เนื้อหาวันที่ : 2007-05-10 13:05:35 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2636 views

6 มาตรการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในโครงการ

ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ยากจะบอกได้ว่าหมายถึงอะไร ความเสี่ยงเป็นเหมือนกับสิ่งที่รู้และไม่รู้ เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ความเสี่ยงอาจจะนิยาม

เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาหลาย ๆ ท่านอาจได้ไปเที่ยวกันบ้างเนื่องจากมีวันหยุดต่อเนื่องที่ค่อนข้างยาวนาน  บ้างก็ออกไปเที่ยวต่างจังหวัด หรือไม่ก็เล่นสงกรานต์กันในท้องที่ ซึ่งค่อนข้างจัดกิจกรรมหลากหลายไว้ให้ทั้งผู้มาเยือน และผู้ที่เป็นเจ้าบ้านได้สนุกสนานกัน  กิจกรรมอย่างหนึ่งที่นับได้ว่าเป็นสิ่งคู่กับสงกรานต์ในยุคปัจจุบันก็ คือ การรณรงค์ในเรื่องของการงดดื่มสุรา ซึ่งค่อนข้างเป็นบ่อเกิดของปัญหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการเมาแล้วขับก่อให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน สร้างสถิติไม่เว้นในแต่ละปี  การเมาแล้วเกิดทะเลาะเบาะแว้ง ทำให้เกิดอาชญากรรมสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน  การเมาแล้วเกิดความคึกคะนองขาดสติก่อเหตุระทึกขวัญเช่น ปีนเสาไฟฟ้า จี้บังคับตัวประกัน ฆ่าตัวตาย ฯลฯ จนในทุกวันนี้เมื่อถึงเทศกาลทีไรจะขอนั่งดูข่าวคราวที่บ้าน หากจะไปรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพก็ขอเป็นหลังเทศกาลจะค่อนข้างสบายใจกว่า                     

.

เหตุที่ยกเรื่องของประเพณีสงกรานต์มาเล่าสู่กันฟังก็เนื่องด้วยมองเห็นสถิติของการรายงานผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตในช่วงเทศกาลนี้ค่อนข้างสูง สาเหตุหลัก ๆ ก็คือ การดื่มสุราแล้วขับรถซึ่งก่อให้เกิดอุบัติเหตุในวงกว้าง เช่น ผู้ขับรถปิกอัพดื่มสุราจากนั้นขับรถเร็วซิ่งแซงรถมอเตอร์ไซต์ไปประสานงากับรถทัวร์  คงไม่ต้องพูดถึงจำนวนผู้บาดเจ็บเพราะค่อนข้างที่จะอัดแน่นมาเต็มทั้ง 2 คันรถ อาจเรียกได้ว่าการดื่มสุราแล้วขับนับเป็นอาชญากรรมอย่างหนึ่ง ที่ผู้ดื่มกระทำอย่างตั้งใจก่อให้เกิดความเสี่ยงในชีวิตและทรัพย์สินของผู้ที่ใช้เส้นทางร่วมกัน จึงเป็นที่มาของการรณรงค์เมาไม่ขับผ่านสื่อต่าง ๆ  การวางมาตรการคุมเข้มด้วยการตั้งด่านตรวจทุกระยะ  การตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ของผู้ขับขี่  การสั่งห้ามร้านค้าจำหน่ายสุรา ตลอดจนการออกกฎให้ผู้ดื่มสุราแล้วขับต้องโดนจับปรับและบำเพ็ญประโยชน์ ซึ่งวิธีการทั้งหลายเหล่านี้ล้วนเป็นการป้องกัน และลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุของการเมาแล้วขับในช่วงเทศกาลสงกรานต์  

.
ความเสี่ยงในโครงการ     

ความเสี่ยงเป็นเรื่องที่ยากจะบอกได้ว่าหมายถึงอะไร จะว่าไปแล้วความเสี่ยงเป็นเหมือนกับสิ่งที่รู้และไม่รู้ เป็นไปได้และเป็นไปไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น การที่เราเดินบนท้องถนนก็ทราบอยู่แล้วว่าอันตรายอาจเกิดขึ้นได้จากรถ วิธีการป้องกันก็คือการพยามเดินบนฟุตบาทแต่ก็เคยได้ข่าวอยู่บ่อย ๆ ว่ารถปีนฟุตบาทขึ้นมาชนคนออกบ่อย  หรือนั่งอยู่ในบ้านดี ๆ สิบล้อก็พุ่งเข้ามาชนตายไปก็หลายราย นี่ก็ถือเป็นความเสี่ยงที่รู้และไม่รู้อีกทั้งเป็นไปได้อย่างที่ไม่น่าจะเป็นไปได้   

.

สำหรับโครงการแล้วความเสี่ยงอาจจะนิยามได้ว่า เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับโครงการแล้วไม่ก่อให้เกิดผลดี หรือฉุดรั้งให้งานนั้นได้รับความเสียหายในหลาย ๆ ด้านอาจส่งผลให้โครงการไม่ประสบความสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ เช่น ความเสี่ยงด้านธุรกิจและการเงิน ความเสี่ยงด้านการบริหาร ความเสี่ยงด้านการดำเนินงาน ความเสี่ยงด้านการปฏิบัติงานของบุคลากร ฯลฯ ซึ่งความเสี่ยงของโครงการนั้นอาจแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะของการดำเนินการ แต่ถึงอย่างไรก็จะต้องมีการจัดเตรียมแผนการปฏิบัติเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น 

.

วิธีการรับมือกับความเสี่ยงนั้นไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นหนทางแก้ไขเต็ม 100% เนื่องจากว่าความเสี่ยงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นแตกต่างกันไปตามแต่สถานการณ์ และหากเตรียมการป้องกันไว้มากก็อาจเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณโดยเสียเปล่า เพราะในบางครั้งความเสี่ยงที่คาดการณ์ไว้ก็ไม่เกิดขึ้น ดังนั้น ในแง่การทำงานกับความเสี่ยงของโครงการจะเน้นในกระบวนการลดความเสี่ยงด้วยการถ่ายทอดความรู้ให้กับองค์กรรับทราบถึงสภาวะเสี่ยงของโครงการจัดวางแผนสำหรับการรับมือกับความเสี่ยง หากมีความเสี่ยงเกิดขึ้นก็ให้ดำเนินการตามแผนที่ได้จัดเตรียมไว้พร้อมทั้งมีการควบคุมสภาวะเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำดังภาพ

.

 

.

รูปที่ 1 แสดงกระบวนการลดความเสี่ยงของโครงการ

.

ด้วยเหตุนี้จึงขอแนะนำวิธีการรับมือกับความเสี่ยงด้วยมาตรการที่เป็นพื้นฐาน 6 มาตรการ ดังต่อไปนี้

มาตรการที่ 1 ค้นหาความเสี่ยงของโครงการ

มาตรการที่ 2 เฟ้นหากลยุทธ์สำหรับความเสี่ยง

มาตรการที่ 3 ประเมินความเสี่ยง

มาตรการที่ 4 วิเคราะห์หาปริมาณความเสี่ยง

มาตรการที่ 5 ตอบรับความเสี่ยง

มาตรการที่ 6 การตรวจติดตามและควบคุมความเสี่ยง 

.

มาตรการที่ 1 ค้นหาความเสี่ยงของโครงการ

การค้นหาความเสี่ยงของโครงการนั้นถือเป็นมาตรการแรกที่ผู้จัดการโครงการจะต้องลงมือตรวจสอบการดำเนินการของโครงการตั้งแต่ต้นจนจบว่าตำแหน่งหรือหน้าที่งานใดที่จะเป็นสาเหตุของการเกิดความเสี่ยง  สำหรับวิธีการที่ดีที่สุดในการค้นหาความเสี่ยงนั้นจะต้องใช้วิธีการระดมสมองของทีมงานในทุก ๆ ด้านเพราะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในงานนั้น ๆ จะเป็นผู้ที่ทราบดีที่สุดถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากนั้นระบุรายการความเสี่ยงในงานนั้น ๆ ออกมาเป็นข้อ ๆ เช่น ความเสี่ยงในงานรักษาความสะอาดของบริษัทมีรายการดังนี้

.

- ผู้เดินผ่านไม่ทราบว่าพนักงานขัดพื้นเลยลื่นล้มเพราะพื้นยังไม่แห้ง 

- ตู้เก็บอุปกรณ์เปิดออกทำให้อุปกรณ์หล่นออกมา  
- พนักงานใส่น้ำยาล้างห้องน้ำในกล่องน้ำยาล้างมือ  ฯลฯ   
.

แต่หากต้องการมอบหมายหน้าที่ของการเก็บรายละเอียดของความเสี่ยงให้เป็นมาตรฐานควรที่จะจัดทำแบบฟอร์มเพื่อจัดเก็บรายการซึ่งสามารถออกแบบเองหรือใช้แบบฟอร์มดังนี้

.

.

ผู้จัดโครงการจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหลักในการมอบหมายให้แต่ละฝ่ายเขียนรายการของความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในแต่ละงานมาให้ละเอียดด้วยการศึกษาจากตัวโครงการและแหล่งข้อมูลอื่น ๆ ประกอบกัน เช่น

.

- ศึกษาความเสี่ยงจากโครงการที่ผ่านมา

- ศึกษาความเสี่ยงจากเอกสารที่เกี่ยวข้อง

- ศึกษาความเสี่ยงด้วยประสบการณ์ที่ผ่านมาของทีมงาน

- ศึกษาความเสี่ยงจากข่าวสารในยุคปัจจุบัน

.

หลังจากที่ได้รายการของความเสี่ยงในทุก ๆ ด้านของโครงการ  ผู้จัดโครงการจะต้องนำเอารายการต่าง ๆ เหล่านั้นมาวิเคราะห์แยกแยะรายการย่อย ๆ เหล่านั้นจัดเข้ากลุ่มเพื่อพิจารณาถึงภาพรวมของแต่ละด้าน เช่น ความเสี่ยงทางการตลาด ความเสี่ยงด้านเทคโนโลยี ความเสี่ยงด้านบุคลากร ความเสี่ยงด้านองค์กร ความเสี่ยงด้านการผลิต ความเสี่ยงด้านคู่แข่งทางธุรกิจ ความเสี่ยงด้านมาตรฐาน ความเสี่ยงด้านการควบคุม

.

เนื่องจากสภาพของความเสี่ยงนั้นค่อนข้างมีหลากหลายและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทราบในทุกแง่ทุกมุม แต่หากไม่แน่ใจว่าการค้นหาความเสี่ยงที่ได้มานั้นครอบคลุมในทุก ๆ ด้านของโครงการหรือไม่ ก็ให้พิจารณาว่าภาพรวมของความเสี่ยงนั้นประกอบไปด้วยรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่

1. ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพการณ์ของโครงการ

2. ความเสี่ยงที่เกิดจากสภาพแวดล้อมของโครงการ

3. ความเสี่ยงที่เกิดจากทีมบริหารงาน

4. ความเสี่ยงที่เกิดจากผู้ร่วมลงทุน

5. ความเสี่ยงที่เกิดจากความต้องการที่ไม่แน่นอน

6. ความเสี่ยงที่เกิดจากความล้าหลังทางเทคโนโลยี

7. ความเสี่ยงที่เกิดจากกระบวนการดำเนินการรูปแบบใหม่

.

ตัวอย่างรายการความเสี่ยงของบริษัทต่าง ๆ

บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

1.ความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันอากาศยานที่สูงขึ้น

2.ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

3.ความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราดอกเบี้ย

4.ความเสี่ยงที่เกี่ยวกับทาอากาศยานสุวรรณภูมิ

5.ความเสี่ยงเกี่ยวกับระบบงานอัตโนมัติในการดํ าเนินงานของบริษัทฯ เกิดขัดข้อง

6.ความเสี่ยงที่เกิดจากการเปดเสรีและการแขงขันในธุรกิจสายการบิน

6.1 การเปดเสรีธุรกิจการบินของประเทศ

6.2 การแขงขันในธุรกิจการบิน

7.ผลจากการที่รัฐบาลถือหุนในบริษัทฯ

8.ความเสี่ยงจากการมีคาใชายที่ไมผันแปรตามจํานวนผูโดยสารสูง

9.ความเสี่ยงจากเหตุการณภาวะฉุกเฉิน

9.1 เหตุการณอการรายเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544

9.2 การแพรระบาดของโรคซาร (SARS)

.

บริษัท สามารถคอรปอเรชั่น จํากัด (มหาชน)

1.ความเสี่ยงในเชิงธุรกิจ

1.1 การเปดเสรีทางการค้า และการแข่งขัน

1.2 ความเสี่ยงในเชิงเทคโนโลยี

1.3 ความเสี่ยงที่เกิดจากการดําเนินงานในต่างประเทศ

.

2. ความเสี่ยงทางการเงิน

2.1 ความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ

2.2 ความเสี่ยงจากหนี้สินและสภาพคลองของบริษัทและบริษัทยอยต่างๆ
2.3 ความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ย

2.4 ความเสี่ยงจากหนี้สงสัยจะสูญ

.

มาตรการที่ 2 เฟ้นหากลยุทธ์สำหรับความเสี่ยง

เมื่อได้ทราบถึงความเสี่ยงในแต่ละด้านที่จะเกิดกับโครงการ มาตรการจัดการขั้นต่อไปก็คือ การเฟ้นหากลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับรับมือกับความเสี่ยงในแนวทางของการจัดกลยุทธ์นี้นอกจากที่จะรับมือกับความเสี่ยงได้อย่างจริงแล้ว  สิ่งสำคัญอีกประการที่จะต้องนำมาพิจารณาเป็นหลักก็คือ การยอมรับของทีมบริหารและหรือผู้ร่วมลงทุน  เนื่องจากบุคคลเหล่านี้นับเป็นผู้ที่มีอำนาจในการพิจารณาให้โครงการนั้นสามารถที่จะดำเนินการได้หรือไม่ได้  ดังนั้น การเฟ้นหากลยุทธ์จะต้องมีการนำเสนอและได้รับการยอมรับจากกลุ่มคน ทีมบริหารและหรือผู้ร่วมลงทุน ในบางครั้งอาจต้องมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการกับบุคคลเหล่านี้แต่จะต้องอยู่ในมาตรฐานของความเป็นไปได้

.

จากตัวอย่างที่ผ่านมาในด้านของรักษาความสะอาดเพื่อลดความเสี่ยงจากการหกล้มของผู้ที่เข้าใช้บริการ กลยุทธ์ง่าย ๆ สำหรับงานนี้ก็อาจใช้ป้ายเตือนให้มีข้อความระวังพื้นลื่น ถึงแม้จะไม่ได้ผล 100% เพราะอาจมีผู้มองไม่เห็นป้ายเตือน แต่ก็นับว่าได้ผลดีและประหยัดงบประมาณมากกว่าที่จะทำแผงกั้นซึ่งไม่จำเป็น และสำหรับ บริษัท สามารถคอรปอเรชั่น จํากัด ได้งัดเอากลยุทธ์ของการยกระดับสินค้าในชื่อของ I-mobile เข้ามาใช้ในการแก้ปัญหาความเสี่ยงที่เกิดจากการเปดเสรีทางการคา และการแขงขัน ด้วยการนำเสนอสินค้าในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง และระดับสูงพร้อมทั้งเปิดเฟรนไชส์ร้านค้าให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายซึ่งช่วยให้ความเสี่ยงในด้านของการเปิดเสรีทางการค้าและการแข่งขันนั้นลดน้อยลง

.

มาตรการที่ 3 ประเมินความเสี่ยง

การประเมินความเสี่ยงเป็นมาตรการที่ต่อเนื่องจากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เนื่องด้วยอาศัยหลักการที่ว่าความเสี่ยงนั้นเป็นเรื่องที่สามารถเป็นไปได้หรืออาจเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงจึงเป็นเรื่องที่จะช่วยให้เราทราบว่าความเสี่ยงที่ได้มาจากหลาย ๆ ด้านนั้นสามารถที่จะเกิดขึ้นได้มากน้อยเพียงใด  วิธีการประเมินนั้นอาจอาศัยทั้งข้อมูลจากตำรา โปรแกรมประเมินความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งจากประสบการณ์ในการทำงานของผู้จัดโครงการและทีมงาน เช่น ความเสี่ยงที่พนักงานจะหยิบกระป๋องน้ำยาล้างห้องน้ำเทลงในขวดน้ำยาล้างมือมีความเป็นไปได้ถึง 50% เนื่องมาจากมีการบรรจุในขวดที่มีรูปทรงและสีที่เหมือนกัน หากผู้ทำความสะอาดนั้นใช้ที่ปิดปากและปิดจมูกมิดชิดอาจไม่สามารถแยกแยะกลิ่นได้   หรือความเสี่ยงที่เกิดจากการหยิบทารกให้มารดาผิดคนมีความเป็นไปได้เพียง 1% เนื่องจากพยาบาลจะทำการใส่สายรัดพร้อมชื่อให้กับเด็กทันทีเมื่อคลอด เป็นต้น

.

สิ่งที่ได้จากการประเมินความเสี่ยงนี้นอกจากที่จะเป็นตัวบ่งชี้ถึงระดับความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ต่าง ๆ ยังทำหน้าที่ในการชี้ถึงความสูญเสียมหาศาลที่อาจเกิดขึ้นกับระดับความเสี่ยงที่มีเปอร์เซ็นต์น้อย เช่น การชนกันของรถไฟฟ้า ใครจะคิดว่ารถไฟฟ้าจะชนกันได้จึงอาจให้เปอร์เซ็นต์ความเสี่ยงที่น้อย แต่เมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นความสูญเสียมหาศาลทั้งทางด้านทรัพย์สิน การประกอบกิจการ ความเชื่อใจ ตลอดจนความมั่นคงของบริษัทก็ติดตามมาอย่างคาดไม่ถึงนั่นก็เป็นเพราะให้ความสำคัญกับความเสี่ยงนี้ผิดพลาดหรือน้อยเกินไป และหากเป็นไปได้รูปแบบของการประเมินความเสี่ยงควรจัดให้อยู่ในลักษณะของเอกสารซึ่งมีรายละเอียดดังตาราง

.

.

จากเหตุการณ์ความเสี่ยงในงานของการทำคลอดสามารถนำมาประเมินได้ดังตาราง

.

.

มาตรการที่ 4 วิเคราะห์หาปริมาณความเสี่ยง              

การวิเคราะห์หาปริมาณความเสี่ยงนั้นจะถือเป็นขั้นตอนต่อจากการประเมินความเสี่ยง หากจะว่าไปแล้วทั้งสองมาตรการนี้ค่อนข้างซ้อนทับกัน แต่ที่แยกออกมาให้เห็นเด่นชัดก็เนื่องจากมาตรการประเมินความเสี่ยงนั้นจะนำเอาประสบการณ์และวิจารณญาณของผู้จัดโครงการ ทีมงาน/ผู้ลงทุนเข้ามาวิเคราะห์เป็นหลัก แต่ในส่วนของการวิเคราะห์หาปริมาณความเสี่ยงนี้จะเป็นการเน้นเอาเทคนิคทางด้านวิชาการ ด้านการคำนวณ และสถิติมาเป็นตัวชี้วัดหลัก ซึ่งจะมีประโยชน์ในการชี้วัดสภาพความเสี่ยงของโครงการออกมาเป็นข้อมูลที่สามารถตัดสินการดำเนินโครงการได้เป็นอย่างดี

.

เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์หาปริมาณความเสี่ยง

1.การวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงคุณภาพ เป็นการนำเอาข้อมูลจากการประเมินมาจัดระดับ เช่น ระดับสูง ระดับกลางหรือระดับต่ำ พร้อมทั้งกำหนดว่าในระดับข้อมูลใดควรที่จะให้ความสนใจมากน้อยพร้อมกันนี้ต้องจัดเตรียมแนวทางสำหรับการแก้ไขการวิเคราะห์ในจุดนี้จะช่วยให้ทราบว่าควรดำเนินการในโครงการนี้หรือยกเลิกได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น    

.

2.การวิเคราะห์ความเสี่ยงเชิงปริมาณ สำหรับการวิเคราะห์ในรูปแบบนี้จะอาศัยข้อมูลของโครงการ 3 ส่วน คือ  ค่าใช้จ่าย เวลา   และการดำเนินการ มาดำเนินการวิเคราะห์ความไวซึ่งจะให้ผลการวิเคราะห์ที่สามารถทดสอบตัวแปรต่าง ๆ ภายในโครงการได้ หากมีการปรับเปลี่ยนตัวแปรใดก็จะทราบถึงผลกระทบในตัวแปรอื่น ๆ ได้ทันที 

.

3.การวิเคราะห์โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง  การวิเคราะห์ในรูปแบบนี้ค่อนข้างที่จะใช้หลักการทางด้านสถิติและการคำนวณที่หลากหลายอย่าง เช่น การใช้แบบจำลองของ Monte  Carlo  Simulation   คือ  การใช้การคาดคะเนจากลักษณะ 3 ประการ เช่น การใช้เวลาน้อยที่สุดหรือการมองในแง่ดี  (Minimum or Optimistic)  ค่าเฉลี่ย (MeanหรือMost  likely  time)และมากที่สุดหรือมองในแง่ร้าย  (Maximum  or  Pessimistic)  แต่หากมีวิธีการอื่นเสริมเพิ่มเติมก็สามารถนำมาใช้ได้ เช่น การวิเคราะห์เส้นทางวิกฤตเพื่อคำนวณหาระยะเวลาของการดำเนินโครงการ ซึ่งจะเป็นตัวชี้วัดว่าจะใช้เวลาในการดำเนินโครงการยาวนานเท่าใด ทำให้มองเห็นถึงค่าใช้จ่ายที่จะต้องลงทุนไปกับโครงการนั้น ๆ    

.
4.ต้นไม้การตัดสินใจ เป็นรูปแบบของการวิเคราะห์ที่ใช้แผนภาพต้นไม้เข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการเงิน ซึ่งจะแสดงผลลัพธ์ให้ทราบถึงสภาพการณ์ปัจจุบันและอนาคต    
.

มาตรการที่ 5 ตอบรับความเสี่ยง

มาตรการในการตอบรับความเสี่ยงถือเป็นมาตรการที่ทุกคนในองค์กรจะต้องทำความเข้าใจกับความเสี่ยง และตัดสินใจตอบรับกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น โดยที่ระดับของการตอบรับกับความเสี่ยงนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม คือ    

.

1.การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง คือ การหลีกเลี่ยงหรือหยุดการดำเนินการที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยงนั้น ๆ สาเหตุที่ต้องมีการตอบรับความเสี่ยงด้วยการหลีกเลี่ยงก็อาจเนื่องด้วยเป็นงานที่องค์กรไม่ถนัด หรือหากดำเนินการแล้วมีความเสี่ยงสูงต่อความล้มเหลวก็หาทางหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยงนั้น ๆ แทน

.

2.การลดความเสี่ยง คือ รูปแบบของการตอบรับความเสี่ยงในด้านของการลด ซึ่งอาจออกมาในรูปของการลดโอกาสที่จะเกิดหรือลดผลกระทบหรือลดทั้งสองส่วน การตอบรับในรูปแบบนี้เป็นเสมือนการแบ่งรับแบ่งสู้กับสภาพความเสี่ยงโดยจะต้องอาศัยการควบคุมความเสี่ยงที่เหมาะสม

.

3.การแบ่งความเสี่ยง คือ การตอบรับด้วยการแบ่งความเสี่ยงนี้จะพบได้อยู่ 2 กรณี คือ ความเสี่ยงนั้นมีการทำประกันซึ่งมีผลลัพธ์เป็นที่น่าพอใจ และความเสี่ยงนั้นได้รับการทำสัญญาว่าจะไม่สูญเสียผลประโยชน์หากเกิดสภาพเสี่ยงนั้นขึ้นมา

.

4.การยอมรับความเสี่ยง คือ การยอมรับกับสภาพความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องด้วยสภาพความเสี่ยงนั้นเป็นที่ยอมรับได้ หรือหากเกิดความเสี่ยงนั้นขึ้นก็มีแนวทางในการตั้งรับเป็นอย่างดีจึงไม่ต้องกังวลกับความเสี่ยงเหล่านั้น

.

มาตรการที่ 6 การตรวจติดตามและควบคุมความเสี่ยง 

การตรวจติดตามและควบคุมความเสี่ยงถือเป็นมาตรการขั้นสุดท้ายที่จะใช้ในการรับมือกับความเสี่ยงอีกทั้งยังเป็นการประเมินถึงความพร้อมและประสิทธิภาพในการดำเนินงาน รูปแบบของการตรวจติดตามและควบคุมความเสี่ยงแต่ละองค์กรนั้นอาจดำเนินการได้หลายรูปแบบต่างกัน แต่หากสร้างแนวคิดให้ทุกคนในองค์กรเป็นผู้มีหน้าที่ในการตรวจติดตาม และควบคุมความเสี่ยงจะถือเป็นความสำเร็จของการรับมือกับความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง     

.
แหล่งอ้างอิง      
คู่มือการจัดทำระบบบริหารความเสี่ยง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.)   
http://www.thaiairways.com

http://www.samartcorp.com