เนื้อหาวันที่ : 2006-05-04 14:53:18 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1904 views

หน่วยงานด้านพลังงานผนึกกำลังระดมสมองหาทางออกแก้วิกฤติพลังงาน

หน่วยงานด้านพลังงานผนึกกำลัง เร่งระดมสมองหาแนวทางรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เร่งเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน พัฒนาเทคโนโลยี สร้างฐานกำลังคน เพื่อบรรเทาปัญหาและวิกฤติ

หน่วยงานด้านพลังงานระดมสมองแก้วิกฤติพลังงาน ชี้แนวทางรับมือต้องมุ่งเน้นการใช้พลังงานทางเลือก เปลี่ยนการใช้รถส่วนบุคคลเป็นระบบขนส่งสาธารณะ สนับสนุนให้มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ เร่งสร้างกำลังคนที่มีความรู้ด้านพลังงานให้มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการวางแผนนโยบาย เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่ขาดแคลนมากในขณะนี้

.

ด้วยวิกฤตการณ์พลังงานปัญหาราคาน้ำมันที่ดีดตัวสูงขึ้นได้ส่งผลให้ผู้ขับขี่ยานพาหนะต้องแบกรับราคาน้ำมันแพง ผู้ผลิต ผู้ค้า โรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการขนส่งมากขึ้น ส่วนผู้บริโภคต้องเผชิญกับภาวะสินค้าราคาแพงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เป็นเหตุให้หลายหน่วยงาน อาทิ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิต สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กรมควบคุมมลพิษ และบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เร่งระดมสมองหาแนวทางรับมือกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อบรรเทาปัญหาและรับมือกับวิกฤติในอนาคต ในงานสัมมนาประจำปีของบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม (JGSEE Annual Seminar 2006) เมื่อวันที่ 28-30 เมษายน ที่ผ่านมา

.

นายชวลิต พิชาลัย ผู้อำนวยการสำนักวิเคราะห์แผนพลังงาน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงฯ มีแนวทางในการรับมือกับวิกฤติพลังงาน โดยมีการกำหนดแผนการอนุรักษ์พลังงานขึ้น ซึ่งมีจุดมุ่งหมายในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในแต่ละภาคส่วน เช่น ในภาคขนส่ง ควรมีการปรับเปลี่ยนการขนส่งจากระบบล้อมาเป็นระบบราง หรือ เปลี่ยนมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะแบบผสมผสาน คือ ใช้ทั้งรถและเรือ ภาคอุตสาหกรรม ได้มีการส่งเสริมมาตรการด้านภาษี ให้สิทธิในการคืนภาษี 2.5 เท่า สำหรับการนำเข้าอุปกรณ์ที่ช่วยในการประหยัดพลังงาน นอกจากนี้ยังมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 0.5% เป็น 8% ในปี 2554 โดยสนับสนุนให้มีการใช้ Gasohol Biodiesel และก๊าซ NGV ทดแทนการใช้น้ำมัน ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากหลุมขยะ และพลังงานลมในการผลิตไฟฟ้า และใช้การเผาไหม้ชีวมวล และก๊าซชีวภาพทดแทนการให้ความร้อน

 .

นอกจากแนวทางปฏิบัติแล้ว การสร้างองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ยังเป็นสิ่งสำคัญในการเพิ่มทางออกของด้านพลังงานในอนาคต โดย นาย สมชัย กกกำแหง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนา การไฟฟ้าฝ่ายผลิต กล่าวว่า กฟผ.มีการเพิ่มบทบาทในแง่การสร้างองค์ความรู้ ในรูปแบบการสนับสนุนการวิจัยด้านเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับการประหยัดพลังงานและการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น โดยในปีนี้มีการตั้งงบประมาณ 100 ล้านบาท สำหรับหน่วยงาน หรือกลุ่มวิจัยโครงการต่าง ๆ ด้านพลังงาน สามารถขอเสนอรับทุนวิจัยได้ เพราะถือเป็นหน่วยงานที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีของประเทศ

 .

ขณะที่ ศ.ดร. ศักรินทร์ ภูมิรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยยังมีการส่งเสริมการวิจัยอยู่น้อยมาก คิดเป็นเพียง 6% ของGPD เท่านั้น ดังนั้น เมื่อเกิดวิกฤตพลังงานขึ้นเช่นนี้ สวทช.เห็นว่าควรส่งเสริมให้มีงานวิจัยด้านพลังงานมากขึ้น โดยลำดับแรกต้องมีการส่งเสริม คือ งานวิจัยเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกต่าง ๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ชีวมวลและพลังงานชีวภาพ ให้เป็นผลงานวิจัยที่เห็นผลได้เป็นรูปธรรมและสามารถนำมาใช้ได้จริง รองลงมาคือการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานและสิ่งแวดล้อม เพื่อใช้ในการบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

.

อย่างไรก็ดี ด้านกรมควบคุมมลพิษ โดย ดร. สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า การใช้เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทางเลือกในปัจจุบันนี้ ส่วนใหญ่ยังเกี่ยวข้องกับพลังงานที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิง อาทิ ชีวมวล ซึ่งหนีไม่พ้นการก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ ฝุ่นละอองที่เกิดจากการเผาไหม้ในระดับต่าง ๆ เหล่านี้มีผลต่อสุขภาพของมนุษย์ และยังมีผลกระทบต่อบรรยากาศโลก โดยจะทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก

.

การพัฒนาเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นในอนาคต นอกจากจะมองด้านเทคโนโลยีการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับประเทศแล้ว ยังต้องคำนึงถึงผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปด้วย ดังนั้นการทำข้อเสนอทางเลือกใหม่ของพลังงาน จึงควรมีการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมประกอบการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบายด้วย เนื่องจากเทคโนโลยีบางอย่างอาจเหมาะสมในด้านเป็นพลังงานทางเลือกที่ดี แต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านมลพิษทางอากาศ และผลพลอยได้จากพลังงานบางชนิดอาจนำมาซึ่งสารก่อมะเร็งได้  ดร.สุพัฒน์ กล่าว

.

ด้าน JGSEE ซึ่งมีบทบาทในการสร้างบุคลากรระดับสูง มีการระดมสมองและสร้างบุคลากรเพื่อแก้ปัญหาชาติ โดย รศ.ดร. บัณฑิต ฟุ้งธรรมสาร ประธานบัณฑิตวิทยาลัยร่วมด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขณะนี้บุคลากรในเชิงนโยบายพลังงานในประเทศไทยกำลังขาดแคลนมาก JGSEE จึงมีส่วนร่วมในการปรับหลักสูตรการศึกษาที่เน้นการวิจัยในเชิงนโยบายมากขึ้น มีการจัดฝึกอบรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากร ร่วมไปถึงการรับบุคคลที่มีประสบการณ์ด้านนโยบายพลังงานในต่างประเทศให้เข้ามาเป็นอาจารย์พิเศษของ JGSEE อาทิ ดร. ปีเตอร์ ดู พอนท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสิทธิภาพและนโยบายด้านพลังงานจากเอเปค อีกทั้งยังมีการสร้างเครือข่ายของผู้มีส่วนร่วมด้านพลังงานในสังคม เช่น มหาวิทยาลัยต่าง ๆ และกลุ่ม NGO เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติและองค์ความรู้ต่าง ๆ โดยทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งหวังให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความรู้ด้านการวางแผนนโยบายที่จะมองทะลุปัญหา และหาทางออกให้วิกฤติชาติได้