เนื้อหาวันที่ : 2007-05-11 20:22:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 950 views

จับตาการเมืองถ่วงเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดฮวบ

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.50 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเกือบทุกรายการต่ำสุดในรอบ 47-98 เดือน เนื่องจาก สถานการณ์การเมืองยังขาดเสถียรภาพ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย.50 ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังคงปรับตัวลดลงทุกรายการต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และเกือบทุกรายการต่ำสุดในรอบ 47-98 เดือน เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศเริ่มปรับตัวสูงขึ้นอีก สถานการณ์การเมืองยังขาดเสถียรภาพ เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และความกังวลเกี่ยวกับการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทที่จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคต รวมทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐยังไม่มีความชัดเจน คาดว่าผู้บริโภคจะชะลอการใช้สอยในช่วงครึ่งปีแรก และจะเริ่มกลับมาจับจ่ายใช้สอยปลายไตรมาสที่ 3/50 หากสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น

.

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมอยู่ที่ระดับ 72.1 ต่ำสุดในรอบ 62 เดือน ดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับโอกาสหางานทำโดยรวมอยู่ที่ 73 ต่ำสุดในรอบ 54 เดือน และดัชนีความเชื่อมั่นเกี่ยวกับรายได้ในอนาคตอยู่ที่ 87.7 ต่ำสุดในรอบ 63 เดือน ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเฉลี่ยเดือนเม.ย. อยู่ที่ 77.6 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 61 เดือน ซึ่งสอดคล้องกับดัชนีการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงทุกรายการไม่ว่าจะเป็นการซื้อรถยนต์ การซื้อบ้าน การใช้จ่ายเพื่อการท่องเที่ยว และการลงทุนทำธุรกิจ

.

"ความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังเป็นสัญญาณขาลงอย่างต่อเนื่อง และเป็นน้ำหนักที่รุนแรงและน่าเป็นห่วงมากขึ้น ไม่มั่นใจว่าสิ้นปีนี้เศรษฐกิจจะฟื้นตัวหรือไม่ ส่วนเศรษฐกิจมีสัญญาณการฟื้นตัวไตรมาสที่ 4/50 โดยรัฐบาลจะต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 0.5-0.75% เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพยุงค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับ 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และหากมีการเลือกตั้งช่วงปลายปีนี้จะทำให้มีเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 30,000-40,000 ล้านบาท นอกจากนี้รัฐบาลจะต้องดูแลภาคการส่งออกโดยเฉพาะการท่องเที่ยวให้เม็ดเงินไหลเข้าประเทศ รวมทั้งเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ซึ่งเป็นงบลงทุนกว่า 3 แสนล้านบาทลงไปในระบบในช่วงต้นไตรมาส 3/50 เพื่อให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้น" นายธนวรรธน์ กล่าว

.

นายสุภัค ศิวะรักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ 5.25 % นั้น ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอัตราดอกเบี้ยของระบบในประเทศ ยังมีโอกาสปรับลดลงได้อีกประมาณ 0.25 % แต่แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ควรเน้นเรื่องดอกเบี้ยอย่างเดียว และในช่วงที่ผ่านมาภาครัฐได้มีมาตรการออกมาบ้างแล้ว เช่น เร่งการใช้จ่ายงบประมาณ

.

ด้านนายขรรค์ ประจวบเหมาะ กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ในวันที่ 23 พ.ค.นี้ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยในระบบค่อนข้างต่ำอยู่แล้ว ดังนั้น แนวที่จะลดลงอาจเป็นเพียง 0.25 %

.

นายชัยวัฒน์ อุทัยวรรณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมื่อถึงปลายปีนี้อัตราดอกเบี้ยระยะสั้นอาจลดลงได้อีก 0.5 % ซึ่งน่าจะเป็นระดับที่กระตุ้นการใช้จ่ายได้บ้าง แต่คงต้องติดตามสถานการณ์ทางการเมืองช่วงปลายปีนี้ว่า จะเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญมาก

.

ที่มา : ข่าวสด