เนื้อหาวันที่ : 2007-05-10 09:13:53 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1247 views

แบงก์เจ้าหนี้รายใหญ่อนุมัติ "ทีพีไอโพลีน" ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้า

เจ้าหนี้ ทีพีไอ โพลีน อนุมัติให้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 36 เมกะวัตต์ได้ ผู้รับเหมาโครงการ พร้อมลงเข็มก่อสร้างภายในปี"50 นี้ ตั้งเป้าลดต้นทุนได้ 560 ล้านบาท/ปี ด้านอุตสาหกรรมอื่น เตรียมขอสร้างโรงไฟฟ้าไว้ใช้ในการผลิต แต่ยังค้างพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

เจ้าหนี้รายใหญ่อนุมัติ ทีพีไอ โพลีน ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าขนาด 36 เมกะวัตต์ได้ เผยได้บริษัทผู้รับเหมาโครงการแล้ว พร้อมลงเข็มก่อสร้างภายในปี"50 นี้ บนพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์ในจังหวัดสระบุรี ตั้งเป้าลดต้นทุนได้ 560 ล้านบาท/ปี ด้านอุตสาหกรรมอื่น เตรียมขอสร้างโรงไฟฟ้าไว้ใช้ในการผลิต แต่ยังค้างพิจารณาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA)

.

นายประเสริฐ อิทธิเมฆินทร์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ "ประชาชาติธุรกิจ" ถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทิ้ง กำลังผลิตติดตั้ง 36 เมกะวัตต์ มูลค่า 1,200 ล้านบาท ภายหลังจากการรออนุมัติจากเจ้าหนี้คือสถาบันการเงินจากประเทศเยอรมนีก่อนหน้านี้นั้น

.

ล่าสุดบริษัทได้มีข้อสรุปเมื่อวันที่ 27 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา ให้สามารถลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทิ้งได้ โดยก่อตั้งบริษัท ทีพีไอ โพลีน พาวเวอร์ จำกัด ซึ่งบริษัทแม่คือบริษัททีพีไอ โพลีน จะเข้าไปถือหุ้นร้อยละ 100 เพื่อเข้ามาบริหารโครงการโรงไฟฟ้าดังกล่าว โดยล่าสุดสามารถ หาผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการได้แล้ว แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ เร็วๆ นี้จะสามารถเริ่มก่อสร้างโครงการดังกล่าวได้บนพื้นที่โรงงานปูนซีเมนต์ ในจังหวัดสระบุรี

.

ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังความร้อนทิ้งดังกล่าว จะใช้ความร้อนจากกระบวนการเผาปูนจากโรงงานปูนซีเมนต์เป็นเชื้อเพลิงในการเดินเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า มีผลทำให้บริษัททีพีไอ โพลีนสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ประมาณ 360-560 ล้านบาท/ปี และที่สำคัญยังสามารถลดการซื้อไฟฟ้าจากระบบได้ เนื่องจากปัจจุบันกระบวนการผลิตของบริษัททีพีไอ โพลีนใช้ไฟฟ้าสูงถึง 100-150 เมกะวัตต์/วัน ถือว่าเป็นปริมาณการใช้ที่สูงมาก โดยบริษัททีพีไอ โพลีนจะใส่เงินลงทุนในโครงการนี้ได้ทันทีประมาณ 600 ล้านบาท หลังจากนั้นจึงทยอยจ่ายเงินในส่วนที่เหลือ

.

"เจ้าหนี้รายใหญ่คือแบงก์เยอรมัน ที่เข้ามาถือหุ้นอยู่ร้อยละ 40 ซึ่งถือเป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ ได้ส่งเอกสารอนุมัติให้สามารถรันโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าได้ เพราะเกิดประโยชน์แถมลดต้นทุนในภาวะที่ยังต้องทยอยบริหารจัดการหนี้ที่ยังเหลืออยู่ราว 9,000-10,000 ล้านบาท อะไรที่ช่วยลดต้นทุนได้ก็ต้องทำ เจ้าหนี้ไม่ได้ให้เหตุผลอื่นๆ ว่า อนุมัติเพราะอะไร และก็ไม่ได้สร้างเงื่อนไขอะไรขึ้นมาใหม่ด้วย ทุกอย่างยังเหมือนเดิม"

.

บริษัท ทีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน) ดำเนินธุรกิจหลักคือการผลิตปูนซีเมนต์ นอกจากการ เตรียมลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังความร้อนทิ้งแล้ว ยังเตรียมศึกษาเพื่อขยายกำลังการผลิตซีเมนต์เพิ่มเติมเพื่อให้กำลังการผลิตซีเมนต์ของบริษัทเพิ่มขึ้นจากเดิมที่ผลิตได้ 9 ล้านตัน/ปี มาเป็น 12-13 ล้านตัน/ปีด้วย ก่อนหน้านี้บริษัท ทีพีไอ โพลีนยังอยู่ในแผนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งในช่วงต้นปี 2550 ที่ผ่านมาได้ประกาศออกจากแผนการปรับโครงสร้างหนี้และเหลือหนี้ที่ต้องบริหารอยู่อีกราว 10,000 ล้านบาทเท่านั้น

.

ผู้สื่อข่าว "ประชาชาติธุรกิจ" รายงานเพิ่มเติมเข้ามาว่า ในช่วงต้นปีที่ผ่านมาถือว่ากลุ่มอุตสาหกรรมในหลายๆ แห่งต้องการขยายการลงทุนเพื่อก่อสร้างโรงไฟฟ้าไว้ใช้ในกระบวนการผลิตทดแทนการรับซื้อไฟฟ้าจากระบบทั้งจาก 3 กิจการไฟฟ้าคือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งเป้าหมายเพื่อลดต้นทุนให้กับกระบวนการผลิต

.

ล่าสุดมีถึง 12 โครงการที่ยื่นขอประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ EIA เช่น โครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม ระยะที่ 4 กำลังผลิตติดตั้ง 64.63 เมกะวัตต์ โดยใช้ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงของบริษัทโรจนะ พาวเวอร์, โครงการโรงไฟฟ้าเพื่ออุตสาหกรรม กำลังผลิตติดตั้ง 240 เมกะวัตต์ ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงของบริษัทอมตะ สเต็มซัพพลาย จำกัด ในจังหวัดระยอง เป็นต้น

.

ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ