาคการผลิตยานยนต์ ขยายตัวเพิ่มสูงขึ้นไปถึงปี 2556 รวมถึงแรงหนุนของปลายงบประมาณ

และการเร่งใช้จ่ายงบประมาณปีนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดได้ว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 3 และไตรมาสที่ 4 ของปี 2555 จะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 5.5% และ 10.0% ตามลำดับ จึงประมาณการณ์ได้ว่า โดยภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2555 จะสามารถขยายตัวได้ทั้งปีประมาณ 5.0%” รศ.ดร.มนตรีกล่าว