เนื้อหาวันที่ : 2012-07-30 09:52:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2466 views

ไทย-เกาหลี จับมือจัดตั้งการสำรองน้ำมัน 90 วัน สร้างความมั่นคงพลังงานไทย

ไทย-เกาหลีจับมือจัดเวทีเตรียมความพร้อมก่อนจัดตั้งการสำรองน้ำมัน 90 วัน มั่นใจช่วยเสริมสร้างความมั่นคงพลังงานไทย

กระทรวงพลังงานร่วมกับสาธารณรัฐเกาหลีจัดเวทีสัมมนา หัวข้อเรื่อง “Energy Forum on Oil Risk Management” ณ โรงแรมสวิสโซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพมหานคร เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านการเตรียมความพร้อมในการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ เสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ และก่อให้เกิดความร่วมมืออันดีระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลี

นายคุรุจิต นาครทรรพ โฆษกกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กพช. มีมติเห็นชอบให้มีการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศเพิ่มเป็น 90 วัน ทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป โดยจะให้ภาคเอกชนสำรองเพิ่มเป็น 6% คิดเป็นปริมาณสำรอง 43 วัน ส่วนที่เหลือรัฐบาลจะต้องลงทุน เพื่อให้สำรองน้ำมันครบเป็น 90 วัน

ซึ่งถือเป็นนโยบายที่มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ที่ประเทศไทย ต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันดิบ กว่าร้อยละ 85 ของการจัดหา จึงมีความเสี่ยงที่อาจจะประสบกับกับภัยสงครามและภัยธรรมชาติ ซึ่งจะทำให้เกิดการหยุดชะงักของการจัดหาน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการ (Oil Supply Disruption)

ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานได้เล็งเห็นความสำคัญของการเตรียมความพร้อม เพื่อรองรับสภาวะวิกฤตด้านน้ำมันที่อาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา จึงมีความจำเป็นที่จะต้องศึกษารูปแบบและแนวทางการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ของประเทศอื่นๆ ที่มีประสบการณ์และความพร้อมด้านการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์

 ซึ่งในการสัมมนาในครั้งนี้ ประเทศไทยได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี จากองค์การน้ำมันแห่งชาติสาธารณรัฐเกาหลี และกระทรวงเศรษฐกิจความรู้สาธารณรัฐเกาหลี ในการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์

เนื่องจาก สาธารณรัฐเกาหลีเป็นประเทศที่ต้องนำเข้าพลังงานในปริมาณที่สูงเหมือนประเทศไทย และเห็นความสำคัญของการจัดตั้งการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์มาเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 20 ปี จึงได้มีการพัฒนาการเก็บสำรองน้ำมันทั้งแบบ บนบก ใต้ดิน และลอยในทะเล

 ซึ่งเป็นเทคโนโลยีการเก็บสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ที่น่าสนใจ รวมถึงมีการจัดตั้งองค์กรการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์อย่างเป็นระบบ (Korean National Oil Corporation; KNOC) ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของประเทศไทยที่อยู่ระหว่างการยกร่างกฎระเบียบ และคัดเลือกเทคโนโลยีการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะสมต่อสภาพเศรษฐกิจ สังคม และภูมิศาสตร์ของประเทศไทย

การจัดสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากประเทศไทยจะได้แลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทางเลือกที่เป็นไปได้และการบริหารจัดการความเสี่ยงของการจัดหาน้ำมันให้เพียงพอต่อความต้องการของชาติแล้ว ผู้เข้าร่วมสัมมนายังได้มีโอกาสพบปะพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญทั้งภาครัฐ และเอกชน จากสาธารณรัฐเกาหลี

และประเทศไทย เกี่ยวกับทิศทางในการพัฒนาระบบการสำรองน้ำมันทางยุทธศาสตร์ในอนาคตอีกด้วย ซึ่งคาดว่าเวทีนี้จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถ พร้อมทั้งองค์ความรู้ ในการพัฒนาและเตรียมความพร้อมด้านน้ำมันเชื้อเพลิงให้กับประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นายคุรุจิต กล่าว