เนื้อหาวันที่ : 2007-05-15 14:51:49 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2118 views

ก.พลังงาน ตั้งเป้าปี 2550 หนุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

กระทรวงพลังงาน โหมโรง ตั้งเป้าปี 2550 ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก SPP พลังงานหมุนเวียนและระบบผลิตไฟฟ้าไอน้ำร่วม เช่น พลังงานลม แสงอาทิตย์ ขยะ แกลบ เศษไม้และอื่น ๆ ที่สามารถาจัดหาได้ในประเทศ โดยเน้นกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

กระทรวงพลังงาน โหมโรง ตั้งเป้าปี 2550 ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก SPP พลังงานหมุนเวียนและระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน เช่น พลังงานลม  แสงอาทิตย์  ขยะ แกลบ เศษไม้และอื่น ๆ ที่สามารถาจัดหาได้ในประเทศ โดยเน้นกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม

.

นายณอคุณ สิทธิพงศ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการเปิดงานสัมมนา เรื่อง "การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสำหรับผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ณ โรงแรมอมารี วอเตอร์เกท กรุงเทพฯ ว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจต่อนโยบายการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน และระเบียบการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้าที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนา ซักถามข้อมูลเพิ่มเติม และแสดงความคิดเห็นได้ โดยกระทรวงพลังงาน ตั้งเป้าหมายรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP เป็น 4,000 เมกะวัตต์ จากปัจจุบันมี SPP ที่ขายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 2,395.10 เมกะวัตต์ ซึ่งในปี 2550 กระทรวงพลังงานได้ประกาศรับซื้อไฟฟ้างวดแรกจำนวน 1,030 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น SPP ที่ใช้ระบบผลิตไฟฟ้าและไอน้ำร่วมกัน (Cogeneration) จำนวน 500 เมกะวัตต์  และการรับซื้อไฟฟ้าจาก SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน จำนวน  530 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย เชื้อเพลิงจากขยะ จำนวน 100 เมกะวัตต์ พลังงานลม จำนวน 115 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ จำนวน 15 เมกะวัตต์ และพลังงานหมุนเวียนชนิดอื่นๆ เช่น แกลบ เศษไม้ กำหนดปริมาณรับซื้อรวม 300 เมกะวัตต์

 .

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงาน กำหนดแนวทางการจูงใจ เพื่อให้มีผู้ผลิตไฟฟ้า SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนขายไฟฟ้าเข้าระบบมากยิ่งขึ้น ด้วยการกำหนดให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าในอัตราคงที่เป็นระยะเวลา 7 ปี แก่ผู้ผลิตไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจาก เชื้อเพลิงขยะ และพลังงานลม รัฐให้ส่วนเพิ่มค่าไฟฟ้า 2.50 บาทต่อหน่วย และพลังงานแสงอาทิตย์ รัฐให้ส่วนเพิ่ม 8 บาทต่อหน่วย

 .

ขณะที่ถ้าเป็น SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ เช่น แกลบ เศษไม้ จะใช้วิธีเปิดประมูลแข่งขัน โดยคัดเลือกจากผู้ที่ขอส่วนเพิ่มอัตราต่ำสุดก่อนแต่สูงสุดไม่เกิน 0.30 บาทต่อหน่วย โดยตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-15 มิ.ย. 50 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้เปิดขายซองเอกสารเชิญชวนเพื่อยื่นข้อเสนอแล้ว ซึ่ง SPP ที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอขอรับส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้าได้ในวันที่ 1 สิงหาคม 2550 และ สนพ. จะใช้เวลาพิจารณาประมาณ 2 เดือน เพื่อคัดเลือกผู้ได้รับส่วนเพิ่ม โดยคัดเลือกจากผู้ขอรับส่วนเพิ่มต่ำสุดก่อน   

 .

"รัฐบาลโดยกระทรวงพลังงาน ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้พลังงานหมุนเวียนเพราะนอกจากเป็นพลังงานที่สามารถาหาได้ในประเทศ ยังเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการกระจายแหล่งเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า ช่วยเสริมความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า และส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อม" นายณอคุณ กล่าว 

 .

ปัจจุบัน การรับซื้อไฟฟ้าตามระเบียบ SPP มีจำนวนทั้งสิ้น 83 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบรวม 2,395.10 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย  SPP ที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 53 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบ 491.90 เมกะวัตต์ SPP ที่ใช้พลังงานเชิงพาณิชย์ 26 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าขายเข้าระบบ 1,670.20 และ SPP ที่ใช้พลังงานผสม 4 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าเสนอขายเข้าระบบ 233 เมกะวัตต์