เนื้อหาวันที่ : 2007-05-14 11:42:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 969 views

8 ยักษ์พลังงานควัก 1.3 หมื่นล้าน แก้มลพิษมาบตาพุด

เอกชน 8 รายเทงบ กว่า 13,700 ล้านบาท แก้ปัญหามลพิษมาบตาพุดในช่วง 5 ปี หลังเจอรัฐขู่ทำไม่ได้ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ขณะที่ สผ.คุมเข้มรายงานอีไอเอ 10 โครงการ กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษใหม่สูงกว่าของเดิม และเล็งเรียกโครงการที่อนุมัติอีไอเอไปแล้ว 2 ปี แต่ไม่ก่อสร้างมาพิจารณาใหม่

เอกชน 8 รายเทงบ กว่า 13,700 ล้านบาท แก้ปัญหามลพิษมาบตาพุดในช่วง 5 ปี หลังเจอรัฐขู่ทำไม่ได้ ประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ ขณะที่สผ.คุมเข้มรายงานอีไอเอ 10 โครงการ กำหนดมาตรฐานการปล่อยมลพิษใหม่สูงกว่าของเดิม และเตรียมเรียกโครงการที่ผ่านการอนุมัติอีไอเอไปแล้ว 2 ปี แต่ยังไม่ก่อสร้างกลับมาพิจารณาใหม่ ล่าสุดปตท.จับคู่โรงไฟฟ้าระยอง และเครือปูนใหญ่จับคู่ โรงกลั่นสตาร์ปิโตรเลียม ลดมลพิษ

.

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ"ถึงความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ปัญหามลพิษในพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยองว่า จากที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสหกรรม เป็นประธาน ได้อนุมัติแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษในพื้นที่จังหวัดระยอง พ.ศ.2550-2554 ไปแล้วนั้น โดยทางหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องต่างๆ ได้จัดทำแผนเสนอของบประมาณจากสำนักงบประมาณไปแล้วประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินการในปีนี้

.

ขณะที่ภาคเอกชน ทางกระทรวงพลังงานได้รับรายงานตัวเลขงบการดำเนินงานแล้ว โดยล่าสุดมีการแจ้งเข้ามาแล้ว 8 บริษัท ได้แก่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) บริษัท โกลว์พลังาน จำกัด(มหาชน) บริษัท บีแอลซีพีพาวเวอร์ จำกัด บริษัท สตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด บริษัท ระยองโอเลฟินส์ จำกัด ซึ่งทั้ง 7 บริษัท นี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนในการลดพิษกว่า 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการแก้ปัญหาก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ 4,000 ล้านบาท และออกไซด์ของไนไตรเจน 3,000 ล้านบาท โดยเน้นไปในการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเป็นส่วนใหญ่

.

ส่วนบริษัทที่ใช้งบดำเนินในการแก้ปัญหามากสุด จะเป็นบริษัท โรงกลั่นน้ำมันระยอง จำกัด(มหาชน) หรืออาร์อาร์ซี จะใช้งบดำเนินการประมาณ 6,700 ล้านบาท ในช่วงระยะเวลา 5 ปี โดยในปีนี้จะใช้งบประมาณ 2,500 ล้านบาท ปี 2551 ใช้งบ 3,600 ล้านบาท และอีก 3 ปี จะใช้งบปีละ 200 ล้านบาท ทั้งนี้ เนื่องจากอาร์อาร์ซีมีแผนที่จะยื่นขอรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ สำหรับการจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันมีกำลังการผลิต 150,000 บาร์เรลต่อวัน ทำให้ต้องลดปริมาณก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนลง เพื่อแลกกับการปล่อยมลพิษในส่วนการขยายกำลังการผลิตได้

.

ที่สำคัญการทุ่มงบของภาคเอกชนครั้งนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐได้แจ้งให้ภาคเอกชนทราบไปว่า หากไม่สามารถลดการปล่อยมลพิษให้ได้อย่างน้อย 20 % ในช่วงปี 2551-2553 และการลงทุนใหม่จะต้องสร้างมลพิษในสัดส่วนไม่เกินอัตราการปล่อยร้อยละ 80 หลังจากทำการลดมลพิษแล้ว หากไม่สามารถลดมลพิษลงได้ ทางรัฐบาลจะประกาศมาบตาพุดเป็นเขตควบคุมมลพิษต่อไป ซึ่งจะทำให้โรงงานใหม่ๆ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในบริเวณนี้

.

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการแก้ปัญหาต้องใช้เงินจำนวนมากนี้ ทางเอกชนต้องการความแน่ชัดในเรื่องสิทธิประโยชน์จากบีโอไอ ว่าจะให้ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งในวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 นี้ ทางสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนหรือบีโอไอ จะเชิญผู้ประกอบการต่างๆ มาหารือเพื่อชี้แจ้งทำความเข้าใจ โดยเบื้องต้น คาดว่าผู้ประกอบการที่ลงทุนแก้ปัญหานี้ จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในการยกเว้นภาษีเงินได้เป็นเวลา 13 ปี ยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร เป็นต้น

.

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า นอกจากนี้ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2550 ทางสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) จะเชิญผู้ประกอบการที่ยื่นขออีไอเอทั้ง 10 โครงการที่จะลงทุนในมาบตาพุด มารับทราบถึงกฎเกณฑ์ในการพิจารณาอนุมัติอีไอเอใหม่ โดยเฉพาะการปรับค่าปล่อยมลพิษใหม่ จากเดิมที่ค่ามาตรฐานตามอีไอเอค่าความเข้มข้นใน 1 ชั่วโมงของก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ให้ปล่อยไม่เกิน 262 พีพีเอ็ม และออกไซด์ของไนโตรเจน ปล่อยไม่เกิน 241 พีพีเอ็ม

.

แต่ของใหม่นี้จะนำค่ามาตรฐานในการปล่อยจริงสูงสุดของแต่ละโรงงาน ย้อนหลังกลับไป 5 ปี นำมากำหนดเป็นค่ามาตรฐานใช้บังคับแต่ละโรงงาน เนื่องจากที่ผ่านมาแต่ละโรงงานจะปล่อยมลพิษต่ำกว่าค่ามาตรฐานตามที่อีไอเอกำหนดอยู่แล้ว หากนำมาใช้บังคับจะช่วยให้การปล่อยมลพิษเกิดความเข้มข้นมากขึ้น และจะนำค่าใหม่นี้นำไปจัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ในการหาค่าความเข้มข้นของมลพิษในบรรยากาศต่อไป

.

นอกจากนี้ จะมีการแจ้งให้เจ้าของโครงการที่ผ่านการอนุมัติอีไอเอไปแล้ว แต่ยังไม่ดำเนินการก่อสร้างโรงงานขึ้นมาในช่วง 2 ปี นับตั้งแต่มีการอนุมัติ ทางสผ.จะให้ผู้ประกอบการยื่นขออนุมัติอีไอเอใหม่ โดยจะนำหลักเกณฑ์การปล่อยมลพิษใหม่นี้มาใช้บังคับ ซึ่งเวลานี้เท่าที่ตรวจสอบได้มีอยู่ 3 บริษัท ที่ต้องพิจารณาอีไอเอใหม่ ได้แก่ โรงไฟฟ้าระยะขนาด 700 เมกะวัตต์ ของบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด(มหาชน) โครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 700 เมกะวัตต์ ของบริษัท บีแอลซีพีพาวเวอร์ และอีกหนึ่งโครงการเป็นของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เป็นต้น

..

ส่วนโครงการที่อยู่ระหว่างการขออนุมัติอีไอเอนั้น ขณะนี้ทางภาครัฐได้ให้แนวทางในการลดมลพิษไปแล้ว โดยให้โครงการที่จะเกิดขึ้นใหม่ไปจับคู่กับโรงงานเดิมที่ตั้งอยู่แล้วดำเนินการลดมลพิษ เพื่อรองรับกับโครงการใหม่ที่จะปล่อยมลพิษให้เท่ากับปริมาณมลพิษที่ลดลง โดยเวลานี้ทางบริษัท ปตท.จำกัด(มาหชน) ซึ่งจะมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าและไอน้ำ ได้จับคู่กับโรงไฟฟ้าระยอง แล้ว โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 6 ที่จะเกิดใหม่ไปจับคู่กับโรงแยกก๊าซฯหน่วยที่ 5 ของปตท. ขณะที่โครงการของบริษัท เคมีภัณฑ์ซิเมนต์ไทย จำกัด จะจับคู่กับบริษัท โรงกลั่นน้ำมันสตาร์ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด เป็นต้น

.

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ