เนื้อหาวันที่ : 2012-04-30 12:07:27 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 2607 views

Smart Farm ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ เปลี่ยนไร่นากลายมาเป็นผืนดินที่สุดแสนไฮเทค

เปลี่ยนไร่นาและฟาร์มเกษตรทั้งหลาย ให้กลายมาเป็นผืนดินที่สุดแสนไฮเทค

Smart Farm ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ “ความมั่นคงด้านอาหาร ความมั่นคงของชาติ ความมั่งคั่งของประเทศไทย”

ในอดีตประเทศไทยเป็นเมืองเกษตรที่มีความมั่งคั่งในเรื่องของทรัพยากรทางด้านอาหาร มีความอุดมสมบูรณ์จนได้รับคำกล่าวยกย่องถึงความอุดมสมบูรณ์ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” เนื่องจากสภาพภูมิประเทศ และสภาพภูมิอากาศ มีความเหมาะสมแก่การทำเกษตรกรรม พืชพรรณธัญญาหารสามารถหาได้จากธรรมชาติรอบตัว

สภาพแวดล้อมที่เคยเป็นธรรมชาติที่สมบูรณ์เริ่มมีการเสื่อมถอย ส่งผลกระทบต่อกิจกรรมด้านการเกษตร ราคาพืชผลทางการเกษตร เริ่มแปรเปลี่ยนตามปริมาณผลผลิตที่ขาดความสามารถในการคาดการณ์ล่วงหน้า สภาวะการกระจายตัวและพฤติกรรมของประชากรเปลี่ยนไป ทำให้แรงงานภาคการเกษตรขาดแคลนหรือขาดคุณภาพ รวมไปถึงสภาวะโลกร้อนที่ทำให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงไป จนภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดมาหลายชั่วคนสำหรับใช้ในการดำรงชีวิตและใช้ตัดสินใจในการดำเนินกิจกรรมในไร่นา เริ่มใช้ไม่ได้ผล

แนวคิดในการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานเข้ากับงานด้านการเกษตรจึงเกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ อิเล็กทรอนิกส์ ไอที สื่อสาร เซ็นเซอร์ เทคโนโลยีชีวภาพ รวมทั้งนาโนเทคโนโลยี จะเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร เปลี่ยนไร่นาและฟาร์มเกษตรทั้งหลาย ให้กลายมาเป็นผืนดินที่สุดแสนไฮเทค และทำให้ฟาร์มธรรมดาๆ กลายมาเป็นฟาร์มอัจฉริยะ (Smart Farm หรือ Intelligent Farm) ฟาร์มอัจฉริยะที่มีความสามารถในการรับรู้ความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ด้วยเซ็นเซอร์ และทำงานอย่างกึ่งอัตโนมัติจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในอนาคต


Smart Farm จะทำให้เกษตรกรรมกลายมาเป็นอาชีพที่มีความสุขที่สุดในโลก ที่ซึ่งเกษตรกรรม เทคโนโลยี และ สิ่งแวดล้อม จะอาศัยและอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืนและพอเพียง

ทำความรู้จักกับฟาร์มอัจฉริยะ
เทคโนโลยีฟาร์มอัจฉริยะนั้น ตั้งอยู่บนแนวคิดของการทำเกษตรสมัยใหม่ที่เรียกว่า เกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture หรือ Precision Farming) เป็นกลยุทธ์ในการทำการเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเกษตรกรสามารถจะปรับการใช้ทรัพยากรให้สอดคล้องกับสภาพของพื้นที่ย่อยๆ รวมไปถึงการดูแลอย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ ซึ่งสามารถนำไปปรับใช้ได้ทั้งฟาร์มพืชและสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น การปลูกข้าว ในพื้นที่นาหลายๆ แห่งจะสังเกตได้ว่า ผลผลิตของข้าวที่ออกมาในแต่ละต้น ให้รวงข้าวที่ไม่เท่ากัน บางบริเวณก็ให้รวงข้าวเยอะ บางบริเวณให้รวงข้าวน้อย

 

สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะดินที่ใช้ในการเพาะปลูกในแต่ละบริเวณของท้องนา มีความสมบูรณ์ของธาตุอาหารไม่เท่ากัน ดังนั้นในการเตรียมดินก่อนทำการเพาะปลูกในระบบฟาร์มอัจฉริยะจะทำได้แม่นยำกว่า โดยอาจจะอาศัยเครื่องสแกนสภาพดินในไร่ (Soil Mapping) เพื่อเก็บข้อมูลว่าบริเวณต่างๆ มีความอุดมสมบูรณ์แตกต่างกันอย่างไร ตรงไหนขาดแร่ธาตุชนิดใด ลักษณะดินร่วนซุยต่างกันแค่ไหน ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเก็บเข้าไปในฐานข้อมูลที่เชื่อมโยงกับแผนที่ของฟาร์ม แล้วสามารถดาวน์โหลดไปยังเครื่องหยอดปุ๋ยบนรถไถที่ติด GPS (Global Positioning System) ทำให้การหยอดปุ๋ยสามารถกำหนดได้ว่าจะหยอดปุ๋ยชนิดใด ลงตำแหน่งใดในฟาร์มมากหรือน้อย

 


จะเห็นได้ว่าฟาร์มอัจฉริยะมีความแตกต่างกับฟาร์มธรรมดาตรงที่การใช้ทรัพยากรเป็นไปอย่างแม่นยำและตรงต่อความต้องการของพืช ช่วยลดการสูญเสียทรัพยากร การให้ปุ๋ยที่ไม่มากเกินไปช่วยทำให้ดินไม่เสีย ไม่เกิดการล้นของแร่ธาตุที่อาจทำให้สภาพแวดล้อมเสื่อมลงได้ ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลยสำหรับเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมไม่ว่าจะเป็นเกษตรเคมี หรือ เกษตรอินทรีย์ ที่การให้ปุ๋ยก็จะให้เท่าๆ กันทั่วทั้งไร่ ไม่ต่างจากพ่อแม่ที่เลี้ยงดูลูกด้วยการให้กินข้าวเท่าๆ กัน ทั้งๆ ที่ลูกแต่ละคนนั้นหิวไม่เท่ากัน 


องค์ประกอบของฟาร์มอัจฉริยะ
จริงๆ แล้วเกษตรแม่นยำสูง หรือฟาร์มอัจฉริยะ ใช่ว่าจะต้องใช้แต่จักรกลหนัก หรือต้องลงทุนขนาดใหญ่แต่อย่างใด หากแต่เกษตรแม่นยำสูงเน้นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างละเอียดเพื่อนำไปสู่การตัดสินใจทำการอย่างหนึ่งอย่างใดกับพื้นที่เกษตรกรรมให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด เป็นการทำเกษตรแบบมีสติ ซึ่งสอดคล้องกับหลักของเศรษฐกิจพอเพียง เพราะมีการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นเรื่องของการบริหารจัดการอย่างฉลาดมากกว่าแค่เป็นการใช้เทคโนโลยีชั้นสูงในการแก้ปัญหา ฟาร์มอัจฉริยะจะมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นเป็นทวีคูณ

หากพร้อมใจกันทำหลายๆ ฟาร์มเป็นพื้นที่กว้างขวาง แทนที่จะเป็นฟาร์มหรือไร่นาเจ้าเดียว ยิ่งทำเป็นภูมิภาคยิ่งดี เพราะสามารถนำข้อมูล มาเชื่อมโยงกัน ทำให้สามารถที่จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ณ บริเวณใดบริเวณหนึ่ง ซึ่งอาจนำไปสู่การตัดสินใจ เพื่อปฏิบัติการสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ เพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง ก่อนที่ปัญหานั้นจะลุกลามไปในบริเวณกว้าง

 

เช่น หากฟาร์มเลี้ยงไก่แต่ละฟาร์มมีเซ็นเซอร์ตรวจไข้หวัดนก หรือ ตรวจสัญญาณอันตรายอื่นๆ เมื่อได้รับสัญญาณอันตรายก็สามารถส่งต่อข้อมูลไปยังฟาร์มข้างเคียง หรืออาจตรวจสอบข้อมูลย้อนกลับเพื่อเช็คว่าข้อมูลมีความถูกต้องเพียงใด ทำให้การเตือนภัยแบบเรียลไทม์ ฉับไวต่อเหตุการณ์เป็นไปได้กว่าในอดีต ดังนั้นการทำเกษตรแม่นยำสูง จะต้องประกอบด้วยความสามารถ 3 ด้านได้แก่
1.ความสามารถในการระบุตำแหน่ง ในฟาร์มหรือไร่นา
2.ความสามารถในการเก็บ แปรผล และวิเคราะห์ข้อมูล ในระยะเวลาและมิติที่เหมาะสม
3.ความสามารถในการปรับแต่ง การใช้ทรัพยากรและต้นทุนต่างๆ รวมทั้งกิจกรรมทางการเกษตร ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ย่อยๆ ที่พบความแตกต่างนั้น

เทคโนโลยีเกษตรแม่นยำสูงจะต้องมีความสามารถครบทั้ง 3 อย่าง จึงจะเรียกว่าใช้ได้จริง และเปลี่ยนฟาร์มธรรมดาให้เป็น “ฟาร์มอัจฉริยะ” ได้ และอีกไม่นาน การอัพเกรดเกษตรกรรมครั้งใหญ่จะเกิดขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้นอาชีพเกษตรกรที่เคยถูกปรามาสว่าเป็นงานที่ “หลังสู้ฟ้าหน้าสู้ดิน” จะเปลี่ยนไปเป็นอาชีพที่มีความสุขที่สุดในโลก ด้วยสโลแกนใหม่ “หลังนวดสปา หน้าดูจอ

 
ติดตามฟังเรื่องราวดีๆ เหล่านี้เพิ่มเติมได้ภายในงานสัมมนาวิชาการ เกษตรอัจฉริยะ 2012 ในวันที่ 24-25 พฤษภาคม 2555 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ห้องโลตัส ดาวน์โหลดใบสมัครเข้าร่วมงานสัมมนาได้แล้วที่ www.thailandindustry.com/smartfarmtechnology2012/  ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างได้ที่แฟนเพจ www.facebook.com/semi.mag