เนื้อหาวันที่ : 2007-05-10 11:33:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 3430 views

แนวคิดใหม่ การฝึกอบรมและติดตามผล การพัฒนาบุคลากร

การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือบริการเป็นด่านที่กำหนดโจทย์ ซึ่งจะเป็นเป้าหมาย ในการพัฒนาหลักสูตร

ผู้เขียนในฐานะวิศวกรได้มีโอกาสมาทำงานด้านการพัฒนาบุคลากรในภาคอุตสาหกรรม ทำให้เห็นความจำเป็นและการเปลี่ยนแปลงการฝึกอบรมต่างๆมากมาย ปัจจุบันนี้การฝึกอบรมเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ขึ้นกับปัจจัยหลากหลาย การออกแบบหลักสูตรให้ตรงตามความต้องการของผู้เรียน มีกระบวนการเรียนรู้ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ผลการเรียนรู้ที่ต้องวัดได้ หน่วยชี้วัดจึงเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และมีความสำคัญมาก                 

.

ในอดีตเราจะหาความต้องการการฝึกอบรม( Training Need) โดยการให้ทางหน่วยงานต่างๆขององค์กรนำเสนอว่ามีความต้องการพัฒนาคนในหน่วยงานเราด้านใดบ้าง จำนวนกี่วันและสายการผลิตหรือบริการว่างช่วงไหน ทางฝ่ายฝึกอบรมหรือฝ่ายบุคคลก็จะทำการสรรหา คัดเลือก และกำหนดหลักสูตรมาให้เป็นหลักสูตรสำเร็จรูป ถึงเวลาฝึกอบรมก็มานั่งอบรมกัน ประเมินผล Pre-Test Post-Test ประเมินวิทยากร การจัดหลักสูตร แล้วส่งให้ฝ่ายบริหารเป็นอันแล้วเสร็จ การติดตามผลเป็นเรื่องของแต่ละหน่วยงานที่ไปติดตามกันเอง เรียนแล้วใช้ได้จริงหรือไม่ ผลออกมาเป็นอย่างไร ด้วยเหตุนี้หลายโครงการบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ แต่ส่วนมากล้มเหลวโดยสิ้นเชิง

.

อะไรคือความสูญเสียที่เกิดขึ้นที่ก่อให้เกิดความล้มเหลว

- ถูกบังคับมาเรียน

- ไม่พร้อมที่จะเรียน กังวลเรื่องงาน เรื่องส่วนตัว

- หลักสูตรไม่ตรงกับสิ่งที่ต้องการในปัจจุบัน

- วิทยากรไม่เชี่ยวชาญจริง

- วิทยากรมีแต่ความสนุกสนาน ขาดสาระวิชาการ

- ผู้เรียนมีพื้นฐานความรู้ที่ต่างกัน

- หลักสูตรไม่ต่อเนื่อง ไม่มีการพัฒนาเป็นระบบ และขั้นตอน   

- สิ่งแวดล้อม อุปกรณ์และสื่อการฝึกอบรมไม่พร้อม
- มีแต่ทฤษฏี ไม่ลงมือปฏิบัติ          ฯลฯ   
.
คิดใหม่ ทำใหม่ กับการฝึกอบรมและติดตามผล

การฝึกอบรมที่สัมฤทธิผลทั้งต่อตัวผู้เรียนและองค์กร ต้องมีการดำเนินการที่เป็นระบบ มีการให้ความรู้เชิงทฤษฏีและเชิงปฏิบัติ ต้องมีการติดตามผลให้ข้อมูลย้อนกลับ และมีการให้คำปรึกษาอย่างเป็นระบบและมีขั้นตอนดังผังภูมิต่อไปนี้

.

.

 กระบวนการการทำงานที่เป็นระบบดังกล่าวจะเริ่มจาก ปัญหาในการผลิตและบริการหรือเป็นการทำงานที่แตกต่างไปจากมาตรฐาน จากปัญหาดังกล่าวทำให้หัวหน้างาน หัวหน้าแผนกต้องทำการหา Training Need เพื่อการพัฒนาเพื่อแก้ปัญหา โดยการกำหนดความต้องการร่วมกับผู้รู้หรือที่ปรึกษาเพื่อให้ได้ออกมาเป็น Course Content การจัดหาวิทยากรและตระเตรียมเอกสาร สถานที่ต่างๆเป็นหน้าที่ของฝ่ายฝึกอบรม หรือฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในบางองค์กรเข้มงวดถึงการเชิญวิทยากรมาสัมภาษณ์กันถึงในโรงงานทีเดียว  การประชาสัมพันธ์มีการแจ้งเชิญชวน รับสมัคร และคัดเลือกเฉพาะผู้มีคุณสมบัติเข้าฝึกอบรม กรณีไม่อนุมัติจะต้องแจ้งต้นสังกัด การเรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและหรือภาคปฏิบัติจะดำเนินการโดยมีการวัดผลทั้งก่อนและหลังการดำเนินการหลักสูตร มีการลงมือปฏิบัติจริงที่หน้างานของผู้เรียนพร้อมทั้งระบบให้คำปรึกษาจากวิทยากรที่ปรึกษาแบบ Follow Up กรณีที่บรรลุเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดองค์กรต้องกำหนดไว้เป็นมาตรฐาน แต่กรณีที่ไม่ถึงเกณฑ์เป้าหมายที่กำหนดต้องมีการสรุปและวิเคราะห์หาสาเหตุ จัดทำและปรับปรุงหลักสูตร แล้วผ่านกระบวนการอีกครั้ง  โดยทั้งหมดเป็นการวางแผน การดำเนินการ การควบคุมและ กำหนดเป็นมาตรฐาน PDCA ( PLAN DO CHECH ACT)                   

.
กรณีตัวอย่าง

ปัญหาของโรงงานอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในตลาดที่มีการแข่งขันกันสูงมากในทุกๆด้าน ทุกครึ่งปีลูกค้าจะเชิญเข้าไปหารือและกำหนดให้ทางบริษัทลดราคาลงไม่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ทำให้บริษัทต้องมีการปรับตัวในการที่จะลดต้นทุน ขณะเดียวกันต้องเพิ่มผลผลิตโดยที่ทุกคนมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร  ในฐานะท่านเป็นผู้จัดการทั่วไป ท่านจะมีแนวทางการนำเสนอเพื่อให้องค์กรอยู่รอดได้อย่างไร โดยใช้การพัฒนาคนเพื่อการรองรับ ?

.

.

จากกรณีตัวอย่างข้างต้น สามารถดำเนินการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ขั้นตอนโดยให้ทุกคนมีส่วนร่วม เน้นการจัดการ การจัดหลักสูตรเพื่อพัฒนาบุคลากร ในการให้แนวทาง ให้คำปรึกษาเพื่อบรรลุเป้าประสงค์ขององค์กร โดยมีบทสรุปการเขียนโครงการดังต่อไปนี้

.

ตัวอย่างหลักสูตร

การฝึกอบรมและติดตามผล การพัฒนาบุคลากร

เรื่อง การลดต้นทุนการผลิตควบคู่การพัฒนาหัวหน้างาน

ที่มา / ปัญหา 

.

เนื่องด้วยปัจจุบันเข้าสู่ยุคการค้าเสรี ทำให้ต้องมีการแข่งขันทางธุรกิจกันมากขึ้นและรุนแรง ลูกค้ามีทางเลือกมากกว่าเดิม ผู้ผลิตทั้งหลายต่างหากลยุทธ์หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างดีที่สุด ทั้งทางด้านคุณภาพที่ดี ราคาที่ถูกกว่า โดยการส่งมอบตรงต่อเวลา ซึ่งสิ่งหนึ่งที่เป็นปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทุกบริษัทจะปฏิเสธไม่ได้คือ บุคลากรในบริษัท โดยเฉพาะหัวหน้างาน ซึ่งจะมีบทบาทอย่างมากต่อการสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้า หากบุคคลกลุ่มนี้มีความรู้ความสามารถสูงทั้งในด้านการจัดการ การแก้ปัญหา การปรับปรุงงานต่างๆ อย่างเพียงพอ ก็จะทำให้การบริหารงานต่างๆ สำเร็จลุล่วงดี เป็นผลให้งานที่ได้เป็นไปตามเป้าหมายได้ดี  ซึ่งในปัจจุบันนี้ ปัญหาอย่างดีที่พบมากในระดับหัวหน้างานในบริษัทต่างๆ ได้แก่ ขาดความรู้ด้านการบริหารจัดการ รวมทั้งเรื่องการแก้ไขปัญหาต่างๆ และการปรับปรุงงานต่างๆ และการมีจิตสำนึกที่ดีต่อการทำงานเป็นผลให้งานที่ได้ยังไม่เป็นที่บรรลุผลเท่าที่ควร ดังนั้นหลายๆ บริษัทต่างๆก็ให้ความสำคัญกับเรื่องการพัฒนาหัวหน้างาน โดยเฉพาะในส่วนของทักษะการแก้ไขปัญหาและปรับปรุงงานเป็นสำคัญ เนื่องจากหากหัวหน้างานเหล่านี้ มีทักษะและความรู้ในด้านดังกล่าวก็จะทำให้เกิดผลที่ดีต่อไป และหนึ่งในเรื่องของการปรับปรุงงานต่างๆ ในหลายๆ บริษัทให้ความสำคัญกับเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต ซึ่งเป็นหนทางที่ง่ายที่สุดที่สามารถทำได้เพราะขึ้นกับตัวบริษัทเป็นผู้ทำไม่ได้ขึ้นกับปัจจัยภายนอกเลย และเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับคู่แข่งขัน และสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าเป็นสำคัญ ดังนั้นทางบริษัทมีความประสงค์ที่จะเน้นกลยุทธ์ทวีผล โดยเน้นเรื่องการพัฒนาบุคลากรในระดับหัวหน้างานของบริษัท ให้มีความรู้ความสามารถ และทักษะ ในการจัดการบริหารงาน รวมถึงการปรับปรุงและการแก้ปัญหาการทำงานโดยเฉพาะในเรื่องการสร้างจิตสำนึกในเรื่องการลดต้นทุนและกลยุทธ์การลดต้นทุนต่างๆ ของหัวหน้างาน ควบคู่กันไปกับเรื่องการลดต้นทุน เพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจสูงสุด 

.

ดังนั้นบริษัทจึงมีความประสงค์ที่จะดำเนินการฝึกอบรมและติดตามผลให้กับพนักงานระดับหัวหน้างาน ในเรื่องของการสร้างจิตสำนึกและลดต้นทุน  เพื่อให้หัวหน้างานเกิดทักษะและเห็นความสำคัญขอบการลดต้นทุน เนื่องจากเป็นหนึ่งในนโยบายของบริษัท

.

2.วัตถุประสงค์

2.1เพื่อพัฒนาบุคลากรของบริษัท ให้มีความรู้และความสามารถในการปรับปรุงงาน การแก้ปัญหา ในเรื่องการลดต้นทุนและมีจิตสำนึกเรื่องต้นทุน รวมทั้งมีแนวทาง ขั้นตอน ต้นตอ และวิธีการแก้ไขต่างๆ โดยสามารถดำเนินการลดต้นทุนด้วยทีมหัวหน้างานเองได้

.
2.2เพื่อให้หัวหน้างานผู้เข้ารับการฝึกอบรม มีทักษะในการลดต้นทุน โดยดำเนินการจัดทีมงาน และดำเนินการลดต้นทุนในส่วนงานที่ทีมรับผิดชอบ มาทีมละ 1 หัวเรื่อง
.

3. เป้าหมาย

1. ดำเนินการฝึกอบรมหัวหน้างานในเรื่อง จิตสำนึกเกี่ยวกับต้นทุน ความสูญเสียหลักๆ ในการทำงาน ต้นตอ และเทคนิควิธีการแก้ไข ขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ภายหลังการสัมมนา 

.

2. มอบหมายให้ผู้เข้าอบรม ดำเนินการจัดการเลือก 1 หัวเรื่อง โดยให้เน้นเรื่องการลดต้นทุนที่เกี่ยวข้องในกับการทำงาน โดยวัดจากผลลัพธ์ในการปรับปรุงในเรื่องเม็ดเงินที่ประหยัดได้เป็นสำคัญ

.

4. วิธีการดำเนินการ

4.1 ดำเนินการฝึกอบรมให้กับหัวหน้างาน (ทางบริษัทเป็นผู้กำหนดผู้เข้าอบรม) ในส่วนของทฤษฎีต่างๆ เป็นระยะเวลา 2 วันอบรม ดังนี้  

การสัมมนาวันแรก

1. ความสำคัญของการลดต้นทุน / การแข่งขันในยุคปัจจุบัน / การลดต้นทุนนำมาซึ่งความพึงพอใจลูกค้าเพิ่มขึ้น

2. จิตสำนึกเรื่องการลดต้นทุน  (เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่เราทำได้)

3. หลายวิธีในการลดต้นทุน (ลดความสูญเสียหลักๆ ที่ทำให้ต้นทุนสูง (ง่ายที่สุด))

4. ต้นตอ ที่มา สาเหตุ สำคัญๆ

5. เทคนิคและวิธีการแก้ไขต่างๆ

.

การสัมมนาวันที่สอง

1. ให้แต่ละหัวหน้างานสำรวจเรื่องที่ทำให้ต้นทุนสูงในหน่วยงาน

2. ให้นำเสนอเรื่องดังกล่าวและเลือก 1 เรื่องมาดำเนินการ

3. ขั้นตอนในการลดต้นทุนที่จะต้องดำเนินการต่อไป

.
4. 2 ดำเนินการให้การติดตามผลการลดต้นทุน ของผู้เข้ารับการฝึกอบรม 1 วันหลังวันสัมมนา 1 เดือน

แต่ละคน หรือทีมนำเสนอเรื่องที่ดำเนินการปรับปรุง วิธีการต่างๆ และผลที่ได้ลัพธ์จากการทำ โดยจะเลือก 3 เรื่องที่ดีที่สุดในแต่ละรุ่นสัมมนา (ดูจากเม็ดเงินที่ประหยัดได้เป็นสำคัญ) ให้รางวัลการดำเนินการ

.
5. แผนงานและระยะเวลาในการดำเนินการ
.

.

รวมเวลาที่ใช้ในการสัมมนาและติดตามผล  3 วันต่อรุ่นการสัมมนา

.

6. ผลที่คาดว่าจะได้รับ

- ช่วยลดต้นทุนให้กับบริษัทในส่วนงานต่างๆ ลดลง ตามนโยบาย ( ขึ้นกับเรื่องที่ทำและจำนวนทีมงานที่ทำ)

- งานต่างๆ ของทีมที่ดำเนินการลดต้นทุน มีประสิทธิภาพที่ดีขึ้น

- การถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์จากวิทยากรให้แก่หัวหน้างานของบริษัทได้รับมากขึ้น

- สามารถขยายผลการปรับปรุงงานในอนาคตได้ต่อไป

- ความรู้ความเข้าใจในหลักการและวิธีการปรับปรุงการดำเนินงานที่บริษัทฯ สามารถขยายผลได้ 

- การเรียนรู้ประสบการณ์จากการได้รับการแนะนำปรึกษาช่วยการดำเนินโครงการโดยรวมให้เป็นไปด้วยความราบรื่น    
- ผลผลิตโดยรวมของโรงงานมีผลการปรับปรุงที่ดีขึ้น 
- หัวหน้างานมีทักษะการแก้ปัญหาและการปรับปรุงงานมากขึ้น   
.
บทสรุป  

การวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในกระบวนการผลิตหรือบริการเป็นด่านแรกที่กำหนดโจทย์ และเป้าหมายที่ต้องไปให้ถึง การพัฒนาหลักสูตรต่างๆภายใต้การประเมินศักยภาพทั้ง ปัจจัยนำเข้า ผู้เรียน อุปกรณ์การเรียนรู้ ผ่านกระบวนการสอนตามหลักสูตร เพื่อให้ได้ออกมาเป็นการยกระดับความรู้ที่วัดได้อย่างเชื่อถือได้ การพัฒนาบุคลากรอาจใช้คนภายในที่เชี่ยวชาญ เพิ่มเติมความรู้จากภายนอกหรือใช้วิทยากรที่ปรึกษาจากภายนอกได้ตามเหมาะสมแต่ควรเป็นลักษณะการฝึกอบรมและติดตาม จะบรรลุเป้าประสงค์ได้มากกว่า การอบรมและทำการทดลองในห้องอบรมเท่านั้น

.

ประเทศไทยมีการพัฒนาด้านองค์ความรู้ต่างๆอย่างมากมาย และรวดเร็ว  หน่วยงานฝึกอบรมพัฒนาขึ้นมามากมายทั้งการฝึกอบรมเรื่องทั่วไป หรือการฝึกอบรมเรื่องเฉพาะ  ผู้เขียนได้รวบรวมมาบางส่วนดังนี้

.

.