เนื้อหาวันที่ : 2012-05-22 16:10:54 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1727 views

นิด้า เชื่อกรีซถอนร่วมยูโรโซนชั่วคราว แนะไทยรับมือผลกระทบทางอ้อม

MPA นิด้าเชื่อกรีซถอนร่วมยูโรโซนชั่วคราว แนะไทยรับมือผลกระทบทางอ้อม หวั่นภาคท่องเที่ยววูบ

MPA นิด้าเชื่อกรีซถอนร่วมยูโรโซนชั่วคราว แนะไทยรับมือผลกระทบทางอ้อม หวั่นภาคท่องเที่ยววูบ

 ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA มองวิกฤติหนี้ยุโรปถึงจุดเปลี่ยน เชื่อกลุ่มประเทศสมาชิกยูโรหันใช้มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจสางปัญหาหนี้ หลังจากมาตรการรัดเข็มขัดคุมเข้มรายจ่ายไม่ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น พร้อมประเมิน “กรีซ” ขอเบรกจากยูโรโซนชั่วคราว เพื่อเดินหน้าแก้ปัญหาหนี้ ระบุเศรษฐกิจไทยไม่ได้รับผลกระทบทางตรง แต่จะได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะจากจำนวนนักท่องเที่ยวยุโรปที่ลดลง แนะเจาะตลาดนักท่องเที่ยวในแถบเอเชีย ทั้งจีนและอินเดียให้มากขึ้น

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยถึงวิกฤติหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นในกรีซ และก่อให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจของประเทศในกลุ่มยูโรโซนว่า ปัญหาสำคัญอยู่ที่จนถึงขณะนี้กรีซยังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ หลังจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา ทำให้กรีซต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 17 มิถุนายนนี้

อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มว่า กรีซ รวมถึงฝรั่งเศส ซึ่งเพิ่งได้ประธานาธิบดีคนใหม่ต่างมีแนวคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายเงินของภาครัฐ ซึ่งนโยบายดังกล่าว นับได้ว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ เนื่องจากที่ผ่านมาการดำเนินมาตรการรัดเข็มขัด ลดรายจ่ายตัดสวัสดิการประชาชนได้รับการต่อต้านจากประชาชน และยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจในยุโรปกลับคืนมาได้

ทั้งนี้ แนวคิดแก้ปัญหาเศรษฐกิจด้วยการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐนั้น เคยประสบความสำเร็จในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจมาแล้ว อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการดังกล่าว ต้องมีระบบกำกับดูแลการคลังที่ดีเพื่อป้องกันเงินรั่วไหล พร้อมกับใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนปรนเพื่อกำหนดอัตราดอกเบี้ยเข้ามากระตุ้นอีกทางหนึ่ง จึงจะสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจยุโรปในครั้งนี้ได้

“การแก้ปัญหาเศรษฐกิจจำเป็นต้องใช้เครื่องมือทั้งนโยบายการเงินและการคลัง แต่ที่ผ่านมา การใช้มาตรการการเงินไม่สามารถทำได้ เพราะธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เป็นผู้กำหนดนโยบายการเงินของกลุ่มยูโรโซนทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้กรีซไม่สามารถใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายแก้ปัญหาหนี้ได้

จึงมีความเป็นไปได้สูงที่กรีซจะใช้มติทางการเมือง ขอถอนตัวออกจากกลุ่มยูโรโซนชั่วคราว เพื่อให้จัดการแก้ปัญหาวิกฤติหนี้ด้วยนโยบายการเงินที่ผ่อนปรน ด้วยการกำหนดอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนที่เหมาะสมกับโครงสร้างเศรษฐกิจ พร้อมกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ ที่คาดว่าจะเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ดีกว่า”  รศ.ดร.มนตรี กล่าว

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวว่า อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่า ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในกลุ่มยูโรโซนในครั้งนี้ จะไม่ทำให้กลุ่มสหภาพยุโรปแตกออกจากกัน เพราะกลุ่มผู้นำเศรษฐกิจอย่างประเทศเยอรมนีและฝรั่งเศสจะต้องประคับประคองเศรษฐกิจของกลุ่มยูโรโซน ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้

แต่รัฐบาลควรติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจยุโรปจากใกล้ชิด เพื่อเตรียมแผนรับมือผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ตามมา โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวจากยุโรปเดินทางมาท่องเที่ยวในไทยประมาณ 6 ล้านคน จึงควรดึงนักท่องเที่ยวในกลุ่มประเทศเอเชีย หรือประเทศที่มีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง เช่น จีนและอินเดีย เข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากขึ้น ขณะที่ตลาดส่งออกไปยุโรปที่มีปัญหานั้น ก็จำเป็นต้องหาตลาดส่งออกทดแทนเช่นกัน