เนื้อหาวันที่ : 2012-07-27 23:57:23 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2900 views

ร้าน 0 บาท นำขยะวัสดุรีไซเคิลมาแลกของใช้ในชีวิตประจำวัน

ร้านสะดวกซื้อ สอดรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช เขตประเวศ

ร้านสะดวกซื้อ ภายใต้โครงการต้นแบบ ร้าน 0 บาท สอดรับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของศูนย์วัสดุรีไซเคิลกลุ่มอาชีพซาเล้ง ชุมชนอ่อนนุช เขตประเวศ แม้จะไม่มีเงินสดก็สามารถซื้อสินค้าได้ด้วยการหาวัสดุรีไซเคิลมาแลกเปลี่ยนได้

ไม่ว่าจะเป็นบรรจุภัณฑ์ ขวดแก้ว ขวดพลาสติก กระป๋องเครื่องดื่ม กล่องกระดาษ กล่องเครื่องดื่ม โดยมีบริษัทใหญ่ ๆ เข้ามาร่วมสนับสนุน เช่น บริษัท บางกอกกล๊าส จำกัด เข้ามาช่วยรับซื้อเศษแก้ว ,บริษัท เอสซีจี จำกัด(มหาชน) ช่วยรับซื้อถุงพลาสติกที่ขายไม่ได้ วัสดุพิษ เช่น หลอดไฟ ถ่านไฟฉาย เป็นต้น

นายสมพงษ์ ตันเจริญผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และประธานคณะกรรมการบริหาร สถาบันบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิล เพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท.กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องค่าครองชีพที่สูงขึ้นในทุกด้าน สิ่งของอุปโภคบริโภคพร้อมใจกันปรับตัวขึ้นราคา ในขณะที่รายรับไม่สมดุลกับรายจ่าย ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบถึงคนไทยทั่วประเทศ
 
การจัดการวัสดุรีไซเคิล ซึ่งมีมูลค่าเป็นเงินสด สามารถนำมาจับจ่ายใช้สอย ช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนได้ ในรูปแบบร้านค้าต่าง ๆ เช่น  ร้านของชำ ร้านข้าวแกง ร้านรับแลกสินค้าเคลื่อนที่ ตามความต้องการของแต่ละชุมชน โดยมีแนวคิดในการใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสด เพื่อแลกสินค้าอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในชุมชน และลดปริมาณขยะในประเทศ รวมทั้งเป็นการสร้างวัฒนธรรมการคัดแยกขยะให้กับคนไทย
 
นายยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา ผู้อำนวยการสถาบัน TIPMSE
กล่าวว่า วัตถุประสงค์ในการทำโครงการ”ร้าน 0 บาท”มี 3 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อลดภาระค่าครองชีพของประชาชน โดยการใช้วัสดุรีไซเคิลแทนเงินสด 2.เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนมองเห็นมูลค่าของวัสดุรีไซเคิล ก่อนทิ้งเป็นขยะ

และ 3.เพื่อรณรงค์ให้เกิดวัฒนธรรมใหม่ที่คนรุ่นใหม่ ร่วมใจคัดแยกวัสดุรีไซเคิล ซึ่งคาดว่าจะทำให้สร้างวัฒนธรรมที่คนในชุมชนจะสามารถจัดการคัดแยกขยะจากต้นทาง จะช่วยให้ปัญหาขยะในชุมชนลดลง ทั้งยังสามารถลดค่าครองชีพของคนในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ทาง TIPMSE พยายามจะขยายร้าน 0 บาทออกไปยังชุมชนต่าง ๆ ที่มีความพร้อม เพราะจะให้ทางชุมชนบริการจัดการกันเอง

นางบัวรินทร์ เสรีย์วงศ์ ผู้จัดการร้าน 0 บาท กล่าวว่า เดิมชาวบ้านเก็บของเก่าขายจะนำของที่เก็บได้ไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่านอกชุมชน ทำให้เสียค่ารถค่าน้ำมันในการเดินทาง พอมีร้าน 0 บาทขึ้น ซาเล้งส่วนหนึ่งจะนำของมาขายเพื่อแลกสินค้าอุปโภคบริโภคไปใช้ในครัวเรือน

ส่วนราคาการรับซื้อจะขึ้นลงตามตลาดจะไม่แตกต่างจากร้านรับซื้อด้านนอก เพราะส่วนหนึ่งทางร้าน 0 บาทจะนำขึ้นรถไปขายให้กับร้านรับซื้อของเก่ารายใหญ่ทั่วไป แต่คนในชุมชนที่มาขายประหยัดค่าเดินทางและเวลาไม่ต้องนำไปขายไกล ส่วนบริษัทใหญ่ที่มารับซื้อมีเพียง 2-3 รายที่ให้ราคาดีกว่า

ทั้งนี้  หากรวมรายได้จากการขายขยะรีไซเคิลทุกอย่างต่อเดือนได้ประมาณ 20,000 บาท ซึ่งเงินจำนวนนี้ส่วนหนึ่งจะแบ่งเป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 10,000บาท ในการซื้อสินค้ามาขายภายในร้าน แบ่งเป็นค่าบริหารจัดการภายในร้าน ที่เหลือเป็นกำไรเก็บไว้จ่ายเป็นเงินปันผลคืนให้สมาชิก

ข้อมูลเรียบเรียง / ภาพประกอบจาก : มติชนออนไลน์