เนื้อหาวันที่ : 2007-05-16 09:50:32 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 6546 views

ปัญหาแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ไทยปี 2550

ปัจจุบันเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์ มีการแข่งขันอย่างรุนแรง และรวดเร็ว ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างมาก เช่น การเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตจาก Mass Production มาเป็น Mass Customization ซึ่งในปัจจุบัน ไม่ใช่การที่จะอาศัยเครื่องจักรเพื่อทำให้ได้ผลผลิตเป็นปริมาณมาก ๆ เพียงอย่างเดียว การตอบสนองความต้องการของลูกค้าทางด้าน QCD (Quality Cost Delivery) เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัจจัยที่มีผลในการตอบสนองเป้าหมายขององค์การคือ บุคลากร ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมที่ช่วยผลักดันให้การประกอบธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงในทุกสภาวการณ์

ปัจจุบันเป็นโลกยุคโลกาภิวัตน์ มีการแข่งขันอย่างรุนแรง และรวดเร็ว ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวอย่างมาก เช่น การเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตจาก Mass Production มาเป็น Mass Customization ซึ่งในปัจจุบัน ไม่ใช่การที่จะอาศัยเครื่องจักรเพื่อทำให้ได้ผลผลิตเป็นปริมาณมาก ๆ เพียงอย่างเดียว การตอบสนองความต้องการของลูกค้าทางด้าน QCD (Quality Cost Delivery) เป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง ปัจจัยที่มีผลในการตอบสนองเป้าหมายขององค์การคือ บุคลากร ทรัพยากรมนุษย์เป็นปัจจัยที่สำคัญต่อการประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมที่ช่วยผลักดันให้การประกอบธุรกิจดำเนินต่อไปได้อย่างมั่นคงในทุกสภาวการณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตจะต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญ ซึ่งหากโรงงานหรือวิสาหกิจใดมีบุคลากรที่เพียงพอ มีความรู้เป็นเลิศ และสามารถประยุกต์ใช้ความรู้ได้ดี จะส่งผลให้การประกอบธุรกิจมีความเจริญก้าวหน้าสามารถปรับตัวรับกับปัญหาอุปสรรคและสภาวการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องได้

.

ประเด็นความขาดแคลนแรงงานเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนได้ถกประเด็นปัญหานี้มายาวนาน โลกยุคใหม่ทำให้ ปทัสทาน ค่านิยมของคนเปลี่ยนแปลงไปก่อให้เกิดผลกระทบต่อ การตัดสินใจเข้าสู่ตลาดแรงงานของภาคอุตสาหกรรม การศึกษาวิจัยของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2550 ที่ทำการศึกษาทั่วประเทศพบว่าสาเหตุที่เป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความไม่สมดุลของภาวะแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีดังต่อไปนี้

.

ปัญหาคนเลือกงาน

อาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคที่เป็นแต้มต่อของ แรงงาน เนื่องจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้มีการดึงแรงงานจากอุตสาหกรรมอื่นเข้าไปเพื่อรองรับการเติบ โต ที่รวดเร็ว ประกอบกับแรงงานไทยมีปทัสทานและค่านิยมในการดำรงชีวิตที่เปลี่ยนไป ในปัจจุบันชอบความสะดวกสบาย ไม่นิยมยืนทำงาน หรือทำงานในสภาพแวดล้อมที่ร้อน แม้แต่รถรับส่งพนักงานยังต้องติดแอร์ และรวมถึงเรื่องการแต่งหน้าของพนักงานที่ถูกห้ามไม่ให้แต่งหน้าขณะปฏิบัติงาน (ในบางโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์) เนื่องจากมีสารบางตัวที่มีขนาดเล็กและมีผลกระทบต่อคุณภาพงานในระบบห้องปฏิบัติการที่สะอาด (Clean Room) สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยส่วน หนึ่ง ของแรงงาน แต่ปัญหาหลักคือ อุปสงค์ของแรงงาน ที่มากกว่าอุปทานของแรงงาน ทำให้แรงงานมีอำนาจในการต่อรองในการเลือกงานมากขึ้น

.

แรงงานในทุกระดับมีความอดทนในการทำงานน้อย ไม่ทนต่อภาวะกดดัน

ข้อมูลจากผู้ประกอบการพบว่า แรงงานไทยในทุกระดับมีความอดทนในการทำงานน้อย ไม่ทนต่อภาวะกดดัน และปัญหาที่เกิดขึ้นในการทำงาน การเติบโตของโลกอุตสาหกรรมที่รวดเร็ว การมีโอกาสที่เรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น สภาพวัฒนธรรมของสังคมไทย และรวมถึงอุปสงค์ของแรงงานที่มากกว่าอุปทาน ทำให้แรงงานมีช่องทางการเลือกทำงานมากขึ้น ไปที่ไหนก็ได้ ทำให้ไม่มีความจริงจังกับงานที่ทำ เช่น วิศวกรจากมหาวิทยาลัยทำงานเพียง 6 เดือนถึง 2 ปี ก็ลาออก หรือพนักงานรายวันในบางโรงงานทำงานได้ไม่ถึงสัปดาห์ ก็ลาออก เพราะมีโรงงานที่เปิดรับเยอะ และรักความสบาย

.

ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ค่าจ้างแรงงานตามพื้นที่/กลุ่มประเภทอุตสาหกรรม

ระบบอัตราค่าแรงขั้นต่ำตามกลุ่มจังหวัด หรือกลุ่มอุตสาหกรรม ทำให้เกิดความแตกต่างในอัตราค่าจ้างโดยเฉพาะโรงงานที่อยู่ในเขตที่ติดต่อกัน จึงทำให้แรงงานถูกดึงตัวไปยังโรงงานในจังหวัดใกล้เคียงหรือกลุ่มอุตสาหกรรมอื่นที่จ่ายสูงกว่า เช่น โรงงานในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จังหวัดปทุมธานี มีการจ้างงานในอัตราที่สูงกว่าโรงงานในเขตบางปะอิน จังหวัดอยุธยา ถึง 20 บาทต่อวัน ขณะที่ระยะทางระหว่างโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมห่างกันไม่เกิน 10 กิโลเมตร ทำให้แรงงานเลือกที่จะทำงานที่นวนคร มากกว่าบางปะอิน เพราะได้เงินมากกว่า ขณะที่ทุกอย่าง การทำงาน รถรับส่ง สวัสดิการ เหมือนกันไม่มีความแตกต่าง

.

ปัญหาช่องว่างระหว่าง ค่าจ้างแรงงาน กับคุณวุฒิ และประสบการณ์

ปัญหาที่มีความเหลื่อมล้ำกันมากในเรื่องค่าจ้างของวุฒิการศึกษา ซึ่งการจ้างแรงงานในประเทศไทยค่อนข้างให้ความสำคัญกับวุฒิการศึกษาของคน กับการจ่ายอัตราค่าจ้าง ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าช่างเทคนิคในระดับ ปวส. เรียนต่อมากกว่า 80% เพื่อได้ค่าจ้างที่สูงขึ้น จากอัตราเงินเดือน ปวส. 7,500 สู่ระดับปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือน โดยใช้เวลาเรียน 2 ปี ซึ่งดีกว่าที่เข้าไปทำงานเป็นช่างเทคนิคและไต่เต้ามาเป็นวิศวกรอาจใช้เวลามากกว่า 7 ปีจึงจะมีอัตราที่ 15,000 บาทต่อเดือน ปัญหาระดับชาติของไทยในการที่จะทำอย่างไรในการจัดทำระดับขั้นงานอย่างเป็นระบบ มีการอิงประสบการณ์ความรู้ความสามารถ มองการทำงาน การทุ่มเทในการทำงาน ให้เป็นส่วน หนึ่ง ในการกำหนดอัตราค่าจ้าง

.

แรงงานส่วนมากสนใจทำงานในภาคบริการและเรียนต่อด้านการจัดการ

การเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัตน์ ทำให้เกิดการค้าเสรี การค้าปลีกสมัยใหม่เพิ่มขึ้นทุกวันและครอบคลุมไปทุกภาคส่วน ของประเทศ การทำงานที่ทำแบบสบายสบายอยู่ในห้องแอร์ การแต่งกาย เสื้อผ้าชุดพนักงานที่สวยกว่าในโรงงาน และทำงานในองค์การที่มีชื่อเสียง เช่น 7-11, เทสโก้โลตัส เป็นต้น ทำให้แรงงานหันมาสู่ภาคบริการมากขึ้น มีการทำงานที่สบายและแรงงานบางคนมีการยกระดับตนเองจากการเรียนเพิ่มเติมทางด้านการจัดการเพื่อเป็นพนักงานสำนักงาน

.

แรงงานต้องการทำ OT

ในอดีตหลายโรงงานมีจัดระบบการทำ OT เพื่อเป็นการจูงใจการทำงานของแรงงานพนักงานในสายการผลิต ทำให้แรงงานมีรายรับที่สูง บางคนมีค่าตอบแทนที่สูงถึง 9,000-12,000 บาทต่อเดือน (ซึ่งรวมการทำ OT) และโดยส่วนมากพนักงานไม่ค่อยสนใจสวัสดิการในการทำงานมากนัก เงิน และผลตอบแทนจึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดเพื่อนำมาใช้บริโภคหรืออุปโภคสิ่งของ ดังนั้นโรงงานไหนมี OT มากพนักงานจะแย่งสมัครทำงาน แต่ปัญหานี้ในปัจจุบัน ปี 2550 อาจส่งผลกระทบมาก เนื่องจากประเทศไทยประกาศกฎหมายการทำ OT ที่กำหนดขั้นสูงสุดของจำนวนชั่วโมงที่โรงงานสามารถให้พนักงานทำ OT ได้อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานในระดับสูง

.

ปัญหาสถาบันการศึกษาตอบสนองได้ไม่เพียงพอทั้งปริมาณ คุณภาพและไม่มีความพร้อมเตรียมแรงงานก่อนเข้าสู่อุตสาหกรรม

การเติบโตของอุตสาหกรรมทั้งภาคการผลิตและบริการ แผนการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับ และการเชื่อมโยงรวมถึงกรอบและเส้นทางการเคลื่อนย้ายแรงงานของประเทศไม่มีความชัดเจน การตอบสนองต่อความต้องการจึงเป็นปัญหาทั้งคุณภาพ และปริมาณ มาตลอด เช่น การขาดแคลนวิศวกร สาขาพลาสติก สาขาแมคาทรอนิกส์ ช่างเขียนแบบ Design Engineer และ Device Engineer เป็นต้น รวมถึงประเด็นความพร้อมของแรงงานในการเข้าสู่อุตสาหกรรมก็เช่นเดียวกัน หลายคนเก่งทฤษฏีแต่ไม่สามารถปฏิบัติการในสายการผลิตได้ วิศวกรบางคนต้องทำการฝึกมากกว่า 6 เดือนจึงจะสามารถทำงานได้ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง Design Engineer ใช้เวลาอบรมถึง 2 ปีจึงจะมีความสามารถที่จะปฏิบัติงานได้ ปัญหาจึงกลับมาที่สถานศึกษา สถาบันที่ผลิตแรงงานสู่ตลาดว่า มีความเข้าใจตรงกันและทราบถึงความต้องการของอุตสาหกรรมที่แปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัยหรือไม่

.

ปัญหาขาดแคลนเป็นช่วง ๆ กลาง ๆ ปี ตามฤดูกาล

ปัญหานี้เป็นปกติและตลอดไป เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม พนักงานที่เข้ามาทำงานในโรงงานจะมีการลาออกไปทำการเกษตรที่บ้านเกิดตามช่วงของฤดูกาล เช่น ฤดูกาลเกี่ยวข้าว ฤดูเก็บลำไย เป็นต้น หลังจากแล้วเสร็จ ก็จะกลับมาสมัครงานหางานทำใหม่ ทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนและการไม่ต่อเนื่องของทักษะในการทำงาน

.

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ต้องการแรงงานที่เร็วทันสถานการณ์ ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลง

เทคโนโลยีในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมุ่งสู่ระดับนาโนเทคโนโลยี มีการใช้ Embedded System ผลิตภัณฑ์มีขนาดที่เล็กลงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจะรวดเร็วมาก อาจกล่าวได้ว่าเปลี่ยนแปลงทุกปี ดังนั้นสถาบันการศึกษาที่ผลิตแรงงานออกมาต้องมีความก้าวทันเทคโนโลยี อาจารย์ต้องมีความพร้อมและตื่นตัวตลอดเวลา และมีการประชุมสัมมนาเชิงวิชาการ มีการแลกเปลี่ยนความรู้และนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนเพื่อผลิตแรงงานที่พร้อมสู่ภาคอุตสาหกรรมทั้งปริมาณและคุณภาพ

.

ปัญหา NPL

ปัญหาการลาออกเพื่อหนีหนี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในยุคการพัฒนาทุนนิยมที่รวดเร็ว แรงงานมีการรับข้อมูลข่าวสาร มีโอกาสในการเช่าซื้อสินค้า ทำให้เกิดการบริโภคที่เกินตัว และใช้เงินในอนาคต สถิติในกลุ่มคนที่มีปัญหาด้านหนี้สินที่มีการติดตามหนี้จะพบว่ามีผู้ที่ลาออกประมาณ 50% ภายใน 6 เดือน และปัจจุบันการติดตามหนี้จากบริษัทบัตรเครดิตมีปริมาณที่สูงและรุนแรงขึ้นมาก พนักงานจะทำการเปลี่ยนที่ทำงานเพื่อหนีการติดตามหนี้

..

นโยบายเรียนฟรี และการกู้เงินเรียนทำให้แรงงานไม่เข้าสู่ภาคการผลิต

นโยบายของรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยจะส่งเสริมให้ประชากรมีความรู้ความสามารถที่สูงขึ้น เพื่อการรองรับและแข่งขันของตลาดโลกได้ จึงก่อให้เกิดนโยบายสาธารณะจากรัฐบาลมากมายทั้ง การเรียนฟรี สินเชื่อเพื่อการศึกษา นโยบายเหล่านี้จะมีผลกระทบทั้งในเชิงบวกและเชิงลบ ดังนั้นการวางโครงสร้างแรงงานในระดับประเทศจึงต้องมีความชัดเจน มีการจูงใจการทำงานในระดับต่าง ๆ ผลิตให้รองรับอย่างเหมาะสมและสมดุล แต่ในปัจจุบันพบว่ามีการศึกษาระดับปริญญาตรีและปริญญาโททางด้านการจัดการสูงมาก มากกว่าความต้องการของตลาด ก่อให้เกิดภาวะคนล้นงานและปัญหาการส่งเงินคืนของสินเชื่อที่กู้มาเรียน เป็นต้น

.

แรงงานอาจไม่ขาดจริง เกิดการปั่นกระแส ราคา จาก SUB-CONTRACK

บริษัทกลางในการจัดหาแรงงานป้อนโรงงานอุตสาหกรรม เป็นองค์การหนึ่งที่มีบทบาทในปัจจุบัน มีอำนาจในการต่อรองสูงจากภาวะอุปสงค์แรงงานที่มากกว่าอุปทาน การโยกย้ายแรงงานเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้และทำให้ราคาอัตราค่าจ้างสูงขึ้น และในบางครั้งเป็นการหมุนวนของแรงงาน คุณภาพ คุณสมบัติเหมือนเดิมแต่ราคาที่ได้ในการจัดการของบริษัท SUB-CONTRACK สูงขึ้น ขณะที่แรงงานได้รับค่าจ้างในอัตราเดิม

.

จากผลการสำรวจ ความต้องการแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปี 2550 โดยสถาบัน ฯ พบว่ามีความต้องการแรงงานประมาณ 12.53 % (50,119 คน) จากประมาณการภายใต้ฐานข้อมูลแรงงานในอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 400,000 คน แบ่งเป็น ระดับบริหาร 478 คน ระดับวิศวกร 2,356 คน ระดับช่างเทคนิค 2,857 คน ระดับพนักงาน  43,728 คน และ ระดับพนักงานสำนักงาน 700 คน โดยมีรายละเอียดดังนี้

.

ระดับบริหาร มีความต้องการร้อยละ 0.12  คุณวุฒิในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ประสบการณ์มากกว่า 10 ปี อายุ 35-45 ปี อัตราค่าจ้าง 30,000-100,000 บาท

ระดับวิศวกร มีความต้องการร้อยละ 0.59 คุณวุฒิในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ประสบการณ์ตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป อายุ 23-35 ปี อัตราค่าจ้าง 17,000-45,000 บาท

ระดับช่างเทคนิค มีความต้องการร้อยละ 0.72 คุณวุฒิในระดับ ปวส. ประสบการณ์มากกว่า 0-3 ปี อายุ 20-30 ปี อัตราค่าจ้าง 7,500-30,000 บาท

ระดับพนักงาน (Operator) มีความต้องการร้อยละ 10.93 คุณวุฒิในระดับตั้งแต่ ม.3 ประสบการณ์ตั้งแต่ 0 ปีอายุ 18-35 ปี อัตราค่าจ้าง 191บาท

ระดับพนักงานสำนักงาน มีความต้องการร้อยละ 0.18 คุณวุฒิในระดับปริญญาตรีและปริญญาโท ประสบการณ์ตั้งแต่ 0-8 ปีอายุ 21-35 ปี อัตราค่าจ้าง 8,000-25,000 บาท

.

แนวทางการแก้ปัญหาเร่งด่วน

ปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดขึ้น เป็นปัญหาที่มีการคล้ายคลึงกันและแปรเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ในอดีตเมื่อ 20  ปีที่แล้วปัญหานี้เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมสิ่งทอ เมื่ออุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เติบโตขึ้น การเคลื่อนย้ายแรงงานจึงเกิดขึ้น แรงงานมีการย้ายมาทำในโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์  และในปัจจุบันเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน มีการหลั่งไหลของแรงงานจากอุตสาหรรมต่าง ๆ สู่อุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้นแนวทางที่ภาครัฐและเอกชนควรดำเนินการรองรับปัญหาในระยะสั้นและเร่งด่วนดังต่อไปนี้

.
1การรับพนักงานเร่งด่วน

         - .ตลาดนัดพบแรงงาน ซึ่งการจัดนัดพบแรงงานควรจัดที่สถาบันการศึกษาจะได้แรงงานที่ตรงเป้าหมายมากกว่าตามห้างสรรพสินค้า ที่เป็นแรงงานหมุนเวียน

         - .ใช้บริการ Labour Sub-contrack แต่ควรที่จะมีการควบคุมการดำเนินการที่เหมาะสมโดยเฉพาะด้านคุณภาพของแรงงาน

        - .แรงงานจากต่างจังหวัด แรงงานต่างด้าว การจัดหาแรงงานจากต่างจังหวัดเป็นแนวทางที่ดำเนินการอยู่ แต่จะมีปัญหาในช่วงฤดูกาลที่จัดหาลำบาก สำหรับแรงงานจากต่างประเทศมีการจัดหาแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน (ประเทศ ลาว พม่า และกัมพูชา) แต่ควรมีระบบการฝึกอบรมแรงงานที่ประเทศนั้น ๆ ก่อนเข้ามาทำงานในประเทศ

.
2.การสร้างความร่วมมือ ของสถาบันการศึกษา หน่วยงานพัฒนาบุคลากร โรงงาน เพื่อปรับตัวแรงงานให้มีความพร้อมในการทำงานในระยะสั้น
3.การพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกันในแต่ละระดับของแรงงาน มีการสอบและเทียบโอนประสบการณ์ ระบบค่าจ้างแรงงานที่สอดคล้องกัน
4.การพัฒนาหลักสูตรของมหาวิทยาลัย สถาบันการศึกษา เพื่อรองรับให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงเพิ่มหลักสูตรปฏิบัติการ เช่น หลักสูตรทวิภาคี เป็นต้
5.โรงงานคัดแรงงานเองแล้วส่งไปอบรมที่ศูนย์ฝึกกรมพัฒนาฝีมือแรงงานทั่วประเทศ

6.โรงงานต้องสร้างระบบการจูงใจ บรรยากาศการทำงาน และแนวทางการเติบ โต ในสายงานของแรงงานที่ชัดเจน

7.กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน เพิ่มระดับการฝึกอบรมทักษะฝีมือที่ดีให้มากขึ้นและครอบคลุม เพิ่มการประชาสัมพันธ์ที่ดี และการยอมรับจากผู้ประกอบการ