เนื้อหาวันที่ : 2006-02-16 11:05:25 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2204 views

กทช.เตรียมพิจารณาฮัลโหล 10 หลักสิ้นเดือนนี้

กทช.เดินหน้าแก้ปัญหาเลขหมายโทรศัพท์มือถือขาดแคลนเพิ่มเลขหมายเป็น 10 หลัก เพิ่มได้ 300 ล้านเบอร์ รองรับ 30 ปี เตรียมชงเข้าสู้การพิจารณาครั้งสุดท้าย

กทช.เดินหน้าแก้ปัญหาเลขหมายโทรศัพท์มือถือขาดแคลนเพิ่มเลขหมายเป็น 10 หลัก เพิ่มได้ 300 ล้านเบอร์ รองรับ 30 ปี เตรียมชงเข้าสู้การพิจารณาครั้งสุดท้ายและทำแผนเสร็จสิ้นปลายเดือนนี้ คาดเริ่มใช้ต้นปี 2549 แนะผู้ประกอบการชอบตุนเลขหมาย อาจโดนเก็บค่าบริการเพิ่ม

หลังจากคณะกรรมการ กทช.ได้พิจารณาและหารือเพื่อการแก้ไขการขาดแคลนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยเพิ่มเลขหมายโทรศัพท์ให้เป็น 10 หลัก โดยเพิ่ม 08 เข้าไปนั้น ที่เป็นแผนระยะยาวถึง 30 ปี จะเป็นวิธีที่จะสามารถแก้ปัญหาได้อย่างดีที่สุด และจะสามารถรองรับเลขหมายได้ถึง 300 ล้านเลขหมาย แต่เดิมสามารถรองรับเลขหมายได้เพียงแค่ 90 ล้านเลขหมาย เเบ่งเป็นโทรพื้นฐาน 6-7 ล้านเลขหมายเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้เฉพาะโทรศัพท์เคลื่อนที่เท่านั้น ซึ่งจะไม่กระทบต่อโทรศัพท์พื้นฐานเพราะจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆขึ้น

พล.อ.ชูชาติ พรมพระสิทธิ์ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าถึงโครงการดังกล่าวว่า ขณะนี้เตรียมเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาครั้งสุดท้าย โดยคาดว่าหลักการและหลักเกณฑ์ดังกล่าวของการทำแผนเลขหมายใหม่จะเสร็จสิ้นภายในเดือนกันยายน 2548 นี้ ก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะสามารถประกาศใช้ในต้นปี 2549 อย่างแน่นอน ซึ่งหลังจากที่มีข้อสรุปในที่ประชุมถึงแผนการและหลักเกณฑ์ของการทำแผนเลขหมายใหม่นี้เสร็จเรียบร้อยก็จะต้องแจ้งให้ทาง บีทียู รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องทั่วโลกให้รับรู้ว่า ทางประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนแปลงเลขหมายขึ้น

ในส่วนเลขหมายของโทรศัพท์พื้นฐานนั้นจะยังคงเป็น 9 หลักเช่นเดิม เพราะจำนวนการใช้เลขหมายพื้นฐานมีอัตราการเติบโตที่ไม่สูงมากนัก หากเทียบกับการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีการเติบโตทีสูงกว่า และเพื่อเป็นการรองรับธุรกิจด้านโทรคมนาคมข้างหน้าต่อไปในเรื่องของ 3จีอีกด้วย

ทั้งนี้ ในระหว่างนี้ที่ยังไม่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย กทช.ได้ให้เวลาแก่ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการเตรียมตัวปรับปรุงข้อมูลเรื่องเลขหมายของตนเอง โดยเร่งทำความเข้าใจกับประชาชนให้ทราบล่วงหน้าว่าภายหลังประกาศใช้แผนเลขหมายโทรคมนาคมแล้ว หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันต้องเปลี่ยนแปลงซึ่งจะให้กระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด และไม่ก่อให้เกิดภาระต่อผู้ประกอบการ

นอกจากนี้หากผู้ประกอบการเก็บหรือทำการกักตุนเลขหมายไว้มากจนเกินไป กทช.อาจจะต้องมีการเก็บค่าบริการ แต่จะมีการเก็บเท่าไหร่นั้นก็ต้องพิจารณากันอีกครั้ง ซึ่งก็คงยังไม่ได้อยู่ในช่วงนี้ เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น และสามารถเก็บได้จากผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีอยู่เพียง 2 รายเท่านั้นคือ บริษัท ทีโอที จำกัด ( มหาชน ) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด ( มหาชน ) ส่วนรายอื่น ๆ นั้นยังไม่สามารถจะเข้าไปเก็บได้ เนื่องจากกฎหมายยังไม่ครอบคลุม

พล.อ.ชูชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า กทช. ยังได้ออกหลักเกณฑ์เพื่อเป็นการกระตุ้นให้มีโทรศัพท์พื้นฐานเพิ่มขึ้นโดยได้ออกร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในเรื่องหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการจัดให้มีบริการโทรศัพท์พื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ซึ่งได้กำหนดสาระสำคัญให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์พื้นฐาน ต้องมีจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อย 2 เลขหมายต่อ 1 หมู่บ้าน จำนวนไม่เกิน 6,000 หมู่บ้าน ซึ่งในเงื่อนไขยังกำหนดให้ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการต้องจัดให้มีโทรศัพท์มีสายหรือไร้สาย ซึ่งติดตั้งประจำที่ และโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อยอย่างละ 1 เลขหมาย รวมอย่างน้อย 2 เลขหมายต่อแห่งในสถานศึกษา ศาสนสถาน สถานพยาบาล และหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือแก่สังคมจำนวนไม่เกิน 4,000 แห่ง โดยให้ดำเนินการภายใน 24 เดือนหลังได้รับใบอนุญาต ขณะเดียวกันต้องจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะอย่างน้อย 1 เลขหมาย รัศมีไม่เกิน 100 เมตร ในชุมชนที่มีรายได้น้อย ขนาดไม่ต่ำกว่า 100 ครัวเรือน ที่ได้ยื่นความต้องการและอยู่ในเขตพื้นที่โครงข่ายของผู้ได้รับใบอนุญาต อีกทั้งต้องสำรองเลขหมายไว้ไม่เกิน 2,600 เลขหมาย และจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะสำหรับคนพิการใช้งานได้อย่างสะดวก