เนื้อหาวันที่ : 2012-08-24 12:08:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1774 views

หอการค้าไทย เตรียมความพร้อมภาคบริการ เศรษฐกิจอาเซียน

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เตรียมความพร้อมภาคบริการ จัดงาน AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 3)

หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย นับถอยหลังการเปิดเขตเศรษฐกิจเสรีอาเซียน อีก 3 ปีข้างหน้า เร่งจัดงาน AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 3) เน้นการเชื่อมโยงธุรกิจภาคบริการ ธุรกิจการท่องเที่ยวและด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ไทย ต้องเร่งเรียนรู้และสร้างประสบการณ์

ในการเตรียมรับการเปิดเขตเศรษฐกิจเสรี “ประชาคมเศรฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community, AEC)” ในปี 2558 ว่า นับจากนี้ไป อีก 3 ปี ถือเป็นการเริ่มนับถอยหลังให้กับประเทศไทย เพื่อที่รองรับกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น โดยในปีนี้สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยได้ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กระทรวงอุตสาหกรรม จัดงาน AEC and SMEs Challenges: Next Steps (Phase 3) เพื่อเป็นการเชื่อมโยงธุรกิจ SMEs ขยายสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community)

 โดยเน้นการให้ความรู้กับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ไทย ให้มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องทิศทางธุรกิจภาคบริการ ธุรกิจการท่องเที่ยว และด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ที่ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือ SMEs ไทยจะเข้าสู่ Supply Chain ได้อย่างไร

โอกาสของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ไทย ยังคงเปิดกว้างและพร้อมที่จะเข้าแข่งขันกับประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งหมด โดยเฉพาะธุรกิจการค้าภาคบริการนั้น มีบทบาทความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต ดังนั้นจึงต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาอย่างจริงจังและเร่งด่วน พร้อมทั้งเสริมสร้างสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่มีอยู่ให้สามารถพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันและขยายต่อเนื่องอย่างมีประสิทธิภาพให้เกิดความยั่งยืน

ดังเช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วให้ความสำคัญกับภาคธุรกิจบริการ เนื่องจากสามารถเพิ่มพูนมูลค่าได้อย่างมีนัยสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ และหากภาครัฐและเอกชนของประเทศมีการบูรณการร่วมกัน ในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ย่อมนำไปสู่เป้าหมายทำให้ธุรกิจการค้าภาคบริการ เป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศสู่การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนใน ปี พ.ศ.2558 ตลอดจนสามารถเพิ่มพูนศักยภาพการแข่งขันบูรณาการสู่เศรษฐกิจโลกได้

“ในขณะนี้เศรษฐกิจประเทศไทยกำลังอยู่ในขั้นกำลังพัฒนาและมี GDP ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่เริ่มจะมีปัญหายุ่งยาก ในการรักษาสภาพการเป็นฐานผลิตที่มีต้นทุนแรงงานราคาต่ำ ด้วยสถานการณ์ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปในเชิงลบเมื่อมีการเปรียบเทียบระดับค่าแรงงานไร้ฝีมือที่ประเทศอาเซียนอื่น ๆ มีค่าแรงงานต่ำกว่าของประเทศไทย ยกเว้นเพียง มาเลเซีย และสิงคโปร์เท่านั้น ที่มีค่าแรงงานไร้ฝีมือสูงกว่า แต่ทั้งสองประเทศดังกล่าวมีระดับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีกว่าประเทศไทย โดย

ทั้งสองประเทศมีภาคการค้าบริการที่พัฒนาไปมากกว่าประเทศไทย ซึ่งสถานการณ์เปรียบเสมือนประเทศไทยมีสภาพถูกตรึงอยู่ตรงกลาง (Stuck in the Middle) หรือที่เรียกว่ากับดักของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ดังนั้นประเทศไทย จึงควรใช้โอกาสของการเป็น AEC เพื่อเพิ่มโอกาสของประเทศไทยในการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างไปสู่เศรษฐกิจเพิ่มมูลค่าของผลิตภาพของประเทศที่จำเป็นต้องกำหนดทิศทางอย่างจริงจัง ในการเข้าสู่ AEC ที่มีขนาดตลาดจาก 67 ล้านคน และเพิ่มขึ้น เป็นเกือบ 600 ล้านคน และที่สำคัญกว่านั้นประเทศไทยควรมีการบูรณาการกับกรอบความตกลง ASEAN+3 และ ASEAN+6 ตลอดจนการร่วมพิจารณากับ FTA อื่นๆ ที่กำลังจะตามมาในอนาคตด้วย ”

การที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ให้ความสำคัญกับธุรกิจภาคบริการเป็นหลักนั้น ถือเป็นคำตอบด้านยุทธศาสตร์ที่สำคัญของประเทศไทย ในการสร้างมูลค่ารวมทางเศรษฐกิจของประเทศเนื่องจาก การค้าภาคบริการจะประกอบไปด้วยบริการด้านโลจิสติกส์ บริการด้านท่องเที่ยว และอื่น ๆ ที่เป็นรายได้หลักของประเทศ ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานแรงงานได้มากกว่า ซึ่งจะสามารถปรับโครงสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศให้เพิ่มหรือมีการขยายตัวมากขึ้นได้หลายเท่า อีกทั้งในธุรกิจภาคบริการ ยังทำหน้าที่ให้การสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมการผลิตให้มีประสิทธิภาพและขยายฐานการส่งออกของประเทศได้มากขึ้น