เนื้อหาวันที่ : 2007-05-11 09:30:00 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1493 views

IBM ปั้นไทยส่งออกบริการไอที เจาะธุรกิจการเงิน-อุตฯรถยนต์

ยักษ์สีฟ้า "ไอบีเอ็ม" ประกาศใช้ไทยเป็นฐานบริการธุรกิจการเงินและรถยนต์ หวังปักธงในตลาดโลกสร้างจุดแข็งเพื่อดึงงานเข้าประเทศ หวังเป็นผลงานชิ้นโบแดง ผนึก 8 สถาบันการศึกษา

ยักษ์สีฟ้า "ไอบีเอ็ม" ประกาศนโยบายใช้ไทยเป็นฐานบริการธุรกิจการเงินและรถยนต์ หวังปักธงในตลาดโลกสร้างจุดแข็งเพื่อดึงงานเข้าประเทศ "ศุภจี สุธรรมพันธุ์" หวังเป็นผลงานชิ้นโบแดง ผนึก 8 สถาบันการศึกษาพัฒนาหลักสูตรเพื่อสร้างบุคลากรรองรับ พร้อมจับกระแสโลกร้อนงัดกลยุทธ์ "กรีนคอมพิวติ้ง" สร้างจุดขายใหม่

..

นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เปิดเผย "ประชาชาติธุรกิจ" ว่า ทิศทางการทำธุรกิจในโลกกำลังเปลี่ยนไปเป็นลักษณะของโกลบอลลี่ อินทิเกรเต็ด เอ็นเตอร์ไพรส์ (Globally-Integrated Enterprise) องค์กรข้ามชาติจะมองโลกแบบไม่มี พรมแดน กำหนดกลยุทธ์ นโยบายและรูปแบบการจัดการแบบระบบเดียวใช้ทั่วโลก เพื่อให้การบริหารจัดการองค์กรมีประสิทธิภาพและต้นทุนต่ำที่สุด อย่างไอบีเอ็ม แทนที่สำนักงานสาขาแต่ละประเทศจะต้องทำงานทุกอย่างเหมือนๆ กัน ก็จะกระจายงานให้ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญและความพร้อมเช่นปัจจุบันระบบเอชอาร์ (human resource) ของไอบีเอ็มทั่วโลกก็รันที่ฟิลิปปินส์

..

ระบบไฟแนนซ์ทั้งหมดก็อยู่ที่มาเลเซีย และระบบคอลเซ็นเตอร์ก็อยู่ที่อินเดีย เป็นต้น ดังนั้น ไอบีเอ็มประเทศไทยก็จำเป็นต้องทำอะไรที่เป็น คอร์ หรือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย

..

นางศุภจีกล่าวว่า ในฐานะที่ดูแลไอบีเอ็มประเทศไทย ก็ต้องหาว่าเราต้องสร้างอะไรที่เป็นจุดแข็งที่สามารถส่งออกไปตลาดโลกได้ ซึ่งก็ได้ข้อสรุปแล้วว่าไอบีเอ็มประเทศไทยจะโฟกัสในการสร้างโซลูชั่นสำหรับธุรกิจการเงินและอุตสาหกรรมรถยนต์ ต่อไปเมื่อคิดถึงโซลูชั่นสำหรับอุตสาหกรรมการเงินและรถยนต์ก็ต้องคิดถึงประเทศไทย ต้องทำให้ประเทศไทยอยู่ในชอตลิสต์ของเวิรลด์ไวด์

..

"ถ้าเราไม่ทำอะไรต่อไปก็อาจจะไม่ต้องมี ไอบีเอ็มประเทศไทยก็ได้ เพราะขายของผ่าน อินเทอร์เน็ตเป็นเวอร์ชวลเซลก็ได้ ส่วนระบบงานต่างๆ ก็ไม่จำเป็นเพราะปัจจุบันก็ไม่ได้ทำที่ประเทศไทยอยู่แล้ว"

..

นางศุภจีกล่าวว่า เหตุผลที่เลือก 2 อุตสาหกรรมนี้ เพราะฐานลูกค้าใหญ่ของไอบีเอ็มประเทศไทย ก็คือกลุ่มสถาบันการเงิน ซึ่งในภูมิภาคอาเซียนนั้นประเทศไทยมีมาร์เก็ตแชร์สูงสุดในธุรกิจภาคธนาคาร ขณะที่อุตสาหกรรมรถยนต์ก็ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศไทย การที่ไอบีเอ็มจะสร้างโซลูชั่นหลักเพื่อเป็นธุรกิจส่งออกนั้น ต้องดูจากฐานลูกค้าที่มีอยู่ซึ่งต้องมีขนาดใหญ่และแข็งแกร่งพอ เพื่อที่จะสามารถต่อยอดส่งออก skill ของคนไทยออกไปต่างประเทศได้ คิดว่าปลายปีนี้อาจจะเริ่มมีงานต่างประเทศทยอยเข้า

..

"เป็นการสร้างบริการสำหรับเฉพาะอุตสาห กรรม เพราะประเทศไทยจะไปแข่งขันเพื่อสร้างนักพัฒนาซอฟต์แวร์แข่งกับอินเดียก็ไม่ไหว เพราะปีหนึ่งอินเดียมีคนจบด้านไอที 3 แสนกว่าคน ประเทศจีน 2 แสนกว่าคน ขณะที่ประเทศไทยมีไม่ถึงหมื่นคนตามไม่ทันแน่"

..

และเพื่อตอบสนองกับนโยบายดังกล่าว ไอบีเอ็มได้มีการทำบันทึกข้อตกลงความเข้าใจ (เอ็มโอยู) กับ 3 กระทรวง คือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โดย สวทช. กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) โดยซิป้า และ กระทรวงศึกษาธิการ กับอีก 8 มหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาฯ, ธรรมศาสตร์, ศิลปากร, เอไอที, รังสิต, ศรีปทุม เป็นต้น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาเพื่อทำโครงการ SSME (Service Sciences, Management and Engineering) เพื่อร่วมจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาทางด้านไอที วิศวะ เพื่อให้นักศึกษาที่จบออกมามีความเข้าใจในเรื่องการบริหารจัดการ เนื่องจากปัจจุบันการเรียนการสอนของประเทศไทยจะเน้นเรื่องเพียวไซน์ หรือเพียวเอ็นจิเนียร์ แต่ไม่ได้เรียนการประยุกต์ให้เอื้อกับความต้องการของภาคธุรกิจ จึงได้มีความร่วมมือในการเพิ่มเติมหลักสูตรให้สถาบันการศึกษาเรื่องโปรเจ็กต์แมเนจเมนต์ การวิเคราะห์เรื่องธุรกิจ เป็นต้น เพื่อให้เด็กที่จบออกมาสามารถที่จะใช้ทักษะในภาคบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

..

ในอีก 3-4 ปีข้างหน้า ก็จะมีเด็กที่จบมาจากหลักสูตรนี้และพร้อมที่จะเป็นแรงงานที่สู้ได้ในโลกยุคโลกาภิวัตน์ และไอบีเอ็มก็มีหลักเกณฑ์ในการรับสมัครพนักงานที่เป็นเด็กจบใหม่ว่าต่อไปก็จะรับเด็กที่จบหลักสูตรจาก 8 สถาบันการศึกษานี้เท่านั้น ส่วนหนึ่งก็เพื่อให้เด็กมีแรงกระตุ้นอยากเรียน ไม่ใช่ว่าเรียนมาแล้วไม่รู้ว่าจะทำงานที่ไหน

..

นางศุภจีกล่าวเพิ่มเติมถึงกลยุทธ์การทำธุรกิจของไอบีเอ็มว่า เนื่องจากปีนี้กระแสเรื่องโลกร้อน เรื่องสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ไอบีเอ็มประเทศไทยก็สนับสนุนการมีส่วนร่วมกับเรื่องเหล่านี้มากขึ้น ซึ่งเรื่องสิ่งแวดล้อมก็เป็นเรื่องที่ไอบีเอ็มตระหนักมานานแล้ว และนโยบายในการพัฒนาเทคโนโลยีของไอบีเอ็มจะอยู่พื้นฐานเครื่องรุ่นใหม่ที่ออกมามีพลังและประสิทธิภาพมากขึ้นแต่จะต้องประหยัดพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 10-15%

..

นอกจากนี้ไอบีเอ็มก็มีการนำเสนอแนวคิด "กรีนคอมพิวติ้ง" โดยมีโซลูชั่น "กรีนดาต้าเซ็นเตอร์" ให้ใช้พลังงานน้อยที่สุด มีการทำ power configuration การกำหนดระยะห่างการตั้ง เครื่องการเดินสายต่างๆ รวมถึงการทำเซิร์ฟเวอร์ คอนโซลิเดต จากบริษัทที่มีเซิร์ฟเวอร์เป็นสิบ หรือเป็นร้อยตัว ซึ่งจะมีความยุ่งยากและต้นทุน ในการบริหารจัดการ ไอบีเอ็มก็มีโซลูชั่นการทำเซิร์ฟเวอร์ คอนโซลิเดต ยุบรวมเป็นเซิร์ฟเวอร์ 2 ตัว ที่ให้ประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ขณะที่ใช้พลังานลดลง และมีต้นทุนในการดูแลและบริหารจัดการที่ต่ำลงด้วย

..

กรีนคอมพิวเตอร์ หรือกรีนอินโนเวชั่น เป็นเรื่องที่กำลังเข้ายุคเข้าสมัย ซึ่งขณะนี้มีลูกค้ารายใหญ่ๆ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้มาก ก็แลยทำให้กลายเป็นโอกาสใหม่ๆ กลายเป็นจุดขายของบริษัท ซึ่งเริ่มต้นไอบีเอ็มก็ไม่ได้มองว่าเป็นจุดขายแต่มองว่าเป็นเรื่องที่ต้องการมีส่วนร่วมและผลักดันให้เกิดสำนึกความรับผิดชอบต่อสังคม

..

"ปัจจุบันบริษัทใหญ่ ๆ ต้องการเป็นผู้นำ เป็นตัวอย่างว่าเป็นบริษัทขนาดใหญ่มีเงินที่จะใช้พลังงานเหลือเฟือ ก็ยังให้ความสำคัญในเรื่องของการช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม ทำให้เป็นโอกาสของไอบีเอ็ม และหลายบริษัทให้ความสำคัญว่าจะซื้อของหรือทำธุรกิจกับใครเป็นพาร์ตเนอร์กับใครก็ต้องการบริษัทหรือคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย ซึ่งก็ทำให้แนวคิดนี้ถูกกระตุ้นมากขึ้น"

..

นางศุภจีกล่าวว่า แม้ว่าในภาวะเศรษฐกิจโดยรวมชะลอตัว ผู้ประกอบการไอทีประสบปัญหาลูกค้าชะลอการลงทุน แต่ในส่วนของไอบีเอ็มนั้นยังสามารถเติบโตได้ดี เนื่องจากวิธีการทำธุรกิจของ ไอบีเอ็มนั้นจะเน้นการมองที่ปัญหาของลูกค้า และนำเสนอบริการที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาของลูกค้าได้ อย่างขณะนี้ลูกค้าจะเน้นเรื่องการประหยัดใช้ไอทีน้อยลง บริษัทก็จะเสนอเรื่องคอนโซลิเดชั่นเข้ามา เพื่อทำให้ total cost of ownership ของลูกค้าลดลง ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาระบบคอมพิวเตอร์ต่อเดือนลดต่ำลง ขณะที่ประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น

..

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ