เนื้อหาวันที่ : 2012-05-22 15:57:29 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1281 views

โครงการเกาะสีเขียว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน

สนช.-กรมอุทยานฯ -กลุ่ม ปตท.–TBIA- ร่วมรักษ์เกาะเสม็ด รณรงค์ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ผลักดันเสม็ดเข้าสู่ “โครงการเกาะสีเขียว”

สนช.-กรมอุทยานฯ -กลุ่ม ปตท.–TBIA- ร่วมรักษ์เกาะเสม็ดรณรงค์ใช้ถุงพลาสติกชีวภาพคัดแยกขยะอินทรีย์ เพื่อผลิตปุ๋ยอินทรีย์ผลักดันเสม็ดเข้าสู่ “โครงการเกาะสีเขียว”

จากปัญหาขยะบนอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ดที่มีมากถึง 6 ตันต่อวัน ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม และเป็นภาระในการขนส่งขยะจากเกาะเพื่อมากำจัดบนฝั่ง ทั้งนี้ เพื่อบรรเทาภาระและฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้นสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สนช. อุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด องค์การบริหารส่วนตำบลเพ

สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จึงได้ร่วมกันดำเนินโครงการคัดแยกขยะอินทรีย์บรรจุลงในถุงพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพและนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ที่สามารถใช้บำรุงไม้ผลและไม้ดอกบนเกาะ ซึ่งช่วยลดปัญหาการกำจัดขยะในพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวของเกาะเสม็ดได้กว่า 100 ตันต่อเดือน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อน คิดเป็นปริมาณคาร์บอนถึง 1,600 ตันตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการ

ดร.พรชัย  รุจิประภา ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและประธานคณะอนุกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ได้กล่าวว่า “รัฐบาลได้กำหนดนโยบายชัดเจนในการสนับสนุนอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพ ให้เป็นอุตสาหกรรมคลื่นลูกใหม่ (New Wave Industry) ของประเทศไทย และก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในภูมิภาคด้านอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างครบวงจร

โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2553 เห็นชอบกรอบวงเงินสนับสนุนการจัดตั้งโรงงานนำร่องผลิตเม็ดพลาสติกชีวภาพ  และกรอบแนวทางการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพในประเทศไทยไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งการดำเนินโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ลดปริมาณขยะพลาสติกบนเกาะเสม็ด

พร้อมทั้งคัดแยกขยะอินทรีย์เพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์สอดคล้องกับนโยบายของประเทศในทวีปยุโรปที่ผลักดันให้เกิดการนำพลาสติกสลายตัวได้ทางชีวภาพมาใช้ เพื่อลดปัญหาขยะพลาสติกที่เหลือตกค้างในสิ่งแวดล้อม เช่น ประเทศฝรั่งเศสเริ่มใช้กฎหมายบังคับใช้ถุงพลาสติกที่สลายตัวได้ทางชีวภาพตั้งแต่ปี 2553

การดำเนินการดังกล่าวจะก่อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพอย่างรวดเร็ว ด้วยการใช้วัตถุดิบทางการเกษตรอย่างมันสำปะหลังหรืออ้อย สร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุดถึง 6 เท่า ส่งผลให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วและเปิดโอกาสให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตพลาสติกชีวภาพ(Bio-plastics hub)ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หรือของโลกต่อไป”

นางมิ่งขวัญ  วิชยารังสฤษดิ์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “การดำเนินงานโครงการนำร่องนี้ เป็นมิติใหม่ของความร่วมมือกันอย่างดียิ่งระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ในการนำนวัตกรรมทางด้านวัสดุ นั่นคือ “พลาสติกชีวภาพ” มาใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดการสิ่งแวดล้อมผ่านการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีระบบการคัดแยกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งอุทยานแห่งชาติเขาแหลมหญ้า-หมู่เกาะเสม็ด นับว่าเป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากมีนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก และมีปริมาณขยะประมาณ 6 ตันต่อวัน สภาพพื้นที่เป็นเกาะที่มีทะเลล้อมรอบทำให้มีพื้นที่จัดการขยะที่จำกัด จึงเกิดการจัดการขยะที่ไม่ถูกหลัก เช่น การเผาขยะในบริเวณเปิด เป็นต้น

ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมในวงกว้าง และทำให้สถานที่ท่องเที่ยวเสื่อมโทรมอย่างรวดเร็ว กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมยินดีที่จะร่วมผลักดันและสนับสนุนแนวทางในการจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงเป็นกรณีศึกษาที่สร้างความเข้าใจและข้อมูลที่แสดงผลได้อย่างชัดเจน ส่งผลให้เกิดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมเกี่ยวกับการจัดการขยะในพื้นที่อุทยานแห่งชาติต่อไปในอนาคตเพื่อผลักดันให้เกิดเป็น “ชุมชนเกาะสีเขียวที่ยั่งยืน(Green Island)”ต่อไป”


ดร. วันทนีย์  จองคำ  ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมวัฒนธรรมนวัตกรรม สนช.กล่าวว่า “สนช. ได้ริเริ่มและประสานงานให้เกิดการใช้งานผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพในะระดับนำร่อง เพื่อสร้างความรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการนำถุงขยะพลาสติกชีวภาพมาใช้จัดการคัดแยกขยะอินทรีย์อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมอย่างมากจากนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศอย่างหมู่เกาะเสม็ด เพื่อจัดการขยะที่ดีและเกิดการเพิ่มมูลค่าได้”

“โครงการนำร่องในวันนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยในระยะแรก (พฤษภาคม –กันยายน2554)มี70 สถานประกอบการที่เข้าร่วมโครงการสามารถคัดแยกขยะอินทรีย์ด้วยถุงพลาสติกชีวภาพได้วันละ 3–5ตันแต่ถูกนำไปเป็นวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ได้ประมาณ 1 ตันต่อวัน เนื่องจากปัญหาสำคัญ 2 ประการ คือ 1) การแยกขยะอินทรีย์ต้นทางที่ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างสมบรูณ์ และ
2) การแยกการจัดเก็บหลังจากจัดเก็บจากสถานประกอบการยังไม่เป็นระบบ”

ดร. วันทนีย์  ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า“การดำเนินโครงการในระยะที่ 2จะเน้นการรณรงค์ทั้งการคัดแยกขยะอินทรีย์ต้นทางและการแยกการจัดเก็บเพื่อลดปัญหาที่เกิดขึ้น โดยได้รับความร่วมมือจากกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ซึ่งจะได้รวบรวมและสรุปผลการดำเนินโครงการที่เกิดขึ้น สำหรับใช้เป็นข้อมูลในการผลักดันให้เกิดนโยบายระดับประเทศในการสนับสนุนการจัดการขยะชุมชนที่ดีสะดวกและถูกสุขอนามัยเหมาะสมกับสถานที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติ

ทั้งในด้านของค่าบริหารจัดการขยะและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อรองรับการจัดการขยะชุมชนโดยการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะ บนพื้นที่ท่องเที่ยวและอุทยานแห่งชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความตระหนักของสังคมในการใช้ถุงพลาสติกชีวภาพในการจัดการขยะอินทรีย์ของประเทศไทย”

นายสมศักดิ์  บริสุทธนะกุล นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยกล่าวว่า “สมาคมฯ ได้รับการสนับสนุนเงินอุดหนุนในรูปแบบทุนเครือข่ายวิสาหกิจนวัตกรรมจากสนช. ในการผลิตถุงขยะพลาสติกชีวภาพและการรณรงค์ให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมร่วมกับอสม.ให้มีการคัดแยกขยะต้นทางอย่างมีประสิทธิภาพ

 โดยใช้ถุงขยะพลาสติกชีวภาพในการคัดแยกขยะอินทรีย์ และนำมาผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์โดยหวังว่ารูปแบบของโครงการนำร่องนี้จะสามารถนำไปสู่การขยายผลให้เกิดนโยบายระดับประเทศด้านการจัดการขยะอินทรีย์ที่มีระบบการคัดแยกที่มีประสิทธิภาพโดยใช้ถุงพลาสติกชีวภาพเป็นเครื่องมือ ซึ่งทำให้การจัดเก็บและการขนส่งมีความสะดวกและถูกสุขอนามัย อีกทั้งไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการคัดแยกถุงพลาสติกชีวภาพออกในขั้นตอนการแปรรูปให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะสามารถลดปริมาณก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเน่าสลายตัวของขยะอินทรีย์ในบ่อฝังกลบขยะระบบเปิดแล้ว ยังก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มโดยนำมาใช้เป็นปุ๋ยอินทรีย์สำหรับการปลูกพืชได้ต่อไป”

นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ หน่วยธุรกิจก๊าซธรรมชาติบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า “ด้วยปณิธานในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลใส่ใจในชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม กลุ่ม ปตท. จึงได้เข้าร่วมโครงการฯ ด้วยการสนับสนุนงบประมาณก่อสร้างโรงหมักปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอินทรีย์ต้นแบบ ที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดยใช้กระบวนการผลิตกึ่งอัตโนมัติ ซึ่งมีการควบคุมสภาวะอุณหภูมิและความชื้นของขยะอินทรีย์โดยไม่ต้องทำการพลิกกอง เป็นเงินรวม 4 ล้านบาท พร้อมกับบริษัท มิตซูบิชิ


เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด สนับสนุนถุงพลาสติกชีวภาพชนิด PBS เพื่อเริ่มต้นโครงการฯ ในปี 2554  และเพื่อให้โครงการฯ สามารถดำเนินการต่อเนื่องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปตท. จึงได้สนับสนุนงบประมาณอีกจำนวน 1 ล้านบาท ให้กับสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกชีวภาพไทยเพื่อใช้ในการผลิตถุงพลาสติกชีวภาพจำนวน 60,000 ใบ เพื่อใช้ในการดำเนินการแยกขยะในปี 2555 นี้”

นายพีระพงษ์ อัจฉริยชีวิน กล่าวเพิ่มเติมว่า “ด้วยเล็งเห็นถึงศักยภาพของความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของพลาสติกชีวภาพ ปตท. จึงได้ร่วมทุนกับบริษัท มิตซูบิชิ เคมิคอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด แห่งประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งบริษัท พีทีที เอ็มซีซี ไบโอเคม จำกัด (PTT MCC Biochem) เพื่อดำเนินการก่อสร้างโรงงานและผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PBS

 ซึ่งจะเป็นโรงงานพลาสติกชีวภาพแห่งแรกของโลกที่ผลิตภัณฑ์จากใช้น้ำตาลเป็นวัตถุดิบโดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเตรียมการก่อสร้างในพื้นที่ของกลุ่มปตท. ในนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ที่จะพัฒนาให้เป็น Eco Industrial Area ซึ่งเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกลุ่ม ปตท. ในการสร้าง Low Carbon Society เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนพร้อมกันไปทั้งธุรกิจ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง Green Growth Roadmap”