เนื้อหาวันที่ : 2012-06-21 10:53:55 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1600 views

ครม.เศรษฐกิจ ดูแลภาคส่งออกและแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ในยุโรป

ครม.เศรษฐกิจ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลภาคส่งออกและแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ในยุโรป

คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลภาคส่งออกและแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้ในยุโรป พร้อมสำรวจรัฐวิสาหกิจในกำกับที่กู้เงินสกุลต่างประเทศให้สอดคล้องกับรายรับ


เว็บไซต์สำนักข่าวแห่งชาติ รายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เพื่อติดตามภาวะวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรป โดยมีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีความเข้มแข็งรองรับผลกระทบที่เกิดได้ แต่ กระทรวงเศรษฐกิจหลัก และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสำนักงานคณะกรรมการ พัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ยังคงไม่ประมาท และติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เบื้องต้นได้มอบหมายให้สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) กระทรวงการคลัง และ ธนาคารแห่งประเทศไทย ทำงานร่วมกับกระทรวงเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง โดยสำรวจหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในกำกับดูแล ว่ามีการกู้เงินในสกุลเงินต่างประเทศมากน้อยเพียงใดและสอดคล้องกับรายรับของรัฐวิสาหกิจแห่งนั้นหรือไม่ เช่น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงคมนาคม

พร้อมมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงอุตสาหกรรม เข้าไปวิเคราะห์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ที่ส่งออกสินค้าไปยังตลาดยุโรปโดยให้เจาะเป็นรายกลุ่มอุตสาหกรรม รายกลุ่มประเทศที่ส่งออก และรายบริษัท เพื่อเตรียมรองรับกรณีผู้สั่งซื้อในยุโรปชะลอการสั่งซื้อสินค้าของไทย รวมถึงให้ติดตามภาวะต่างๆ ในยุโรป ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการคลัง อย่างใกล้ชิด

 ผ่านทางสำนักงานผู้แทนในภูมิภาคหรือประเทศ เพื่อให้ได้ข้อมูลในเชิงลึก นอกจากนี้ ได้ให้กระทรวงแรงงานนำผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจที่เคยเกิดขึ้นมาศึกษา เพื่อเตรียมรองรับความเสี่ยงจากการเลิกจ้างงาน หากบริษัทได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจอีกครั้ง


นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ประเมินอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนในขณะนี้ด้วยว่า อยู่ในระดับที่เหมาะสมและมีเสถียรภาพ โดยธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด จึงไม่ต้องออกมาตรการมารองรับเพิ่มเติมส่วนกระแสเงินทุนไหลเข้า-ออกนั้นยังเป็นปกติ แต่ต้องสำรวจว่ามีนักลงทุนไทยไปลงทุนในยุโรป หรือนักลงทุนยุโรปเข้ามาลงทุนในไทยมากน้อยแค่ไหน

ขณะที่ความผันผวนในตลาดหลักทรัพย์ที่อาจเกิดขึ้นเพราะความกังวลต่อสถานการณ์ดังกล่าว ขณะนี้ยังไม่เห็นสัญญาณว่าดัชนีหุ้นจะมีการปรับตัวลดลง จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องจัดตั้งกองทุนพยุงหุ้นในขณะนี้ แต่หากเกิดปัญหาดัชนีหุ้นปรับตัวลดลงรุนแรง ก็สามารถจัดตั้งกองทุนได้ทันที