เนื้อหาวันที่ : 2007-05-15 18:40:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2369 views

สช. ติง กฎหมายวัตถุอันตราย ประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ติง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีหลายประเด็นควรแก้ไข กฎหมายฉบับนี้ไม่ชัดเจน และไม่แสดงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ย้ำควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายตลอดทั้งกระบวนการ ไม่ใช่เพียงบริหารจัดการของเสีย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ติง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มีหลายประเด็นควรแก้ไขกฎหมายฉบับนี้ไม่ชัดเจน  และไม่แสดงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ ย้ำควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายตลอดทั้งกระบวนการ  ไม่ใช่เพียงบริหารจัดการของเสีย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น 

.

สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ได้จัดประชุมเพื่อขอความเห็นกรณีกรมโรงงานอุตสาหกรรม  กระทรวงอุตสาหกรรม  ขอแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย (ฉบับที่ ..) พ.ศ….. ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกานั้น   ที่ประชุมซึ่งประกอบด้วยนักวิชาการจากกรมส่งเสริมการเกษตร และสำนักงานมาตรฐานการเกษตรและอาหารแห่งชาติ   สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข   ฝ่ายเลขานุการแผนยุทธศาสตร์การจัดการสารเคมีแห่งชาติ  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  มูลนิธิสาธารณสุขเพื่อการพัฒนา  มูลนิธิการศึกษาไทย  กลุ่มรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม  มูลนิธินโยบายสุขภาวะ  และมูลนิธิสายใยแผ่นดิน  มีความเห็นพ้องให้  สช.  ทำหนังสือแสดงความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.วัตถุอันตราย  ไปยังคณะกรรมการกฤษฎีกา  เพราะเหตุผลการแก้ไขกฎหมายนี้ไม่ชัดเจน  และไม่แสดงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับจากการปรับปรุงแต่อย่างใด 

.

นายแพทย์อำพล  จินดาวัฒนะ   เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ  กล่าวว่า    มีหลายประเด็นไม่ควรแก้กลับมีการแก้ไข อย่างการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนสามารถผลิต นำเข้า หรือมีวัตถุอันตรายชนิดที่ 4  ซึ่งมีพิษร้ายแรงไว้ในครอบครองได้   ทั้งที่ผ่านมาห้ามนำเข้ายังมีเล็ดลอดเข้ามาได้   กรณีอย่างนี้เป็นการเพิ่มภาวะความเสี่ยงด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนโดยไม่จำเป็น  ทั้งๆ ที่มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่เห็นชอบข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติเกี่ยวกับนโยบายและยุทธศาสตร์ด้านสุขภาพประเด็นอาหารและเกษตรเพื่อสุขภาพ  ที่ว่า ให้กำหนดหลักเกณฑ์  และกระบวนการควบคุมการโฆษณา และการขายตรงสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชในลักษณะข้อบังคับทางกฎหมาย  เพราะจากการศึกษาเรื่องระบบการตลาดสารเคมี  พบว่ามีการโฆษณาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างกว้างขวางในสื่อทั้งวิทยุ โทรทัศน์และหนังสือพิมพ์  โดยเน้นในพื้นที่ที่ทำการเกษตรเป็นหลัก  

.

นอกจากนี้ยังมีการขายตรงและการส่งเสริมการขาย เช่น การลดราคา  การแจกหรือแถม  การชิงโชค  การขายพ่วงกับเมล็ดพันธุ์  การจัดเลี้ยง เป็นต้น   ทำให้ปัจจุบันนี้เม็ดเงินที่เรานำเข้าสารเคมีทางการเกษตรมากกว่ารายได้จากการขายข้าวเสียอีก  และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อย ๆ  ดังนั้นปริมาณสารเคมีที่ฉีดพ่นลงบนแผ่นดินไทยในแต่ละปีนั้นมีปริมาณมหาศาล  ทำให้ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภคได้รับสารพิษเหล่านี้กันไปโดยถ้วนหน้า   แต่ข้อเสนอดังกล่าวกลับไม่ได้มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.วัตถุอันตรายครั้งนี้ให้ชัดเจนและสามารถนำไปใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ   โดยเฉพาะ มาตรา 51  ระบุว่าการควบคุมโฆษณาวัตถุอันตรายให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และเพื่อประโยชน์ในการควบคุมโฆษณาให้ถือว่าวัตถุอันตรายที่มีการกำหนดฉลาก  เป็นสินค้าที่มีการควบคุมโดยคณะกรรมการควบคุมฉลากตามกฎหมาย   แต่ปรากฏว่าในมาตราดังกล่าวไม่เคยมีการบังคับใช้เลย เพราะเจ้าหน้าที่ที่ดูแลกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค  ไม่ชำนาญในการเรื่องเฉพาะเช่นนี้  ทำให้เกิดช่องว่างในการควบคุมการโฆษณาวัตถุอันตราย 

.

"ผมมองว่าการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้นับว่าเป็นสิ่งที่ดี  เพราะกฎหมายที่เขียนมานานแล้วอาจจะไม่สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป   แต่การแก้ไขควรคำนึงผลกระทบอย่างรอบด้าน   และรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่างๆ  อย่างกว้างขวาง   ดังนั้น สช.จะทำหน้าที่ประสานผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมกันจัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น เพื่อรับฟังความเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.วัตถุอันตราย ในวันที่ 28 พฤษภาคมนี้  ที่สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์  เพื่อให้ทุกภาคส่วนช่วยกันคิด  ช่วยกันมองอย่างรอบด้าน  ผมคิดว่าจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างมากสำหรับการแก้ไขกฎหมายฉบับนี้"  นพ.อำพล กล่าว

.

ด้านนางสาวทัศนีย์  วีระกันต์  เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก  เสนอว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในมาตรา 6 มีการแก้ไขแต่เฉพาะองค์ประกอบในสัดส่วนของภาครัฐ   แต่เดิมองค์ประกอบของคณะกรรมการชุดนี้มีภาคประชาชนอยู่เพียง 2 คน  ซึ่งไม่เพียงพอต่อการสะท้อนปัญหาอันเกิดจากผลกระทบจากการใช้วัตถุอันตราย และความเห็นจากการปฏิบัติจริงอย่างรอบด้าน  ดังนั้นควรเพิ่มจำนวนผู้แทนองค์การสาธารณะประโยชน์อีกอย่างน้อย 3 คนจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง  ได้แก่ ผู้แทนด้านคุ้มครองผู้บริโภค  เกษตรธรรมชาติ และคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบอาชีพ  จะทำให้คณะกรรมการฯชุดนี้มีสัดส่วนที่ดีขึ้นแม้จะยังไม่สมดุล   และผู้ที่แก้ กม.นี้น่าจะคำนึงถึงมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 ที่เห็นชอบข้อเสนอของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ  ว่าให้มีหลักเกณฑ์และขั้นตอนกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมสารป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างชัดเจน  ดังนั้นเมื่อมีการแก้ไข กม.วัตถุอันตรายครั้งนี้แล้วก็ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการวัตถุอันตรายตลอดทั้งกระบวนการ  ไม่ใช่เพียงบริหารจัดการของเสีย หรือความเสียหายที่เกิดขึ้นเท่านั้น