เนื้อหาวันที่ : 2006-05-09 11:34:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2624 views

ม.เชียงใหม่ อบรมผลิตไบโอดีเซล สร้างเครื่องต้นแบบใช้ในชุมชน

ม.เชียงใหม่ สำรวจข้อมูลน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผน-พลังงาน กระทรวงพลังงาน ทำการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบภายใน ประเทศ

มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ดำเนินการโครงการสำรวจข้อมูลน้ำมันพืชที่ใช้แล้ว เพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผน-พลังงาน กระทรวงพลังงาน  ทำการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบภายใน ประเทศ เพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิง

.

สถานการณ์พลังงานของประเทศไทยในปัจจุบัน ได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมากถึงปีละ 658,561 ล้านบาท โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่ต้องใช้มากถึง 43 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็น 46.6% ของปริมาณน้ำมันที่ใช้ภายในประเทศ มีสัดส่วนการใช้สูงกว่าน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ทำให้มีหลายหน่วยงานหันมาทำการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบภายใน ประเทศเพื่อนำมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงใช้ในประเทศ เช่น น้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ น้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว ฯลฯ นำมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ใช้แทนน้ำมันดีเซลหรือเรียกว่า  ไบโอดีเซล

.

ไบโอดีเซล (Biodiesel) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำน้ำมันพืชชนิดต่าง ๆ หรือน้ำมันสัตว์มาสกัดเอายางเหนียวและสิ่งสกปรกออก (Degumming) จากนั้นนำไปผ่านกระบวนการทางเคมี (Transesterification) โดยการเติมแอลกอฮอล์ เช่น เอทานอล หรือเมทานอล และตัวเร่งปฏิกิริยา เช่น โปแตสเซียมไฮดรอกไซด์ ภายใต้สภาวะที่มีอุณหภูมิสูงเพื่อเปลี่ยนโครงสร้างของน้ำมันจากTriglycerides เป็น Organic Acid Esters เรียกว่า ไบโอดีเซล และได้กลีเซอรอลเป็นผลพลอยได้ ใช้เป็นวัตถุดิบสำหรับอุตสาหกรรมยา เครื่องสำอาง ฯลฯ วัตถุประสงค์ของกระบวนการดังกล่าวคือ ช่วยปรับปรุงคุณสมบัติของน้ำมันในเรื่องความหนืดให้เหมาะสมกับการใช้งานกับเครื่องยนต์ดีเซล และเพิ่มค่า Cetane number 

.

การใช้ไบโอดีเซลสามารถลดมลพิษทางอากาศ ซึ่งเป็นผลจากการเผาไหม้ในเครื่องยนต์ได้ส่วนหนึ่ง เนื่องจากองค์ประกอบของไบโอดีเซลไม่มีธาตุกำมะถัน แต่มีออกซิเจนเป็นองค์ประกอบประมาณ 10% โดยน้ำหนัก จึงช่วยการเผาไหม้ได้ดีขึ้นและลดมลพิษซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน คาร์บอนมอนนอกไซด์ ฝุ่นละออง ฯลฯ นอกจากนี้ไบโอดีเซลมีคุณสมบัติในการหล่อลื่นดีกว่าน้ำมันดีเซล จึงมีการนำไบโอดีเซลมาใช้ผสมน้ำมันดีเซลในสัดส่วนต่าง ๆ กัน ที่สำคัญคือ ไบโอดีเซลยังเป็นเชื้อเพลิงที่สามารถผลิตได้ในแต่ละท้องถิ่น โดยไม่ต้องอาศัยโรงงานหรือเครื่องมือที่สลับซับซ้อน จึงเป็นประโยชน์อย่างยิ่งที่จะสามารถผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงใช้ได้เอง ทำให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

.

รศ.ประเสริฐ ฤกษ์เกรียงไกร ผู้อำนวยการ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้ดำเนินการโครงการสำรวจข้อมูลน้ำมันพืชที่ใช้แล้วเพื่อนำมาผลิตไบโอดีเซล โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานนโยบายและแผน-พลังงาน กระทรวงพลังงาน จากผลการสำรวจพบว่า ประเทศไทยมีน้ำมันพืชที่ใช้แล้วมากถึง 74.5 ล้านลิตรต่อปี หากนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซล จะสามารถทดแทนการใช้น้ำมันดีเซลได้มากถึง 1,570 ล้านบาทต่อปี (คำนวณที่น้ำมันดีเซลราคาลิตรละ 23 บาท) และจากการวิเคราะห์เชิงคุณภาพของน้ำมันที่ใช้แล้วพบว่า การนำกลับมาบริโภคใหม่ จะส่งผลเสียต่อสุขภาพร่างกาย ทั้งเสี่ยงต่อโรคมะเร็งปอด ความดันโลหิตสูง เป็นพิษต่อระบบสมอง ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และอวัยวะสำคัญต่าง ๆ ทั้งยังเป็นสารที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ และก่อกวนระบบฮอร์โมน โดยเฉพาะระบบฮอร์โมนทางเพศ ซึ่งจะทำให้เกิดความผิดปกติต่อระบบสืบพันธุ์ โดยทำให้ตัวอ่อนของทารกในครรภ์ผิดปกติ และตายก่อนครบกำหนด อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อสุขภาพด้านอื่น ๆ ตามมา แต่ถ้าหากเรานำน้ำมันที่ใช้แล้ว ซึ่งมีคุณสมบัติที่เหมาะสมต่อการนำมาผลิตเป็นไบโอดีเซลดังกล่าว มาทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสามารถนำสิ่งนั้นมาใช้ในแบบของรูปธรรมได้อย่างสมบูรณ์ ก็จะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล ดังนั้น จึงขยายผลโครงการสร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว ขนาด 100-150 ลิตร/ครั้ง และทดลองนำร่องใช้สำหรับรถราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

.

 .

เครื่องไบโอดีเซลที่สร้างพัฒนาขึ้นมาจากการศึกษาวิจัยเป็นระยะเวลากว่า 4 ปี ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนาม จนได้ต้นแบบขนาด 100 – 150 ลิตรต่อครั้ง และทดสอบกับรถยนต์ของสถาน-จัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในสูตร VB 20 (ไบโอดีเซล 20 เปอร์เซ็นต์และน้ำมันดีเซลจากปิโตรเลียม 80 เปอร์เซ็นต์) จนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงได้จัดทำโครงการใช้ไบโอดีเซลที่ผลิตจากน้ำมันพืชใช้แล้ว สำหรับรถราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยนำร่องเติมไบโอดีเซลให้กับรถราชการของแต่ละหน่วยงานกว่า 60 คัน ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายหลังเสร็จสิ้นโครงการฯ พบว่า นอกจากรถราชการของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว ยังมีหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน และประชาชนทั่วไป ให้ความสนใจในการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการให้บริการทางวิชาการในฐานะที่เป็นสถาบันการศึกษา สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จึงได้ขยายผลโครงการฯ สู่ชุมชน โดยการเปิดฝึกอบรมให้กับทางหน่วยงานต่าง ๆ ที่สนใจได้รับทราบเทคนิค ขั้นตอน วิธีการ และความปลอดภัยทางด้านการผลิต โดยคาดว่าผู้ที่ผ่านการอบรมจะสามารถสร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลและสามารถผลิตไบโอดีเซลไว้ใช้ได้ด้วยตนเอง

 

รศ.ประเสริฐ กล่าวต่อว่า การดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา ได้รับความปลาบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวายเครื่องผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ใช้แล้ว แด่สมเด็จพระบรม-โอรสาธิราชฯ พร้อมพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์พระวรชายา และเป็นที่น่ายินดีว่า ขณะนี้โครงการดังกล่าว ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก อาทิ หน่วยงานราชการ จากชุมชนเทศบาลและอบต.ทั่วประเทศ กลุ่มธุรกิจส่วนตัว/เจ้าของกิจการ/ค้าขาย และกลุ่มโรงงาน/บริษัทเอกชน โดยในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา มีหน่วยงานที่เข้ามาขอศึกษาดูงาน และสมัครเข้าร่วมโครงการอบรมฯ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ทำการอบรมไปแล้วจำนวน 43 รุ่น รวม 268 คน โดยผู้เข้ารับการอบรมส่วนใหญ่ ต้องการที่จะนำความรู้ที่ได้ไปสร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นต้นแบบในชุมชนของตนเอง เพราะมีน้ำมันพืชใช้แล้วในชุมชน เช่น ตามบ้านเรือน ตลาดสด และร้านค้าต่าง ๆ ที่ผ่านมา มีผู้ที่ผ่านการอบรมได้นำแบบเครื่องผลิตไบโอดีเซลไปสร้างใช้เป็นต้นแบบในชุมชนแล้ว นอกจากนั้น ยังมีผู้แจ้งความจำนงที่จะสร้างเครื่องผลิตไบโอดีเซลเพื่อใช้เป็นต้นแบบในชุมชนของตนเองอีกจำนวน 70 คน 

 

สำหรับโครงการอบรมการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 27 กันยายน 2548 และจะสิ้นสุดโครงการฯ ในวันที่ 26 กรกฎาคม 2549 จัดอบรมสัปดาห์ละ 3 รุ่น รุ่นละไม่เกิน 6 คน ทุกวันอังคาร พฤหัสบดีและวันศุกร์ ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ การฝึกอบรมจะใช้เวลา 1 วัน โดยให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับขั้นตอนการผลิตไบโอดีเซล วัตถุดิบที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตสารเคมี ความปลอดภัยในการผลิตการใช้ไบโอดีเซลและการฝึกภาคปฏิบัติ โดยทำการผลิตจริงกับเครื่อง CMU-2 หลังเสร็จสิ้นการอบรมจะมอบแบบและรายการอุปกรณ์เครื่องผลิตไบโอดีเซลขนาด 150 ลิตร/วัตถุดิบต่อครั้ง ให้ผู้เข้ารับการอบรม เพื่อไปจัดสร้างเองหรือจะว่าจ้างผู้รับเหมาทั่วไปจัดสร้างได้ และมอบวุฒิบัตรให้แก่ผู้ผ่านการอบรมเฉพาะผู้เข้ารับการอบรม 100 เปอร์เซ็นต์เต็มของระยะเวลาในการอบรม โดยค่าใช้จ่ายตลอดการอบรมทั้งสิ้น 1,000 บาท รวมค่าอาหารกลางวันและอาหารว่าง (ทั้งนี้ค่าใช้จ่ายจริงทั้งหมดราว 5,000 บาท แต่ได้รับการสนับสนุนส่วนต่างจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน) นอกจากนั้น ในส่วนของผู้ที่สนใจทดลองใช้ไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว สามารถนำน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว 1 ลิตร มาแลกไบโอดีเซลได้ 1 ลิตร โดยแลกได้ครั้งละไม่เกิน 20 ลิตร ที่ศูนย์หล่อลื่น คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในวันและเวลาราชกา 

.

รศ.ประเสริฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการอบรมการผลิตไบโอดีเซลจากน้ำมันพืช/น้ำมันสัตว์ที่ใช้แล้ว เป็นโครงการที่สามารถขยายผลการใช้พลังงานทดแทนสู่ชุมชนได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังเป็นการลดการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ อันจะเป็นการช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงานและสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ทั้งนี้การอบรมจะดำเนินการเรื่อยไปจนถึงวันที่ 26 กรกฎาคม 2549 ผู้สนใจสอบถามได้ที่ สถานจัดการและอนุรักษ์พลังงาน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โทร. 0-5394-2007-9 ต่อ 106,108 ในวันและเวลาราชการ.