เนื้อหาวันที่ : 2007-05-10 11:38:28 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3930 views

3 ยุทธศาสตร์หลักสำหรับการบริหารคุณภาพโครงการ

ปัจจุบันการดำเนินงานด้านบริหารคุณภาพนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อโครงการหรือองค์กรในการที่จะช่วยให้เกิดมาตรฐานในการทำงานและการบริการ

อาจเกิดข้อสงสัยขึ้นมาสำหรับโครงการหรือกิจการต่าง ๆ ว่าเพราะเหตุใดที่จึงต้องมีการบริหารคุณภาพ ลองนึกเล่น ๆ ดูว่า หากเราต้องการซื้อสินค้าแล้วให้เลือกซื้อจาก 2 ร้านค้า คือ ร้าน ก และ ข สำหรับร้าน ก นั้นเป็นร้านค้าที่เปิดเป็นร้านแรก แต่สินค้าที่มีอยู่ในร้านจะมีเพียงสินค้าบางประเภท เช่น เครื่องดื่มและอาหารกระป๋อง การจัดวางก็วางระเกะระกะ ฝุ่นผงจับเต็มไปหมด เมื่อลูกค้าถามถึงสินค้าบางครั้งก็ไม่มีหรือไม่ก็หมดอายุไปหลายเดือน  ส่วนร้าน ข ถึงแม้จะเป็นร้านที่เปิดตามหลังไม่นานแต่สินค้าภายในร้านนั้นก็มีการจัดวางเป็นระเบียบเรียบร้อย มีสินค้าหลากหลายประเภททั้งเครื่องดื่ม อาหารสด อาหารแห้ง ทุกเช้าจะมีการนำเอาสินค้าที่ขาดไปมาวางให้เต็มชั้นอยู่เสมอ แถมผักที่อยู่ในตู้เย็นก็มีการดูแลให้มีความสดและสะอาดตลอด แน่นอนว่าคงไม่มีลูกค้าคนใดที่จะทนซื้อของในร้าน ก อีกต่อไปหากเข้าไปซื้อสินค้าในร้าน ข ที่ได้สินค้าที่มีคุณภาพและตรงตามความต้องการมากกว่า

.

มูลเหตุแห่งการบริหารคุณภาพ

จากตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็นถึงความมีคุณภาพของ ร้าน ข ในด้านการขาย ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งจัดวางสินค้าให้ดูมีระเบียบ การทำความสะอาดสินค้าให้ดูน่าจับต้อง การนำเสนอสินค้าที่หลากหลายประเภท อีกทั้งยังมีการตรวจสอบจำนวนของสินค้าเพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากร้าน ก ที่แม้จะเป็นร้านค้าเช่นเดียวกันแต่ไม่มีการพัฒนาในคุณภาพของการขาย ผลลัพธ์ที่ตามมาก็คือจำนวนของลูกค้าในร้าน ก จะลดน้อยลงเนื่องจากชื่นชอบรูปแบบการขายของร้าน ข มากกว่า

.

สำหรับการบริหารคุณภาพนั้นโดยวัตถุประสงค์หลักก็เพื่อที่จะบริหารงานในทุก ๆ ด้านให้ดำเนินไปตามนโยบายคุณภาพที่ได้ตั้งไว้ เช่น จะต้องมีการตรวจสินค้าในทุก ๆ เย็น และจัดของขึ้นชั้นทันทีเพื่อให้สินค้านั้นเตรียมพร้อมให้ลูกค้าเลือก แต่การที่จะกำหนดให้มีการปฏิบัติตามนโยบายคุณภาพได้นั้นบุคลากรภายในองค์กรจะต้องมีความรู้และความเข้าใจในงานด้านคุณภาพ มิใช่เพียงแต่ผู้บริหารวางนโยบายทางด้านคุณภาพไว้อย่างเลิศหรู แต่ไม่มีการอบรมพนักงานให้ทราบถึงหลักหรือวิธีการจัดการงานด้านคุณภาพ ก็ไม่อาจเกิดผลอะไรกับองค์กรหรือโครงการนั้น ๆ เลย  ด้วยเหตุนี้งานด้านการบริหารคุณภาพจึงไม่ใช่เพียงแค่มุ่งเน้นการตอบสนองต่อลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการสร้างแรงกระตุ้นให้ลูกจ้าง พนักงาน บุคลากรด้านต่าง ๆ ของโครงการสามารถปฏิบัติตามนโยบายคุณภาพได้ด้วยความเต็มใจและร่วมใจ ด้วยเหตุนี้การดำเนินการในด้านของการบริหารคุณภาพจึงต้องมีการวางยุทธศาสตร์สำหรับการปฏิบัติซึ่งสามารถแบ่งได้ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1.ยุทธศาสตร์ในด้านการวางแผนงานด้านคุณภาพเพื่อให้เกิดนโยบายคุณภาพที่เป็นเลิศต่อโครงการนั้น ๆ 2.ยุทธศาสตร์ในด้านการประกันคุณภาพเพื่อให้เกิดการดำเนินการตามนโนบายที่กำหนด 3.ยุทธศาสตร์ในด้านการควบคุมคุณภาพเพื่อให้เกิดการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานให้มีอยู่ในนโยบายคุณภาพ

.

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การวางแผนงานด้านคุณภาพ

ในยุทธศาสตร์นี้เป้าหมายสำคัญของการดำเนินงานก็เพื่อที่จะให้ได้แผนงานที่ใช้บริหารด้านคุณภาพ ซึ่งประกอบไปด้วยแนวทางการดำเนินการ รูปแบบวิธีที่ใช้ในการตรวจสอบ ตลอดจนแนวทางสำหรับการปรับเปลี่ยนหรือประยุกต์ให้เข้ากับสภาพงานในแต่ละส่วนได้  โดยหลักการนั้นผู้บริหารหรือผู้จัดโครงการจะต้องเป็นผู้วางแผนและประกาศเป็นนโยบายด้วยการระดมทั้งมันสมองและกลยุทธ์ต่าง ๆ มากำหนดแนวทางให้เกิดเป็นคุณภาพและมาตรฐานสามารถสนองตอบต่อความต้องการของลูกค้าและบุคลากรภายในองค์กรสามารถนำไปปฏิบัติได้

.

โดยทั่วไปในโครงการหรือกิจการที่ต้องการความเป็นมาตรฐานและสากลอาจจะใช้ระบบบริหารงานคุณภาพ เช่น ISO นำเข้ามาใช้กับโครงการซึ่งก็ถือเป็นแผนคุณภาพที่ดีในระดับหนึ่ง แต่จะต้องทำความเข้าใจว่าระบบ ISO นี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการวางแผนงานคุณภาพเท่านั้น เนื่องด้วยการวางแผนงานเพื่อที่จะทำการบริหารคุณภาพนั้นจะต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับโครงการ ที่มีหลากหลายปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขของการปฏิบัติ ด้วยเหตุนี้การวางยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการวางแผนงานด้านคุณภาพจึงต้องมีข้อมูลของโครงการในทุก ๆ ด้านประกอบกัน พร้อมกับเลือกเครื่องมือและเทคนิคที่จะทำให้การบริหารคุณภาพนั้นสามารถขับเคลื่อนไปได้ สามารถแสดงได้ได้ ดังตารางที่ 1

.
ตารางที่ 1 ยุทธศาสตร์การวางแผนงานด้านคุณภาพ
.

.
1. ข้อมูลสำหรับการพิจารณา
ในยุทธศาสตร์การวางแผนงานด้านคุณภาพข้อมูลในด้านต่าง ๆ ของโครงการนับเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การบริหารคุณภาพนั้นเป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและสนองต่อวัตถุประสงค์ของโครงการมากที่สุด โดยหลัก ๆ จะต้องประกอบไปด้วยหัวข้อดังต่อไปนี้
.

1.1 นโยบายคุณภาพ สำหรับนโยบายคุณภาพหากพูดกันง่าย ๆ ก็คือ จุดมุ่งหมายของโครงการที่ตั้งไว้สำหรับการบริหารด้านคุณภาพว่าต้องการให้ดำเนินไปในทิศทางใด แต่ละโครงการก็จะมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกันไป ยกตัวอย่างเช่น ในโรงพยาบาลต่าง ๆ โดยส่วนใหญ่นโยบายคุณภาพด้านการบริหารก็จะเน้นในด้านการให้บริการด้วยไมตรีจิตกับผู้ป่วยและญาติ ใครที่เคยเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลที่มีมาตรฐานประเภทนี้จะเห็นว่าเริ่มแรกตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในโรงพยาบาล ก็จะมีพยาบาลคอยแนะนำหรือพาไป มีบริการน้ำดื่ม ห้องน้ำสะอาดสะอ้าน แวะเข้ามาพูดคุยแนะนำการใช้ยาอย่างถูกวิธี   หรือในสายงานด้านการผลิตก็จะเน้นนโยบายเกี่ยวกับการผลิตที่มุ่งเน้นให้สินค้านั้นมีคุณภาพมาตรฐานและสวัสดิภาพของพนักงานมาเป็นอันดับแรก ฯลฯ แต่โดยภาพรวมแล้วนโยบายคุณภาพจะมุ่งเน้นและให้ความสำคัญกับความพึงพอใจของลูกค้าเป็นอันดับแรก และที่สำคัญจะต้องมีการจัดทำเป็นเอกสารเพื่อใช้เป็นคู่มือในการบริหารคุณภาพ

.

1.2ขอบเขตของงานขอบเขตของงานหรือโครงการนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่จะต้องนำมาประกอบกับการวางแผนงานด้านบริหารคุณภาพ เนื่องด้วยจะต้องมีการพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการจัดการวางแผนที่มีปัจจัยทั้งในด้านของโครงการ และลูกค้า เช่น หากต้องการเพิ่มบริการอาหารว่างสำหรับผู้โดยสารเพื่อให้เกิดความประทับใจในการบริการ แต่ในการบริการนี้จะต้องเพิ่มราคาค่าโดยสารอีก 20 บาท ถ้าพิจารณาแล้วเป็นผลดีก็สามารถบรรจุเป็นแผนบริหารคุณภาพได้ แต่หากพิจารณาแล้วอาจเสียเปรียบคู่แข่งและไม่เป็นที่พึงพอใจของลูกค้าก็อาจยกเลิกการวางแผนนี้ได้เช่นกัน

.

1.3 รายละเอียดของผลผลิต ค่อนข้างที่จะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการบริหารคุณภาพ โดยส่วนใหญ่งานประเภทอุตสาหกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินการในด้านของการผลิตวัสดุและอุปกรณ์จะมีรายละเอียดของการผลิตวัสดุแต่ละประเภทแตกต่างกันไป การบริหารคุณภาพจึงต้องมีการนำเอาเทคนิคที่เหมาะสมเข้ามาใช้ในงาน เช่น การใช้คัมบัง (KANBAN) ซึ่งเป็นระบบการทำงานที่นำมาใช้ในกระบวนการระบบผลิตแบบทันเวลาพอดี ซึ่งจะช่วยให้ระบบบริหารการผลิตนั้นมีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

.

1.4 ระบบงานและมาตรฐาน โดยทั่วไปหากโครงการนั้นต้องการความเป็นมาตรฐานในด้านคุณภาพและเป็นสากล ระบบที่นิยมนำมาใช้ก็คงไม่พ้น ระบบ ISO ซึ่ง ISO: International Standard Organization เป็นคำภาษากรีก หมายถึง เท่ากันภายในมาตรฐานของ ISO นั้นจะประกอบไปด้วยมาตรฐานที่ระบุชุดของตัวเลขซึ่งจะเป็นการบ่งชี้ว่าโครงการนั้นมีการดำเนินการตามมาตรฐานใด เช่น

.
- ISO 9000 : มาตรฐานการบริหารงานคุณภาพและการประกันคุณภาพ
- ISO 9001:  มาตรฐานการประกันคุณภาพในการออกแบบ/พัฒนาการผลิต การติดตั้ง และการบริการมีการประกันทุกขั้นตอนในกระบวนการ

- ISO 9002 : มาตรฐานการประกันคุณภาพในการตรวจและการติดตั้ง มีการประกันการผลิตและการติดตั้ง

- ISO9003 : มาตรฐานการประกันคุณภาพในการตรวจและการทดสอบขั้นสุดท้าย มีการประกันเฉพาะการตรวจสอบขั้นสุดท้าย
- ISO 9004: มาตรฐานการบริหารงานคุณภาพ และหัวข้อต่าง ๆ ในระบบคุณภาพ-แนวทางการใช้
.

โดยส่วนใหญ่โครงการที่ต้องการความเป็นมาตรฐานมักนำเอาระบบ ISO 9000 มาเป็นนโยบายสำหรับองค์กรเนื่องด้วยระบบ ISO9000 มีการบริหารงานตาม กฎ กติกา มารยาท ที่เน้นการสร้างคุณภาพภายในองค์กรและสามารถนำไปปรับใช้ได้กับทุกองค์กรไม่ว่าจะเป็นด้านอุตสาหกรรมหรืองานบริการ แต่นอกจากระบบ ISO ยังมีระบบมาตรฐานอื่น ๆ อีกมากมายที่สามารถนำมาใช้ในการด้านบริหารคุณภาพได้ เช่น กลุ่มพัฒนาคุณภาพ (QCC) ระบบบริหารการปรับรื้อ(Reengineering) ระบบบริหารคุณภาพทั่วทั้งองค์กร ( TQC/TQM) ซึ่งแต่ละโครงการก็จะต้องเลือกว่าระบบมาตรฐานใดเหมาะที่จะนำมาใช้

 .

1.5 กระบวนการด้านอื่น ๆ นอกจากการพิจารณาในรายละเอียดต่าง ๆ ที่ผ่านมาหากมีรายละเอียดอื่น ๆ ที่ใช้ในงานด้านกระบวนการจะต้องนำมาร่วมพิจารณาเพื่อให้การวางแผนงานนั้นครอบคลุมในทุกด้าน

.
2. เครื่องมือและเทคนิคในการดำเนินการ

ในกระบวนการด้านการวางแผนนั้นนอกจากนโยบายในการวางแผนข้างต้นที่ใช้กลยุทธ์และมันสมองของผู้จัดโครงการมาเป็นตัวขับเคลื่อน  ผู้จัดโครงการยังสามารถที่จะนำเอาเครื่องมือและเทคนิคต่าง ๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ การตลาด สถิติ ฯลฯ เข้ามาใช้ในการวางแผนงานคุณภาพได้ เช่น

.

2.1 วิธีการวิเคราะห์ต้นทุน/ผลประโยชน์ การวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์หรือ cost benefit analysis ถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ในการวิเคราะห์โครงการในด้านผลตอบแทนที่จะได้รับกลับเป็นตัวเงิน หากโครงการต้องการดำเนินงานในด้านของการบริหารคุณภาพแต่ยังไม่แน่ใจว่าจะโครงการนี้คุ้มค่าหรือไม่ ก็สามารถใช้วิธีการนี้วิเคราะห์ได้

.

2.2 วิธีการ Benchmarking เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้การพัฒนางานด้านคุณภาพนั้นมีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้นเนื่องจากอาศัยรูปแบบของการทำงานที่ว่าแต่ละองค์กรนั้นมีการทำงานที่ดีแตกต่างกันไป หากต้องการเพิ่มความเป็นเลิศให้กับองค์กรจะต้องศึกษาข้อดีจากองค์กรภายนอกแล้วนำมาปรับใช้ให้เกิดคุณภาพกับโครงการ เช่น การจัดระบบบริการชำระเงินที่ใช้วิธีการรับบัตรคิวแทนการเข้าคิว  การเสิร์ฟน้ำสมุนไพรสำหรับผู้มารับการรักษาที่โรงพยาบาล การจัดห้องให้ลูกค้าลองชุดก่อนซื้อ ฯลฯ สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ล้วนเป็นกลยุทธ์ที่แต่ละกิจการหรือโครงการค้นคิดขึ้นมาเพื่อให้เกิดความประทับใจแก่ลูกค้า

.

สำหรับวิธีการ Benchmarking นี้ในปัจจุบันนับเป็นวิธีการที่มีหลากหลายองค์กรรวมกลุ่มกันเพื่อแชร์ในประสบการณ์หรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ในด้านการบริหารมากยิ่งขึ้นสาเหตุหลัก ๆ ก็เพื่อให้เกิดการปรับปรุงองค์กรให้มีศักยภาพอย่างรวดเร็วและเป็นการสร้างเครือข่ายของการดำเนินงานด้านการบริหารและจัดการ

.

2.3 วิธีการใช้แผนภูมิ  การใช้งานแผนภูมิถือเป็นเครื่องมือพื้นฐานที่จำเป็นต้องการวางระบบบริหารเพื่อใช้สำหรับการออกแบบการดำเนินงาน แผนภูมิที่ใช้งานและพบเห็นกันทั่วไปก็ได้แก่ แผนภูมิลำดับงาน แผนภูมิก้างปลา  ฮิสโตรแกรม แผนภูมิพาเรโต ฯลฯ ซึ่งจริง ๆ แล้วจะใช้แผนภูมิในรูปแบบใดก็ได้แต่ต้องให้เหมาะสมกับโครงการ

.

2.4 วิธีการออกแบบการทดลอง การออกแบบการทดลองถือเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการลดความผิดพลาดที่อาจเกิดจากการผลิต หรือการดำเนินโครงการ ก่อนที่จะมีการผลิตสินค้าจริง ๆ ขึ้นมาอาจใช้วิธีการทำโมเดล สินค้าตัวอย่าง และทดสอบก่อน เช่น ในกระบวนการผลิตถุงลมนิรภัยจะมีการผลิตสินค้าในชุดตัวอย่างและทำการทดสอบการใช้งานจริงในห้องทดลอง เมื่อพบว่าใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพจึงทำการผลิตสินค้าเพื่อวางจำหน่าย

.

2.5 วิธีการต้นทุนคุณภาพ หรืออาจรู้จักกันในชื่อของวิธีการลดต้นทุนไม่ลดคุณภาพ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่นำมาใช้ในกระบวนการผลิตเพื่อคำนวณหาต้นทุนที่ต่ำสุดแต่ได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ พูดถึงเรื่องการลดต้นทุนนี้หลายท่านอาจจะไม่เคยสังเกตว่าบรรดาสินค้าประเภทน้ำอัดลมนั้น มีการปรับเปลี่ยนรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ เช่น จากขวดแก้วก็ปรับเปลี่ยนเป็นขวดพลาสติก จากกระป๋องอลูมิเนียมที่สมัยก่อนจับดูจะรู้สึกว่าหนักมือแต่ในปัจจุบันกระป๋องนั้นจะบางลง แต่ก็ยังสามารถใช้งานได้และค่อนข้างเป็นที่นิยมเนื่องจากมีน้ำหนักเบา หยิบจับสะดวก ทำตกก็ค่อนข้างที่จะแตกยาก นี่ก็เป็นการนำเอาเครื่องมือลดต้นทุนไปใช้ในการผลิตบรรจุภัณฑ์ แต่คุณภาพของการใช้งานยังดีหรือดีมากกว่าเดิม

.
3. ผลลัพธ์จากการวางแผนด้านคุณภาพ

เมื่อดำเนินการวางแผนด้านคุณภาพด้วยวิธีการและใช้เครื่องมือที่กล่าวมาข้างต้นผลลัพธ์ที่ได้จะต้องปรากฏออกมาในรูปแบบของแผนงานที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้

.

3.1 แผนงานบริหารด้านคุณภาพ แผนงานบริหารคุณภาพที่ได้จากยุทธศาสตร์นี้จะต้องเป็นแผนงานที่ประกอบไปด้วยรายละเอียด วิธีการดำเนินการ การแบ่งหน้าที่รับผิดชอบ การประมวลผล และระบุถึงทรัพยากรที่ใช้ในการบริหารคุณภาพของโครงการ  นอกจากนี้จะต้องมีการกำหนดรูปแบบของแผนงานให้ครอบคลุมไปถึงกระบวนการในด้านการควบคุมคุณภาพ การประกันคุณภาพ ตลอดจนแนวทางสำหรับการพัฒนางานทางด้านบริหารคุณภาพให้ดียิ่งขึ้น

.

3.2  แนวทางการดำเนินการ  แนวทางการดำเนินการที่เกิดขึ้นภายในกระบวนการของการวางแผนบริหารคุณภาพนั้นจะต้องประกอบไปด้วยรูปแบบของการดำเนินการที่ชัดเจน ยิ่งถ้ามีการแสดงเป็นลายลักษณ์อักษร สื่อ สิ่งพิมพ์ก็จะถือเป็นสิ่งที่ต่อการบริหารคุณภาพมาก ยกตัวอย่างเช่น การจัดให้มีปฏิทินแผนงานที่ระบุเวลาเริ่มต้น หรือ สิ้นสุด  ระยะเวลาในการดำเนินการ ช่วงเวลาที่ใช้ในการตรวจสอบ ฯลฯ  ผลประโยชน์ที่ได้จากการวางรูปแบบให้กับการดำเนินการจะช่วยให้องค์กรสามารถตรวจสอบการเข้าใกล้เป้าหมาย ตลอดจนสามารถปรับเปลี่ยนแก้ไขทันทีหากเกิดปัญหาขึ้นภายในกระบวนการ

.

3.3 รายการตรวจสอบ  รายการตรวจสอบถือเป็นโครงสร้างสำคัญของการบริหารคุณภาพเนื่องด้วยเป็นการจัดทำรายการที่องค์กรต้องการดำเนินการให้เกิดคุณภาพ และรายการตรวจสอบจะเป็นหัวเรื่องที่นำมาใช้อีกครั้งในการประเมินคุณภาพ เช่น หากระบุการทำงานในด้านของการพัฒนาสุขลักษณะของห้องสุขา เมื่อทำการตรวจสอบจะต้องอธิบายได้ว่ามีการดำเนินการอย่างใดบ้าง ด้วยวิธีการใด ผลลัพธ์ที่ได้เป็นอย่างไร เป็นต้น

.

3.4 การประยุกต์ใช้  แผนบริหารคุณภาพที่จัดขึ้นนี้จะต้องสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในส่วนต่าง ๆ ขององค์กรไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านบริการหรือการผลิต เช่น โรงพยาบาลมีการกำหนดให้บริหารคุณภาพด้านความสะอาดและถูกสุขลักษณะ ในทุกแผนกก็สามารถนำเอาหลักการมาประยุกต์ให้เหมาะสมได้ เช่น บุคลากรก็มีการแต่งกายที่สะอาด อุปกรณ์ที่ใช้ก็มีการฆ่าเชื้อ แผนกอาหารก็ปรุงอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ฯลฯ

.

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การประกันคุณภาพ          

.

การประกันคุณภาพนับเป็นมาตรฐานในการตรวจสอบระบบบริหารคุณภาพที่โครงการหรือองค์กรได้ถือปฏิบัติ และเป็นการประกันให้เกิดความมั่นใจว่าระบบงานของโครงการจะดำเนินไปตามแผนนโยบายคุณภาพที่องค์กรได้กำหนดใช้  สำหรับการประกันคุณภาพนั้นจะใช้วิธีการตรวจสอบถึงการปฏิบัติงาน การควบคุมคุณภาพ พร้อมทั้งการประเมินผลหากเป็นไปตามที่วางนโยบายไว้ก็ถือว่าองค์กรหรือโครงการ สามารถดำเนินกิจการด้านบริหารคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

.

ปัจจุบันการประกันคุณภาพนั้นจะมีดำเนินการในลักษณะที่ตั้งทีมขององค์กรตรวจสอบเรียกว่าการประกันคุณภาพภายใน และหากต้องการได้รับการรับรองมาตรฐานก็จะต้องให้องค์กรอิสระที่เป็นที่ยอมรับเข้าตรวจสอบคุณภาพเรียกว่าการประกันคุณภาพภายนอก เช่น สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม สถาบันมาตรฐานไอเอสโอ (ISO) หน่วยงานที่กระทรวงอุตสาหกรรมให้การรับรองระบบงาน (Accreditation) เพื่อให้เกิดความเข้าใจในการประกันคุณภาพสามารถแสดงรายละเอียดของกระบวนการได้ ดังตารางที่ 2

.
ตารางที่ 2 ยุทธศาสตร์หลักสำหรับการประกันคุณภาพ
.

.

1. ข้อมูลสำหรับการดำเนินการประกันคุณภาพ

ในการดำเนินการประกันคุณภาพนั้น แผนคุณภาพที่ได้จัดเตรียมไว้ในยุทธศาสตร์แรก จะต้องถูกนำมาใช้งานนับตั้งแต่การปฏิบัติตามแผนดำเนินการด้านบริหารคุณภาพ ที่โครงการได้วางนโยบายไว้  ซึ่งภายในแผนนั้นจะระบุถึงวิธีการวัดประสิทธิภาพเพื่อเป็นสถิติชี้วัดว่าองค์กรสามารถปฏิบัติตามแผนบริหารได้ถูกต้องมากน้อยเพียงใด จากนั้นจะต้องดำเนินการตามแนวทางดำเนินการที่วางไว้เพื่อให้เข้าสู่เป้าหมายและบรรลุเป้าหมายในที่สุด

.
2. เครื่องมือและเทคนิคในการดำเนินการ

การดำเนินการประกันคุณภาพนั้นสามารถเลือกทำการตรวจประเมินได้จากการประกันคุณภาพภายใน หรือการประกันคุณภาพภายนอก ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กร และสำหรับเครื่องมือหรือเทคนิคที่ใช้ในการประกันคุณภาพขึ้นอยู่กับว่าในขั้นตอนของการวางแผนนั้นได้มีการเลือกใช้งานเครื่องมือตัวใด ในขั้นตอนนี้ก็ให้ใช้เครื่องมือนั้นทำการตรวจประเมินคุณภาพ

.
3. ผลลัพธ์ที่ได้จากการประกันคุณภาพ
ระบบคุณภาพงานที่ดีมีประสิทธิภาพเป็นประโยชน์ต่อทั้งองค์กร โครงการ และผู้ใช้บริการ
.

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การควบคุมคุณภาพ  

.

การควบคุมคุณภาพถือเป็นอีกหนึ่งยุทธศาสตร์ที่ใช้ในด้านการบริหารคุณภาพลักษณะของการดำเนินการมีหลักการคล้ายกับการประกันคุณภาพแต่จะยึดถือกระบวนการตรวจสอบผลิตภัณฑ์หรือบริการให้ปราศจากความผิดพลาดก่อนทำการส่งต่อให้ลูกค้า พูดง่าย ๆ ก็คือในกระบวนการควบคุมคุณภาพเป็นอีกหนึ่งการทำงานที่ใช้ในการตรวจสอบผลิตผลของโครงการเพื่อไม่ให้มีความเสียหาย ด้วยการแก้ไขข้อผิดพลาดที่เกิดก่อนส่งผลิตผลนั้นแก่ลูกค้าหรือส่งเข้าตลาดโดยมีแนวทางดำเนินการ ดังตารางที่ 3

.

ตารางที่ 3 ยุทธศาสตร์หลักในการควบคุมคุณภาพ

.

.

1. ข้อมูลสำหรับการควบคุมคุณภาพ

.

การควบคุมคุณภาพนั้นถือเป็นอีกหนึ่งกระบวนการที่ใช้ในการตรวจสอบผลการปฏิบัติงานหากพบเจอข้อผิดพลาดก็จะต้องดำเนินการแก้ไขทันที ดังนั้นในกระบวนการทำงานจึงเกี่ยวข้องกับลักษณะงานที่สามารถจับต้องได้ เช่น ตรวจสอบอุปกรณ์ ตรวจสอบผลิตภัณฑ์  ตรวจสอบกรรมวิธี ฯลฯ แต่จะต้องเป็นการดำเนินการก่อนที่จะส่งต่อสินค้าและบริการนั้นให้กับลูกค้า ยกตัวอย่าง หากในกระบวนการผลิตสายไฟสำหรับเครื่องพ็อกเก็ตพีซีถูกผลิตออกมาแต่ปรากฏว่าไม่สามารถที่จะเสียบเข้ากับตัวเครื่องได้ตามแนวเครื่องหมายที่ระบุบนสายไฟ จึงมีการพิมพ์สติ๊กเกอร์ขึ้นมาอีกหนึ่งชุดติดไว้ด้านข้างอีกพร้อมระบุว่า “This side Up” พร้อมเครื่องหมายลูกศรชี้ว่าให้ใช้ด้านนี้เสียบพ็อกเก็ตพีซีแทน ดังนั้นในยุทธศาสตร์ของการควบคุม

.

คุณภาพจะต้องมีการนำเข้าข้อมูลดังต่อไปนี้

1. ผลการปฏิบัติงานจากการดำเนินงานในกระบวนการ

2. แผนบริหารงานคุณภาพจากกระบวนการวางแผนงาน

3. แนวทางการดำเนินการจากกระบวนการวางแผนงาน

4. รายการการตรวจสอบจากกระบวนการวางแผนงาน

.
2. เครื่องมือและเทคนิคในการดำเนินการ    
.

ในการควบคุมคุณภาพนั้นค่อนข้างที่จะมีกระบวนการทำงานที่ใช้หลักการตรวจสอบเป็นหลัก ดังนั้นเครื่องมือและเทคนิคในการดำเนินการจึงสามารถใช้รูปแบบที่หลากหลาย เช่น

1. วิธีการตรวจสอบอย่างละเอียด

2. แผนภูมิการควบคุม

3. แผนผังพาเรโต

4. ข้อมูลทางด้านสถิติ

5. โฟล์ชาร์ต

6. การวิเคราะห์แนวโน้ม

.

3. ผลลัพธ์ที่ได้จากการควบคุมคุณภาพ

.

เมื่อมีการดำเนินการในลักษณะของการควบคุมคุณภาพผลลัพธ์ที่ได้นั้นนอกจากจะทำให้องค์กรหรือโครงการได้มีการทำงานที่เป็นมาตรฐานแล้วยังได้รับการยอมรับและได้รับความไว้วางใจในการใช้บริการซึ่งระบุข้อดีได้ดังต่อไปนี้

1. ระบบบริหารคุณภาพที่เป็นเลิศ

2. การยอมรับในกระบวนการงาน 

3. การปรับกระบวนการทำงาน   
4. การตรวจสอบอย่างถูกวิธี
5. การปรับแก้ไขการดำเนินงาน  
.

ปัจจุบันการดำเนินงานด้านบริหารคุณภาพนับเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อโครงการหรือองค์กรในการที่จะช่วยให้เกิดมาตรฐานในการทำงานและการบริการ หากองค์กรหรือโครงการใดต้องการที่จะดำเนินงานด้านบริหารคุณภาพจำเป็นที่จะต้องศึกษาและเร่งดำเนินการเพื่อให้เกิดมาตรฐานอันจะเกิดผลดีต่อโครงการและเป็นยุทธวิธีที่จะเพิ่มความพึงพอใจให้กับลูกค้าที่เข้าใช้บริการ  สามารถแข่งขันกับธุรกิจประเภทเดียวกันได้เป็นอย่างดี