เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 11:49:07 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2342 views

การคัดเลือกที่ปรึกษาที่ดีที่สุด

ในการคัดเลือกที่ปรึกษาที่ดี ถึงจะมีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานให้ที่ปรึกษาทั้งหลายมาขึ้นทะเบียนรับรองวิชาชีพจากหน่วยงานของรัฐ ก็ไม่อาจเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้

ในการคัดเลือกที่ปรึกษาที่ดีนั้น ถึงแม้จะมีความพยายามจัดตั้งหน่วยงานให้ที่ปรึกษาทั้งหลายมาขึ้นทะเบียนรับรองวิชาชีพจากหน่วยงานของรัฐก็ตาม ก็ไม่อาจจะบอกได้ว่าเป็นที่ปรึกษาที่ดีได้ ดังนั้น ในทัศนะเกี่ยวกับการให้คำปรึกษาจะต้องพิจารณาถึง คำปรึกษาที่สอดคล้องกับความเป็นจริงและไม่เอนเอียง ทั้งนี้ผู้ขอรับบริการต้องสามารถเลือกที่ปรึกษาที่ดีได้เอง แทนที่จะเป็นฝ่ายคอยจนกว่าจะมีที่ปรึกษามาเลือกท่าน ผู้ขอรับบริการจะต้องมีเกณฑ์การพิจารณาและขั้นตอน ที่สามารถได้ผู้ชำนาญการที่ดีที่สุดแต่ขอให้จำไว้ว่าผู้ขอรับบริการต้องเลือกที่ปรึกษาหรือมุ่งสรรหาบริษัทมืออาชีพ ที่มีความสามารถและเชื่อถือได้กับผลงานที่ผ่านมา กระบวนให้คำปรึกษานั้น ประเด็นเกี่ยวกับมนุษยสัมพันธ์ระหว่างที่ปรึกษากับผู้ขอรับบริการ ก็มีความสำคัญมากพอ ๆ กับความรู้และความชำนาญทางวิชาการของที่ปรึกษา ดังนั้น ผู้ขอรับบริการจะต้องให้ความสนใจ ต่อการจัดบุคคลที่มีบุคลิกลักษณะเข้ากันได้เป็นอย่างมาก บริษัทที่ปรึกษาที่เลือกต้องจัดบุคคลที่เข้าใจและเอาใจใส่ผู้ขอรับบริการ ซึ่งผู้ขอรับบริการไว้วางใจและอยากจะทำงานด้วย

.

การเข้ามาในอาชีพที่ปรึกษานี้ดูเป็นเรื่องง่ายมาก เพราะตลาดที่มีลักษณะเสรีและมีโอกาสขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว จึงเป็นสาเหตุ หนึ่ง ที่ได้นำเอาพวก แกะดำ เข้ามาสู่วงการที่ปรึกษาได้เช่นกัน จงระวังอย่าสรรหาเอานักหลอกลวง และคนที่พยายามยกยอตัวเองว่าเป็นมืออาชีพ เพื่อให้ชาวบ้านยอมรับให้ได้ โดยอ้างอิงใบรับรองต่าง ๆ จากการผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรของรัฐ ผู้เขียนเคยเจอมาแล้วกับที่ปรึกษาประเภทนี้ ที่อวดอ้างสรรพคุณทั้งความรู้ และประสบการณ์ที่ผ่านมา แต่ขาดความเข้าใจความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ขอรับบริการ นี่เป็นจุดอ่อนอย่าง หนึ่ง ที่ยังไม่มีหน่วยงานใดมาควบคุมได้อย่างจริงจัง ทำให้เกิดความเสี่ยงของผู้ขอรับบริการอาจจะเจอกับที่ปรึกษาเหล่านี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การที่ผู้ขอรับบริการจะต้องเสาะหาข้อมูลและแหล่งที่มาของที่ปรึกษาเอง เพื่อจะได้ที่ปรึกษาของจริงไม่ใช่ของปลอม ที่สำคัญจะต้องพิจารณาตัวที่ปรึกษาเป็นหลักไม่ใช่ที่หน่วยงานหรือบริษัทที่ที่ปรึกษาสังกัด

.

ความเป็นมืออาชีพ

กล่าวโดยทั่วไปที่ปรึกษาที่ให้บริการคำปรึกษาแนะนำนั้น สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ขอรับบริการที่ต้องการเปลี่ยนแปลง หรือพัฒนาระบบการบริหารงานภายใต้เงื่อนไขการปฏิบัติงานได้ ให้มีผลเป็นที่น่าพอใจ แต่จะเชื่อใจที่ปรึกษาทุกคนอย่างไม่ลืมหูลืมตาแล้วยอมรับคำแนะนำหรือความเห็น โดยขาดการพินิจพิจารณาใด ๆ ย่อมเป็นการไม่ฉลาด ผู้ขอรับบริการควรตระหนักให้รอบคอบ อย่าละเลยหรือแม้แต่ความประพฤติผิดมารยาทที่มิควรในกระบวนการวิชาชีพที่ปรึกษาเช่น ไม่ตรงต่อเวลา ลักษณะคำพูดจาหรือกิริยามารยาทต่าง ๆ ต้องเหมาะสม เป็นต้น จากความเติบโตที่รวดเร็วของวิชาชีพที่ปรึกษา ทำให้บริษัทบางแห่งมีการเกณฑ์พนักงานที่ขาดประสบการณ์หรืออาจจะเริ่มเข้าทำงานใหม่ ๆ โดยขาดการฝึกอบรมการสอนเป็นที่ปรึกษาอย่างเข้มข้นเพียงพอ ทำให้การปฏิบัติงานวิชาชีพที่ปรึกษาเกิดข้อบกพร่อง ด้วยการอาศัยความเชี่ยวชาญทางวิชาการสู่การแสวงหาผลประโยชน์ เพื่อกำไรและความเป็นนักขายเกิดขึ้นในวงการอย่างมากมาย จนกลายเป็น  "นักแสวงหาโอกาสอย่างมืออาชีพ" มากกว่าการเป็น "ที่ปรึกษามืออาชีพ"

.

โดยทั่วไปความเป็นมืออาชีพย่อมมีการตีความได้ และควรตระหนักในบทบาทตามขอบวิชาชีพเหล่านี้ เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดและความผิดพลาด ในการใช้ที่ปรึกษาต่อไปในอนาคตจึงมีหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ปรึกษา ที่ผู้ขอรับบริการมีอิสระในการพิจารณาตามความต้องการของตน โดยมีความคาดหวังที่จะได้ที่ปรึกษามืออาชีพจากบริษัทที่ปรึกษาและมีประสบการณ์อยู่ในหลักเกณฑ์ จึงพอสรุปหลักเกณฑ์ในการพิจารณาที่ปรึกษาได้ ดังนี้

.

ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ

ความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการพิจารณา เพราะผู้ขอรับบริการให้ความสำคัญกับเรื่องความซื่อสัตย์และมาตรฐานทางจรรยาบรรณมากเป็นอันดับต้น ๆ หากจรรยาบรรณวิชาชีพและการประพฤติปฏิบัติในการปฏิบัติงานใด ๆ มีข้อน่าสงสัย และไม่ชัดเจนเพียงพอ ผู้ขอรับบริการก็ไม่ควรพิจารณาเลือกใช้ที่ปรึกษารายนั้นเข้าร่วมทำงานได้ ในความประพฤติปฏิบัติทางวิชาชีพของที่ปรึกษาเป็นประเด็นถกกันค่อนข้างมากในกระบวนการคัดเลือก เพราะมีความเกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณทางวิชาชีพของที่ปรึกษาโดยตรง ซึ่งยังขาดหน่วยงานเข้ามาควบคุมตรวจสอบกันอย่างจริงจัง ดังนั้น ผู้ขอรับบริการจึงอยู่ในสภาวะรับความเสี่ยงต่อการเลือกที่ปรึกษา ว่าจะได้ที่ปรึกษาที่ซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพหรือไม่ นอกจากการตรวจสอบเองแล้วอาจจะต้องสอบถาม จากผู้ที่อยู่ในวงการหรือผู้ขอรับบริการรายอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา

.

ความสามารถทางวิชาชีพ

เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญในการคัดเลือก ผู้ขอรับบริการจะต้องคัดเลือกที่ปรึกษาเองไม่ว่ากรณีใดก็ตาม ถึงแม้จะมีหน่วยงานของรัฐสรรหามาให้ เพราะจำเป็นจะต้องตรวจสอบความสามารถทางวิชาชีพขั้นพื้นฐานเสียก่อน ถือเป็นสิทธิของผู้ขอรับบริการที่ต้องใช้ข้อมูลในการตัดสินใจที่ถูกต้อง อย่างไรก็ตามเรื่องนี้ต้องใช้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ เพราะเหตุผลก็คือ ความสามารถทางวิชาชีพไม่สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็ว และให้เกิดการยอมรับอย่างทันที แต่พอที่จะประเมินความสามารถทางวิชาการเบื้องต้นได้บ้าง ดังนี้

- วุฒิการศึกษา การฝึกอบรมและพัฒนาวิชาชีพของที่ปรึกษา

- ประสบการณ์และประเภทของงานที่ให้คำปรึกษาเป็นระยะเวลามากน้อยเพียงใด

- ผลงานอ้างอิงความสำเร็จที่ผ่านมา

- ประสบการณ์ความสามารถทางวิชาการ เช่น เคยเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย เป็นวิทยากรพิเศษในการบรรยายทางวิชาการ

- เขียนหนังสือ บทความทางวิชาการ และการทำวิจัยตลอดจนผลงานทางวิชาการที่มีการตีพิมพ์

.

ความรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมของลูกค้า

ในกรณีที่ปรึกษาเป็นผู้มีความเชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเฉพาะด้าน เช่น อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ สิ่งทอ อาหารแปรรูป อีเล็คทรอนิคส์ เป็นต้น ผู้ขอรับบริการอาจจะนำมาประกอบการพิจารณาความรู้ และประสบการณ์ด้วยเช่นกัน กล่าวโดยทั่วไปความเชี่ยวชาญเฉพาะงานอาจเป็นประโยชน์ ในภารกิจที่เกี่ยวข้องกับกล ยุทธ ์ทางธุรกิจ การปรับเปลี่ยนโครงสร้าง การปฏิบัติงานและการตลาด

.

ความเข้าใจวัฒนธรรมของผู้ขอรับบริการ

ผู้ขอรับบริการจะต้องพิจารณาที่ปรึกษาที่สามารถเข้ามาทำงานร่วมกันกับองค์กรของตนได้ดี โดยเฉพาะการปรับตัวของที่ปรึกษาในสภาพแวดล้อมการทำงาน และวัฒนธรรมขององค์กรดังกล่าว โดยที่ปรึกษาจะต้องตระหนักในปัจจัย และสภาพแวดล้อมเหล่านี้เป็นอย่างดี ที่ทำให้กระบวนการให้บริการคำปรึกษาไปสู่เป้าหมายของโครงการได้

.

ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม

ความสามารถของที่ปรึกษาในการให้คำปรึกษานั้น ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรมนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเป็นการนำเอาความคิดเหล่านั้น มาพัฒนากระบวนการให้คำปรึกษา ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้ขอรับบริการเข้าใจหลักการสร้างนวัตกรรมของตนเองที่เป็นจุดเด่นขึ้นมา โดยที่ปรึกษาจะอาศัยความสามารถแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาใหม่ ๆ ที่เป็นนวัตกรรมหรือความคิดสร้างสรรค์ ที่พิจารณาปัญหาจากการวิเคราะห์ทางสถิติ  ผลการวิจัยหรือแบบจำลองทางคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างความคิดใหม่ ๆ จะมีความสำคัญมากกว่าประสบการณ์ในการแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียว

.

ความสัมพันธ์ที่ดีของที่ปรึกษา

ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างที่ปรึกษากับผู้ขอรับบริการ จะต้องเป็นไปอย่างดีและเข้าใจการทำงานร่วมกัน เพราะกระบวนการให้คำปรึกษาจะต้องทำงานร่วมกันในระยะยาว ถ้าที่ปรึกษามองไม่เห็นข้อสำคัญเรื่องนี้ อาจเกิดความขัดแย้งกันระหว่างทั้งสองฝ่าย ทำให้เกิดความล้มเหลวในกระบวนการให้บริการคำปรึกษาได้ ดังนั้น การคัดเลือกที่ปรึกษาผู้ขอรับบริการจะต้องพิจารณาถึงบุคลิกภาพ การสื่อสารและมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจากตัวที่ปรึกษาด้วย เพราะหากได้ที่ปรึกษาดี นั่นหมายถึงโอกาสของความสำเร็จของโครงการย่อมเป็นไปได้มาก

.

ความสามารถในการจัดระบบงาน

การหาที่ปรึกษาที่มีความสามารถในการให้คำปรึกษาแต่เพียงอย่างเดียวนั้น อาจไม่เพียงพอจะต้องพิจารณาถึง ความสามารถที่ที่ปรึกษาแสดงให้เห็นในการจัดระบบงาน และวิธีการจัดการกับภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยโดยพิจารณา ดังนี้

- มีความกระตือรือร้นและพยายามทำความเข้าใจกับปัญหาอย่างจริงจัง

- เสนอวิธีการในเชิงสร้างสรรค์สำหรับการจัดการกับปัญหานั้น ๆ

- มีข้อเสนอที่ตรงประเด็นและเสนอแนะบางสิ่งที่จะก่อให้เกิดความแตกต่างอย่างแท้จริง

- ได้กำหนดรูปแบบการให้คำปรึกษาที่ทำให้ผู้ขอรับบริการมีส่วนร่วมและเรียนรู้ทุกขั้นตอนของงาน

- มีวิธีการและแผนปฏิบัติงาน การจัดโครงสร้างและเป้าหมายสำหรับภารกิจอย่างชัดเจน

.

ความสามารถในการดำเนินงาน

ที่ปรึกษาจะต้องสามารถดำเนินงานตามที่ระบุเป้าหมายไว้ในสัญญาได้ สิ่งสำคัญในกระบวนการให้คำปรึกษา คือที่ปรึกษาจะต้องพร้อมให้เวลาในการดำเนินงาน หรือให้การสนับสนุนแก่กระบวนอย่างเต็มที่ และกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อประสบปัญหาในระหว่างดำเนินงาน ที่ปรึกษาสามารถหาทางออกได้อย่างเหมาะสมกับเหตุการณ์นั้น ๆ เช่น เผชิญปัญหากับความขัดแย้งภายในองค์กรระหว่างผู้บริหารสองฝ่าย ในสถานการณ์เช่นนี้ที่ปรึกษาจะต้องยึดถือหลักการ ด้วยเหตุผลเหนือกว่าความรู้สึกหรืออารมณ์ ข้อเท็จจริงบางอย่างอาจจะสร้างความไม่พอใจให้แก่ผู้บริหารบางคนได้ ดังนั้น ความเป็นอิสระ และชอบด้วยเหตุผล จึงเป็นสิ่งที่ที่ปรึกษาจะต้องใช้ความพยายามให้บรรลุเป้าหมายของโครงการให้สำเร็จ 

.

ภาพพจน์ของที่ปรึกษา

ภาพพจน์ของที่ปรึกษาไม่ควรขึ้นอยู่กับการโฆษณาชวนเชื่อ หรือโฆษณาลงในวารสารต่าง ๆ ผู้ขอรับบริการจะต้องลดความเสี่ยงของการคัดเลือกที่ปรึกษาเหล่านี้ โดยการพิจารณาอย่างอื่นที่เจาะลึกลงไปได้และน่าเชื่อถือมากกว่านี้ คือ ทำความรู้จักซึ่งกันและกัน และพูดจากันอย่างเปิดเผยเกี่ยวกับเนื้อหาของงานก่อนการลงนามในสัญญา จะช่วยให้เข้าใจและทราบถึงความต้องการของทั้งสองฝ่ายที่แท้จริง เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิด และความขัดแย้งตลอดจนความล้มเหลวของโครงการ

 .

จากหัวข้อในการพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาดังกล่าว พอเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการสามารถนำไปพิจารณาคัดเลือกที่ปรึกษาได้บ้าง แต่อย่างไรก็ตามตัวผู้ขอรับบริการเองจะต้องฝึกการคิดหรือมีวิธีคิดที่เป็นระบบด้วย เพราะองค์กรใดที่ผู้บริหารไม่สามารถมองเห็นภาพรวมที่ทำอยู่ในขณะใดขณะ หนึ่ง เป็นส่วนไหนของกระบวนการทำงานทั้งหมด องค์กรนั้นจะไม่เป็นองค์กรแห่งความเป็นเลิศได้เลย แม้จะทำงานหนักก็ตาม ในส่วนตัวที่ได้มีโอกาสเข้าไปให้คำปรึกษามาแล้วหลายองค์กรคำถามจากผู้ประกอบการที่ว่า จะทำอย่างไรให้องค์กรมีระบบและพัฒนาไปได้มากกว่านี้คำตอบที่เข้าใจได้ง่าย ๆ คือ ความเป็นผู้นำของตัวผู้ประกอบการเอง ที่จะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงและโน้มน้าวให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ซึ่งให้ความสำคัญกับการกระทำอะไรให้แตกต่าง ที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ กล ยุทธ ์และแรงบันดาลใจ