เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 16:18:48 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2881 views

14 แนวทางเพื่อการจัดการที่เป็นเลิศของผู้บริหารโครงการ

หลักการจัดการถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารโครงการจะต้องศึกษา และนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดในการจัดการโครงการ หากผิดพลาดจะไม่สามารถโทษใครในโครงการ

หลักการจัดการถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้บริหารโครงการจะต้องศึกษา และนำไปใช้ประโยชน์ให้มากที่สุดในการจัดการโครงการ เพราะหากโครงการนั้นมีการจัดการบริหารที่ผิดพลาดแล้ว เราจะไม่สามารถโทษใครในโครงการได้เลย นอกจากตัวผู้บริหารหรือผู้ที่รับผิดชอบโครงการนั้น  สำหรับแนวทางหรือหลักในการจัดการนั้นมีหลากหลายทฤษฏี แต่ในบทความนี้จะขอแนะนำท่านผู้อ่านให้ได้รู้จักหลักการจัดการเชิงบริหารของ Henri J. Fayol

.

Henri J. Fayol เป็นชาวฝรั่งเศสโดยอาชีพหลักเป็นวิศวกรและนักอุตสาหกรรม ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการแตกต่างไปจากนักวิชาการท่านอื่น ๆ ในปี ค.ศ. 1841-1925 Henri J. Fayol ได้เขียนหนังสือที่มีชื่อว่า “Classical Administrative Theory Of Management” เสนอแนวคิดทฤษฏีทางด้านการจัดการเชิงบริหารขั้นมูลฐานสำหรับผู้บริหารระดับสูง (ในยุคนั้นส่วนใหญ่จะเน้นเฉพาะผู้บริหารระดับต่ำและชนชั้นแรงงาน) แนวคิดของเขาค่อนข้างได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง และเป็นหลักของการศึกษาในด้านการจัดการเชิงบริหาร  โดยทั่วไปหลักการจัดการสำหรับผู้บริหารนั้นได้มีการกล่าวไว้ในประเด็นสำคัญ 5 ประเด็น คือ การวางแผน การจัดองค์การ การสั่งการ การประสานงานและการควบคุม  ซึ่ง Fayol ได้นำเอาประเด็นเหล่านี้ แบ่งแยกย่อยออกไปอีก 14 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารนำไปใช้ในการปฏิบัติงาน เรียกว่า ทฤษฎีการจัดการของเฟยอล (Fayol’s Principles Of Management)

.

.

                                                                                 Henri J. Fayol ผู้บุกเบิกแนวความคิดการจัดการเชิงบริหาร

.

14 แนวทางสู่ความเป็นเลิศในการจัดการ

สำหรับทฤษฎีของ Fayol ทั้ง 14 ข้อที่จะได้แนะนำต่อไปนี้ โดยแท้จริงก็ไม่ได้มุ่งหมายว่าผู้บริหารทุกท่านจะต้องดำเนินการตามแนวทางนี้ในทุก ๆ ข้อ เพราะจะต้องคำนึงถึงสภาพการณ์ตามความเป็นจริงของแต่ละโครงการ แต่หากสามารถปฏิบัติได้ก็จะทำให้การจัดการและการบริหารโครงการนั้นลุล่วงไปด้วยดี

.

1.ผู้บริหารต้องดำเนินการจัดแบ่งงาน สำหรับแนวทางนี้ถือเป็นงานอันดับแรกที่ผู้บริหารจะต้องปฏิบัติ เพื่อที่จะให้ผู้ร่วมงานสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างถูกจุด ลองนึกดูว่าหากไม่มีการจัดแบ่งงานการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละบุคคลก็จะไม่เกิดขึ้น  เมื่อไม่มีการทำงานโครงการก็ไม่อาจมีขึ้นมาได้ ด้วยเหตุนี้การจัดแบ่งงานถือเป็นหน้าที่สำคัญที่ผู้บริหารโครงการจะต้องยึดถือเป็นงานสำคัญอันดับต้น ๆ วิธีการหรือรูปแบบในการจัดแบ่งงานนั้นสามารถที่จะเลือกได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งงานตามความสามารถ การแบ่งงานตามความเชี่ยวชาญ  การแบ่งงานตามความเหมาะสม ฯลฯ

.

2.ผู้บริหารต้องมีอำนาจหน้าที่ การมีอำนาจหน้าที่ของผู้บริหารนั้น หมายถึง การใช้อำนาจหน้าที่ให้ถูกต้องตามที่ได้รับมอบหมาย เช่น มีหน้าที่ในการสั่งการ มีหน้าที่ในการลงโทษ มีหน้าที่ในการควบคุม ฯลฯ แต่เหนืออื่นใดการมีอำนาจหน้าที่ของผู้บริหาร จะต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบในอำนาจหน้าที่ ที่ได้กระทำไปด้วยจึงจะถือเป็นการจัดการที่ถูกต้อง

.

3.ผู้บริหารต้องมีวินัย ผู้บริหารที่ดีจะต้องมีความเคารพในระเบียบวินัยที่องค์กรได้กำหนดกฎเกณฑ์ไว้ การที่ผู้บริหารมีวินัยในตนเองจะเป็นแบบอย่างให้กับผู้ร่วมงาน และลูกน้องเคารพและปฏิบัติตาม นอกจากนี้หากมีผู้ที่ผิดวินัยก็สามารถที่จะอบรม ลงโทษได้โดยที่ลูกน้องไม่มีข้อคลางแคลงใจ ตรงข้ามกับผู้บริหารที่ขาดระเบียบวินัยหากใช้อำนาจหน้าที่ลงโทษลูกน้องที่ขาดระเบียบวินัยก็จะเกิดความคลางแคลงในระเบียบปฏิบัติอย่างแน่นอน

.

4.ผู้บริหารจะต้องสร้างเอกภาพของสายบังคับบัญชา คือ การสร้างอำนาจให้เกิดแก่ผู้บริหารเพื่อที่จะให้มีสิทธิ์สั่งการ มอบหมายงานต่าง ๆ ได้อย่างเต็มที่ แต่การสร้างเอกภาพไม่ได้หมายถึงการสร้างอำนาจหรืออภิสิทธิ์ เพราะจะต้องมีความรับผิดชอบต่อการสั่งการนั้น ๆ เสมอหากมีข้อผิดพลาดหรือแก้ไขหากเกิดปัญหานั้น ๆ ขึ้นมา

.

5.ผู้บริหารจะต้องสร้างเอกภาพในทิศทาง เอกภาพในทิศทาง ก็คือ จุดมุ่งหมายที่เป็นหนึ่งเดียวซึ่งถือเป็นหลักการสำคัญของการดำเนินโครงการ

.

6.ผู้บริหารจะต้องให้คนในองค์กรเห็นแก่ประโยชน์ของส่วนรวม ในความเป็นจริงนั้นต้องยอมรับว่าบุคคลนั้นมีพื้นฐานที่แตกต่างกัน การเข้ามาทำงานก็มีทั้งแสวงหาประโยชน์มากบ้างน้อยบ้าง แต่ผู้บริหารจะต้องมีวิธีการจัดการให้กลุ่มคนเหล่านี้คล้อยตามสู่ระบบการทำงานขององค์กรเป็นหลัก มีหลากหลายวิธีการนับตั้งแต่ให้คนในองค์กรเห็นความสำคัญของการปฏิบัติงาน การชักจูงด้วยรางวัล หรือแม้กระทั่งการกำหนดบทลงโทษหากมีการประพฤติมิชอบต่อองค์กร

.

7.ผู้บริหารจะต้องจัดการระบบตอบแทน ระบบตอบแทนโดยพื้นฐานขององค์กรก็คือเงินซึ่งเป็นค่าจ้างที่องค์กรกำหนดให้กับกลุ่มคน ลูกจ้าง การจัดการในส่วนนี้จะต้องเป็นไปอย่างยุติธรรมโดยยึดถือเอาข้อกำหนดขององค์กร ประสบการณ์  ความเชี่ยวชาญหรืออัตราจ้างของกรมแรงงาน เป็นหลัก  ระบบตอบแทนนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะหากมีการตอบแทนด้วยความเหมาะสมก็จะได้ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย แต่ถ้านายจ้างโกงลูกจ้างถึงแม้ลูกจ้างจะทำงานให้ก็ทำให้ด้วยความไม่พอใจ พลอยจะทำให้ผลผลิตนั้นเสียหาย องค์กรก็สูญเสียรายได้เนื่องจากต้องลงทุนในด้านการผลิตมากยิ่งขึ้น หรืออาจจะขาดผู้ที่จะมาทำงานในงานส่วนนี้เพราะไม่เกิดความประทับใจในระบบตอบแทน

.

8. ผู้บริหารจะต้องรู้จักการสร้างศูนย์รวม การสร้างศูนย์รวมในที่นี้คือการสร้างอำนาจให้อยู่ในจุด ๆ เดียว หรือจุด ๆ เดียวสามารถที่จะสั่งการในทุก ๆ หน่วยงานขององค์กรได้ การสร้างศูนย์รวมนี้มีข้อดีที่ว่าสามารถที่จะรวบรวมอำนาจในการดำเนินการได้โดยง่าย แต่ข้อเสียคือทำให้องค์กรย่อย ๆ ขาดเอกภาพที่พึงจะมี ดังนั้น ในการสร้างศูนย์รวมนั้นจะต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมเป็นกรณี ๆ ไป

.

9. ผู้บริหารจะต้องสร้างสายบังคับบัญชา สายบังคับบัญชา คือ ระดับของแบ่งอำนาจหน้าที่รับผิดชอบเพื่อไม่ให้เกิดความซ้อนทับในการรับคำสั่ง และเกิดแบบแผนในการปฏิบัติงานเพียงผู้บริหารสั่งหัวหน้าทีม หัวหน้าทีมก็จะสั่งการกับลูกน้องภายในทีมเป็นระดับไปแต่ในบางกรณี อาจมีการข้ามจากผู้บริหารสู่ลูกน้องเลยก็สามารถที่จะทำได้หากต้องการความรวดเร็ว หรือต้องการทราบจากแหล่งปฏิบัติงานโดยตรง

.

10. ผู้บริหารจะต้องสร้างระเบียบ การสร้างระเบียบอาจนับได้ว่าเป็นข้อปฏิบัติของทุกคนในองค์กร ไม่เว้นแม้แต่ผู้ออกกฎเอง การสร้างระเบียบ จะทำให้เกิดความเป็นระบบในการทำงานในทุก ๆ ด้าน เพราะทุกคนต่างรู้จักระเบียนในการปฏิบัติ เช่น การจัดเก็บ/การยืมสิ่งของ การลาป่วย การรายงาน การเข้าพบผู้บริหาร ฯลฯ ซึ่งการสร้างระเบียบนี้ไม่ได้หมายเฉพาะถึงบุคคลแต่หมายถึง วัสดุอุปกรณ์ เครื่องสำนักงานต่าง ๆ ในองค์กร

.

11.ผู้บริหารจะต้องยึดในความเท่าเทียมกัน ถึงแม้ว่าผู้บริหารจะเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการดำเนินกิจการหรือการออกคำสั่งในทุก ๆ ด้าน แต่การยึดในหลักการของความเท่าเทียมกันจะสร้างความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นแก่องค์กรได้เป็นอย่างดี การแสดงความเท่าเทียมกันนี้ก็ต้องอยู่ในขอบเขตที่สมควร เช่น การยึดถือหลักปฏิบัติขององค์กรเช่นเดียวกับพนักงานในทุก ๆ คน มีบทบาทลงโทษ มีการกำหนดการตอบแทน ทุก ๆ อย่างต้องเป็นไปตามหลักการขององค์กร

.

12.ผู้บริหารจะต้องสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคง การสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นคงในที่นี้ อันดับแรกจะต้องสร้างให้เกิดแก่บุคลากรภายในองค์กรเป็นหลัก เพราะหากบุคลากรไม่เกิดความเชื่อมั่นหรือมีความรู้สึกมั่นคงในองค์กร  การเปลี่ยนงานก็เป็นเรื่องธรรมดาแต่ความเสียหายจะเกิดกับองค์กรทันที โดยเฉพาะในองค์กรที่ต้องอาศัยความเชื่อมั่นเกี่ยวกับบุคลากร เช่น สถาบันการเงิน สถาบันการศึกษา บุคคลภายนอกที่เข้ามาติดต่อก็จะเกิดความไม่เชื่อมั่นต่อองค์กร เนื่องด้วยมองว่าเป็นองค์กรที่ขาดประสิทธิภาพ แม้เจ้าหน้าที่หรือพนักงานก็ยังไม่ทำงาน แต่หากผู้บริหารมีแผนการรองรับ เช่น การจัดเตรียมบุคลากรทดแทนก็จะถือเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดแก่องค์กรได้  

.

13. ผู้บริหารจะต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์นั้นอาจไม่ได้มาจากผู้บริหารเป็นหลัก แต่จะใช้วิธีการประชุมพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากผู้ร่วมงานหรือหัวหน้าฝ่ายต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความต้องการหรือสภาพความเป็นจริง จากนั้นนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์เพื่อการตัดสินใจดำเนินการ    

.

14. ผู้บริหารจะต้องสร้างความรักในหมู่คณะ การสร้างความรักในหมู่คณะคือการสร้างความสามัคคี การสร้างขวัญและกำลังใจให้เกิดขึ้นในการทำงาน เมื่อแต่ละฝ่ายนั้นมีการทำงานที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถึงจะขัดแย้งกันแต่ก็เพื่อให้งานนั้นออกมาดีที่สุดก็จะส่งผลดีต่อองค์กร ในข้อนี้ผู้บริหารนั้นจะต้องใช้ความสามารถและความจริงใจ มีจิตใจที่เมตตากรุณาต่อผู้เป็นลูกน้องจึงจะทำให้เกิดความรักสามัคคีในหมู่คณะ

.

แหล่งอ้างอิง

A Short Course Management 101: The Five Functions of Management from learn.com