เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 12:19:57 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 7574 views

อัตราดอกเบี้ย อัตราเงินเฟ้อ และอัตราแลกเปลี่ยน ตัวแปรสำคัญในโลกเศรษฐกิจสมัยใหม่

สิ่งต่าง ๆเหล่านี้ บางทีเราคิดว่ามันก็เหมือนเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องไม่ไกลเลย คือเรื่องปากท้องของเราเอง

ท่านผู้อ่านเคยได้ยินคำพูดที่ว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว กันบ้างหรือเปล่าครับ จะว่าไปแล้วคำพูดดังกล่าวสะท้อนหลักธรรมประการหนึ่งของพระพุทธองค์เรื่อง อิทัปปัจจยตา หรือหลักธรรมข้อที่ว่า เมื่อมีสิ่งนี้เป็นปัจจัย สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น  จะว่าไปแล้วในโลกเศรษฐกิจก็เป็นเช่นนั้น ผู้เขียนเคยตั้งคำถามว่าทำไมเมื่อกลุ่มประเทศผู้ค้าน้ำมันในตะวันออกกลางต่างรวมหัวกันขึ้นราคาน้ำมันถึงทำให้เด็กปั๊มในกรุงเทพต้องออกจากงาน? หรือทำไมผลของราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้ยอดจำหน่ายถัง NGV ขายดิบขายดีซะอย่างงั้น จะว่าไปสิ่งที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่มีเหตุปัจจัย               

.

ในช่วงเวลานี้หากเราหันไปทางไหนมักมีคนบ่นเรื่อง ราคาน้ำมันแพงจนทำให้เงินเฟ้อ ราคาน้ำตาลที่ขึ้นเมื่อสักสองเดือนที่แล้วทำให้น้ำอัดลมขยับราคาขึ้นอีกขวดละบาท ธนาคารต่างแข่งกันระดมเงินฝากด้วยการแข่งกันขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือค่าเงินบาทตอนนี้แข็งโป๊กอย่าบอกใครเชียว ทำเอาผู้ส่งออกโวย  ในแต่ละวันที่เราต้องเผชิญกับสิ่งต่าง ๆเหล่านี้ บางทีเราคิดว่ามันก็เหมือนเรื่องไกลตัว แต่จริง ๆ แล้วมันเป็นเรื่องไม่ไกลเลย  เรื่องของเศรษฐกิจหากจะพูดง่าย ๆ ก็คือเรื่องปากท้องของเราเอง  เรื่องของการหารายได้ เพื่อนำมาบริโภคหรือใช้จ่าย เพื่อนำมาเก็บออม เพื่อนำมาลงทุน ท้ายที่สุดก็เพื่อนำมาเสียภาษี (ย้ำอีกครั้งนะครับ คือ ขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์บ้านเราจะได้ยกเว้นการเสียภาษี) สิ่งเหล่านี้คือเรื่องเศรษฐกิจด้วยกันทั้งสิ้น ดังนั้น Macroeconomic Outlook ฉบับนี้จะคุยกันในเรื่องของ 3 อ. คือ อัตราดอกเบี้ย (Interest rate) อัตราเงินเฟ้อ (Inflation rate) และอัตราแลกเปลี่ยน (Exchange rate)

.
อัตราดอกเบี้ยค่าเสียโอกาสของการถือเงิน
.

ในตลาดเงินเสรี อัตราดอกเบี้ย คือ ราคาของเงินกู้  (Loanable fund) ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำจึงขึ้นอยู่กับความต้องการต่อเงินกู้ (Demand for loanable fund) กับปริมาณเงินที่ให้กู้ (Supply for loanable fund) พูดง่าย ๆ ก็คือ ดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำก็เป็นไปตามหลักดีมานด์ซัพพลายนั่นเอง แนวคิดดังกล่าวเป็นแนวคิดของนักเศรษฐศาสตร์คลาสสิคที่เชื่อในกลไกตลาด ดังนั้น จึงเชื่อว่าดอกเบี้ยก็คือราคาของเงินกู้นั่นเอง แต่อย่างไรก็ตามนักเศรษฐศาสตร์สำนักเคนส์ (Keynesian Economists) กลับไม่เชื่อเช่นนั้นเริ่มจากท่านเจ้าสำนัก John Maynard Keynesian  เชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยจะสูงหรือต่ำถูกกำหนดโดยความต้องการถือเงิน (Demand for Money) และปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ (Supply of Money)

.

เคนส์อธิบายว่าแท้จริงแล้วประชาชนมีความต้องการถือเงินด้วยวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกัน แต่พอจะสรุปคร่าว  ๆ ได้ว่า ถือเงินไว้เพื่อใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน  ถือไว้เพื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉิน อีกทั้งถือไว้เพื่อเก็งกำไรโดยจะนำไปลงทุนในพันธบัตรหรือหลักทรัพย์  ทั้งนี้เคนส์บอกอีกว่ายิ่งรายได้ของประชาชนมากขึ้น ความต้องการถือเงินก็จะมากขึ้นตาม ในทางกลับกันยิ่งดอกเบี้ยสูงขึ้นคนจะมีความต้องการถือเงินน้อยลง เคนส์พูดถึงปริมาณเงินที่เป็นปัจจัยอย่างหนึ่งในการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ว่า ปริมาณเงินที่หมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจจะมากหรือน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับนโยบายของธนาคารกลาง  การสร้างเงินของธนาคารพาณิชย์    การใช้จ่ายของภาครัฐ  รวมถึงการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ ดังนั้นยามใดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจ อาจจะด้วยการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม ผลของการเพิ่มปริมาณเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ  จะทำให้ปริมาณเงินมากกว่าความต้องการถือเงินทำให้ดอกเบี้ยต่ำลง ในทางกลับกันหากธนาคารควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนจากต่างประเทศเพื่อไม่ให้ปริมาณเงินหมุนเวียนมากเกินไป  ส่งผลให้ปริมาณเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมีน้อยกว่าความต้องการถือเงิน  ทำให้ดอกเบี้ยสูงขึ้น                                                                                                                      

.

ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยมีหลายประเภท เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝาก (Deposit rate) เงินกู้ (Borowing rate) อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมระหว่างธนาคารหรือ Interbank rate  อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน (Bank rate) อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตร (Repurchase rate) เป็นต้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้เป็นเครื่องมือในการส่งสัญญาณทางการเงินให้กับธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินต่าง ๆ คือ อัตราดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมในตลาดซื้อคืนพันธบัตรระยะ14 วัน หรือ Repo Rate 14 วัน     

.

แน่นอนว่าอัตราดอกเบี้ยมีความสำคัญต่อโลกเศรษฐกิจทั้งในเชิงจุลภาคและมหภาค กล่าวคือ อัตราดอกเบี้ยมีอิทธิพลต่อการออมของภาคครัวเรือน ยิ่งดอกเบี้ยสูงครัวเรือนยิ่งออมมาก  ในทางกลับกันดอกเบี้ยต่ำครัวเรือนยิ่งลดการออมหันไปบริโภคมากขึ้น  โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าราคาสูงอย่างบ้าน รถยนต์ที่ต้องอาศัยการผ่อนชำระ หากอัตราดอกเบี้ยต่ำ กำลังซื้อของประชาชนก็จะมากขึ้น การลงทุนก็เพิ่มขึ้นเนื่องจากต้นทุนเงินกู้ต่ำลง ธุรกิจที่จะลงทุนสามารถกู้เงินมาลงทุนมากขึ้น ดังนั้น ยามใดที่ธนาคารกลางส่งสัญญาณว่าจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตร 14 วัน ยามนั้นแสดงว่าธนาคารต้องการลดความร้อนแรงในการบริโภคโดยผ่านสถาบันการเงินให้มีส่วนดึงเงินในมือของประชาชนมาเก็บไว้ก่อนเพื่อชะลอการบริโภค จะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยนั้นมีความสำคัญต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจในแง่ของการออม  การบริโภค  การลงทุนนอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยยังมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศ กล่าวคือ ในตลาดเงินทุนระหว่างประเทศ เงินทุนจะไหลไปสู่แหล่งเงินทุนที่ให้อัตราผลตอบแทนสูงเสมอ ดังนั้น  หากอัตราดอกเบี้ยที่กรุงเทพขยับตัวสูงขึ้นเงินทุนจากสิงคโปร์ก็จะไหลเข้ามาลงทุนที่กรุงเทพมากขึ้น ในทางกลับกัน   หากอัตราดอกเบี้ยลดต่ำลงเงินทุนก็จะไหลออกไปสู่แหล่งเงินทุนที่ดึงดูดมากกว่า  

.

เราจะเห็นได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะนอกจากจะมีผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศแล้ว  ยังเกี่ยวพันกับการไหลเข้าไหลออกของเงินทุนต่างประเทศอีกด้วย  การบริหารนโยบายการเงินในโลกเศรษฐกิจสมัยใหม่  จึงต้องมีความรอบคอบระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง  เพราะความผิดพลาดครั้งเดียวย่อมส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศมากมายมหาศาล   

.
อัตราเงินเฟ้อ ค่าของเงินที่อาจจะไม่มีค่า

จะว่าไปแล้วพวกฝรั่งตะวันตกนี่มันช่างคิดกันจริง ๆ โดยเฉพาะวิชาเศรษฐศาสตร์ที่นักคิดจากฟากตะวันตกต่างยึดกุมและสร้างกรอบหรือชุดความคิดให้กับเหล่าเทคโนแครตทางเศรษฐกิจทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดำเนินนโยบายการเงิน การคลัง อัตราแลกเปลี่ยน การค้าระหว่างประเทศ การพัฒนาเศรษฐกิจ     สิ่งเหล่านี้เป็นการศึกษาความคิดของชนชาติตะวันตกด้วยกันทั้งสิ้น จึงไม่น่าแปลกใจที่เวลาประกาศผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์จากอเมริกาและอังกฤษมักจะเข้าป้ายอยู่เสมอ จะมีก็แต่ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์เชื้อสายอินเดียสามารถเบียดเข้ามาได้ในปี 1998   

.

กลับมาที่ อ. ตัวที่สองนั่นคือ อัตราเงินเฟ้อ อย่างที่จั่วหัวไว้ว่า อัตราเงินเฟ้อนั้นแสดงให้เห็นว่าค่าของเงินที่อาจจะไม่มีค่า คำกล่าวนี้ดูจะไม่เกินเลยนักหากวันหนึ่งเราพบว่าเงินที่เราถืออยู่ก็เป็นแค่เศษกระดาษ    ใบหนึ่ง ซึ่งเงินไม่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางอัตราแลกเปลี่ยนอีกต่อไป ปรากฏการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วหลายต่อ    หลายครั้ง เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 เมื่อเยอรมันแพ้สงครามได้เกิดเงินเฟ้ออย่างรุนแรงจนเรียกได้ว่าเป็น Hyper Inflation คือ เงินแทบจะไม่มีค่าเลย จะซื้อขนมปังกินทีต้องหอบเงินมาเป็นตระกร้า          จะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อจึงมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิตประจำวันมากกว่าอัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยน หรือมากกว่า GDP ที่ท่านนายกชอบพูดถึงบ่อย ๆ   

.

นักเศรษฐศาสตร์ให้คำจัดความของ เงินเฟ้อไว้ว่า เป็นภาวการณ์ที่ระดับราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องยาวนาน (Rising price) ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะพิจารณาเรื่องเงินเฟ้อคือ เวลา เราเคยแปลกใจบ้างหรือเปล่าที่ว่าเมื่อก่อนเงิน 20 บาท สามารถทำอะไรได้มากมายอย่างน้อยก็ขึ้นรถเมล์ครีมแดงได้หลายวันแต่วันนี้เงินจำนวนเดียวกันกลับนั่งรถเมล์ไปกลับได้เพียงวันเดียว สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงการขยับขึ้นของราคาสินค้าอย่างหนึ่งอย่างใด ลองนึกกันดูเล่น ๆ ว่าอีกไม่กี่สิบปี ค่ารถเมล์อาจขึ้นไปเที่ยวละ 20 บาทก็เป็นได้ 

.

นักเศรษฐศาสตร์ดูจะกังวลเรื่องเงินเฟ้อมากกว่าเรื่องอื่นใด ขณะเดียวกันธนาคารกลางเองก็มีการวางเป้าหมายทางเศรษฐกิจด้วยการทำ Inflation Target หรือเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสม  เพื่อรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจให้สมดุล อย่างไรก็ตามเงินเฟ้อไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิดเสมอไป  เพราะหากเงินไม่เฟ้อเอาซะเลยแรงจูงใจในการผลิตสินค้าและบริการคงน้อยลงไป เราสามารถแบ่งเงินเฟ้อออกได้เป็นหลายประเภท เงินเฟ้อที่มีส่วนกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจเราเรียก Creeping Inflation หรือ Mild inflation เรียกแบบน่ารักว่าเงินเฟ้ออย่างอ่อน ๆ เงินเฟ้อแบบนี้สังเกตจากระดับราคาที่เพิ่มขึ้นอย่างช้าปีละ 1-3 เปอร์เซนต์ เงินเฟ้อแบบนี้กระตุ้นให้เกิดการลงทุนเพราะธุรกิจสามารถมองเห็นกำไรจากราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้น  เมื่อการลงทุนสูงขึ้น การขยายการผลิตย่อมมากขึ้นผลที่ตามมาก็คือการจ้างงานที่เพิ่มขึ้น   การว่างงานลดลง  เงินเฟ้ออีกประเภทที่ไม่มีใครอยากเจอคือเงินเฟ้อที่เรียกว่า Hyper Inflation หรือเงินเฟ้ออย่างรุนแรง เงินเฟ้อประเภทนี้ทำให้ระดับราคาสินค้าสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เงินเฟ้อแบบนี้ทำให้ระบบเศรษฐกิจถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง  เงินไม่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยน ไม่ทำหน้าที่เป็นหน่วยวัดมูลค่าหรือรักษามูลค่าอีกต่อไป มีเรื่องเล่ากันว่าในช่วงที่เกิดวิกฤตค่าเงินเปโซในเม็กซิโกจนลามทุ่งไปทั่วทั้งลาตินอเมริกานั้น ราคาสินค้าชนิดเดียวกันใน Super Market มีราคาต่างกันตามช่วงเวลา เช่น เช้าราคาหนึ่ง สายอีกราคาหนึ่ง เย็นก็อีกราคาหนึ่ง ผันผวนเปลี่ยนแปลงเร็วมากขนาดนี้ หรือแม้แต่จะนั่งแท็กซี่ คนขับก็จะถามคุณว่าจะให้คิดราคาที่ต้นทางหรือปลายทาง เป็นต้น เท่านี้ก็แสดงให้เห็นแล้วว่าหากไม่สามารถคุมอัตราเงินเฟ้อได้ เสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจจะหมดไปความโกลาหลก็จะตามมาในที่สุด

.

สาเหตุสำคัญของเงินเฟ้อมีอยู่สองประการคือมาจากทางด้าน Demand หรือ Demand pull inflation เงินเฟ้อประเภทนี้มาจากอุปสงค์มวลรวมในระบบเศรษฐกิจมีมากกว่าอุปทานมวลรวม ซึ่งเมื่ออธิบายปรากฏการณ์นี้นักเศรษฐศาสตร์ใช้กราฟ AD & AS อธิบายโดยจะขยับเส้น AD ไปทางขวาแล้วหันมาบอกกับพวกเราว่านี่ไงพอ AD shift ขวาแล้วทำให้ P เพิ่ม แล้วก็ Y เพิ่มด้วย ตัว Pในความหมายของพวกเขาก็คือระดับราคาสินค้าเฉลี่ยส่วน Y ก็คือระดับรายได้รวม แม้ว่าการเพิ่มขึ้นของ  อุปสงค์มวลรวมจะทำให้รายได้เพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ก็ทำให้เกิดอัตราเงินเฟ้อไปพร้อม ๆ กัน   การแก้ปัญหาดัวยการลดความร้อนแรงของระบบเศรษฐกิจจนกลัวจะเลยเถิดไปมากกว่านี้รัฐบาลกลางจะใช้นโยบายการเงินหรือนโยบายการคลังในการจัดการปัญหา เช่น เก็บภาษีเพิ่มขึ้น เพื่อลดการบริโภคหรือรัฐอาจจะลดการใช้จ่ายเพื่อไม่ให้อุปสงค์มวลรวมเพิ่ม รวมไปถึงการปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางเพื่อลดการบริโภคและดึงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ     

.

สาเหตุอีกประการที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อมาจากด้านของ Supply หรือ Cost Push inflation เงินเฟ้อประเภทนี้มาจากอุปทานมวลรวมในระบบเศรษฐกิจซึ่งเมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้น     เส้น ASของนักเศรษฐศาสตร์ก็จะขยับขึ้นไปเพราะอุปทานรวมน้อยลง ขณะที่อุปสงค์มวลรวมอาจจะอยู่นิ่งไม่เปลี่ยนแปลงผลของต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำให้การผลิตลดลงและผลักดันให้เกิดเงินเฟ้อทำให้เงินเฟ้อประเภทนี้เป็นที่หวาดกลัวกันนักหนา โดยเฉพาะอย่างยิ่งโลกเศรษฐกิจปัจจุบันการผลิตสินค้าและบริการส่วนใหญ่ผูกติดกับปัจจัยการผลิตที่ชื่อว่า น้ำมัน ชื่อนี้คงทำให้หลาย ๆ คนหนาว ๆ ร้อน ๆโดยเฉพาะประเทศที่ต้องนำเข้าน้ำมันจาก OPEC การประกาศขึ้นราคาน้ำมันแต่ละครั้งของพลพรรค OPEC ล้วนทำให้โลกเศรษฐกิจโกลาหลโดยเฉพาะล่าสุดเมื่อราคาน้ำมันดิบขยับไปที่ 75 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นเหตุให้เศรษฐกิจทั่วทั้งโลกแทบจะอัมพาตกินพร้อม ๆ กับข่าวการทำสงครามระหว่างอเมริกา(เจ้าโลก)กับอิหร่าน ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ทำให้ราคาน้ำมันขยับสูงขึ้นอย่างมีเหตุผลบ้างและไม่มีเหตุผลบ้าง    

.

ที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าโลกใบนี้นอกจากจะมีความเป็นโลกาภิวัตน์อย่างชัดเจนแล้ว          การที่ประเทศใดประเทศหนึ่งขยับตัวย่อมกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของคนอีกหลาย ๆ ประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่เว้นแต่ความโลภของมนุษย์ผู้หนึ่งหรือมนุษย์กลุ่มหนึ่งก็ยังสร้างความวิบัติให้กับมนุษย์อีกหลายพันล้านคนที่ไม่เคยรู้อิโหน่อิเหน่ เหมือนที่ผู้เขียนกล่าวไว้ข้างต้นว่า เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว สำหรับฉบับหน้าเรามาคุยกันต่อในเรื่อง อ.ที่สามคืออัตราแลกเปลี่ยนครับ

.
เอกสารประกอบการเขียน
1. สุรักษ์ บุนนาค และวันรักษ์ มิ่งมณาคิน , เศรษฐศาสตร์มหภาคเบื้องต้น

2. รัตนา สายคณิต , เครื่องชี้สภาแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาค