เนื้อหาวันที่ : 2007-05-09 20:45:43 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 846 views

นายกฯ ญี่ปุ่น ไฟเขียว "เจบิค" ปล่อยกู้รถไฟฟ้า 2 สายแล้ว

ต้นเดือนพฤษภาคม "โฆสิต" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.อุตฯ ออกอาการเบรกแตก กำหนดเส้นตาย เจบิก เหตุไม่มีคำตอบชัดเจนเรื่องเงินกู้รถไฟฟ้าวันนี้ สมหมาย รมต.ช่วย คลังปลื้มสุด ๆ หลัง นายกฯ ญี่ปุ่น ไฟเขียว "เจบิค" ปล่อยกู้รถไฟฟ้า 2 สาย พร้อมส่งคณะทำงานประเมินปลายเดือนนี้

"ชินโซะ อาเบะ" นายกฯ ญี่ปุ่น ไฟเขียว "เจบิค" อนุมัติเงินกู้ให้ไทยสร้างรถไฟฟ้า 2 สายทางจาก 3 สายทาง คือสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต, สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค และสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ช่วง รอผลประเมินจากเจบิค หวังขยายสัมพันธ์-ฉลองครบรอบ 100 ปีสัมพันธ์ไทย-ญีปุ่น ด้านเจบิคเตรียมส่งคณะทำงานเข้ามาประเมินโครงการปลายเดือนนี้ มั่นใจสองฝ่ายลงนามสัญญาเงินกู้เยนได้กันยายน

.

นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีช่วยว่าการ กระทรวงการคลัง เปิดเผย กับ "ฐานเศรษฐกิจ" ถึงความคืบหน้า การเจรจาเงินกู้จากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งประเทศญี่ปุ่น(เจบิค) ว่า ขณะนี้ นาย ชินโซะ อาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ลงนามให้เจบิคอนุมัติเงินกู้เยนแก่รัฐบาลไทย เพื่อนำไปพัฒนาโครงการรถไฟฟ้ารวม 2 สายทาง โดยญี่ปุ่นจะจัดส่งคณะตัวแทนของรัฐบาลมาทำการประเมินโครงการรถไฟฟ้า 2 สายนี้ในช่วงวันที่ 20-23 พฤษภาคมนี้ หลังจากนั้นในเดือนมิถุนายน ทางเจบิคจะจัดส่งคณะทำงานเพื่อมาประเมินโครงการในขั้นสุดท้ายก่อนเสนอให้รัฐบาลญี่ปุ่นพิจารณาตามขั้นตอนต่อไป

.

" ผมได้พบกับเจ้าหน้าที่จากสถานทูตญี่ปุ่น เมื่อเร็วๆนี้ จึงได้สอบถามถึงเรื่องนี้ ก็ได้รับคำตอบว่าตอนนี้ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นได้อนุมัติเงินกู้ให้ไทยแล้ว และหลังจากที่ตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นเข้ามาประเมินรายละเอียดโครงการเสร็จ ทั้งสองฝ่ายน่าจะลงนามสัญญาเงินกู้ร่วมกันได้ประมาณสิงหาคม หรือกันยายนนี้"

.

ด้านนายฮิโตชิ โทจิม่า ผู้แทนเจบิค ประจำสำนักงานกรุงเทพฯ กล่าวว่า ยังไม่ทราบเรื่องดังกล่าว เพราะยังไม่ได้รับการยืนยันจากทั้งฝ่ายญี่ปุ่นและฝ่ายไทย อย่างไรก็ตามยืนยันว่า ได้รับการติดต่อจากรัฐบาลไทย เรื่องโครงการเงินกู้เยนจากเจบิค เพื่อนำมาสร้างรถไฟฟ้า 3 สายทางได้แก่ สายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต, สายสีน้ำเงินช่วงบางซื่อท่าพระ และช่วงหัวลำโพง-บางแค และสายสีม่วงช่วงบางซื่อ-บางใหญ่ ตั้งแต่สมัยอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร. ทักษิณ ชินวัตร และต่อมาจนถึงรัฐบาลชุด พล อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบัน ตั้งแต่ปลายปี 2549

.

โดยรัฐบาลไทยแจ้งว่าจะต้องใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา และจะต้องมีการตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการ ทั้งในด้านเทคนิค ความคุ้มค่า และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งทางเจบิคญี่ปุ่นมีแผนจะส่งคณะทำงานเข้ามาตรวจสอบความเป็นไปได้ดังกล่าวโดยยังไม่ได้กำหนดวันแน่นอน คาดว่าจะเป็นเดือนพฤษภาคม หรือ มิถุนายน นี้ ทั้งนี้หลังจากได้ผลสรุปการประเมินโครงการแล้ว ขึ้นอยู่กับรัฐบาลญี่ปุ่นว่าจะตัดสินใจอย่างไร ?

.

ส่วนที่มีกระแสข่าวว่า การบริหารงานภายใต้รัฐบาลชั่วคราวของ พล อ. สุรยุทธ์ จุลลานนท์ อาจส่งผลกระทบต่อการพิจารณาเงินกู้เจบิค รวมถึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เยนที่สูง นั้น นายโทชิม่า เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นปัญหา เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเองมีแนวคิดที่จะขยายความร่วมมือระหว่างไทยและญี่ปุ่นให้มากยิ่งขึ้นอยู่แล้ว สำหรับเรื่องอัตราดอกเบี้ยเงินกู้เยน ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหาเช่นเดียวกัน เพราะถ้าพิจารณาจากเงินกู้ทั่วไปของเจบิค อัตราดอกเบี้ยจะอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อปี กำหนดชำระคืนภายใน 25 ปี และต่ออายุหนี้ได้อีก 7 ปี ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ

.

ทั้งนี้โครงการลงทุนรถไฟฟ้า รัฐบาลชุดปัจจุบันมีแผนที่จะพัฒนาในครั้งนี้รวม 5 สายทาง ได้แก่ สายสีแดง บางซื่อ-ตลิ่งชั่น ใช้เงินงบประมาณ 2,027 ล้านบาท และเงินกู้ในประเทศ 10,779 ล้านบาทเพื่อก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ใช้เงินงบประมาณ 1.840 ล้านบาท และเงินกู้เจบิค 30,208 ล้านบาท และเงินกู้ในประเทศ 3,825 ล้านบาท เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและ ใช้เงินกู้ในประเทศลงทุนงานระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ(ไม่รวมตัวรถไฟฟ้า) อีก 6,244 ล้านบาท

.

สายสีม่วง บางใหญ่-บางซื่อ ใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาความเหมาะสม ตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน ปี 2535 จำนวน 54 ล้านบาท และใช้เงินก่อสร้าง 4,863 ล้านบาท เงินกู้เจบิค 20,573 ล้านบาท เงินกู้ในประทเศ 6,858 ล้านบาท และให้เอกชนร่วมลงทุน(พีพีพี) งานระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ 13,359 ล้านบาท

.

สายสีน้ำเงิน บางซื่อ-บางพระ/หัวลำโพง-บางแค ใช้เงินงบประมาณเพื่อการออกแบบและศึกษา พ.ร.บ. ร่วมทุนปี 2535 จำนวน 225 ล้านบาท ใช้งบประมาณ 11,293 ล้านบาท เงินกู้เจบิค 33,889 ล้านบาท และเงินกู้ในประเทศ 11,296 ล้านบาท และเปิดให้เอกชนร่วมทุน(พีพีพี) งานระบบรถไฟฟ้าและอาณัติสัญญาณ 17,161 ล้านบาท

.

สายสีเขียว โครงการส่วนต่อขยาย แบริ่ง-สมุทรปราการ ใช้งบประมาณ 1,449 ล้านบาท เงินกู้จากต่างประเทศหรือในประเทศ 13,490 ล้านบาท และให้เอกชนร่วมทุน งานระบบรถและอาณัติสัญญาณ 7,850 ล้านบาท

.

ขณะที่นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีที่กำกับดูแลกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ต้องการใช้การระดมทุนและเงินกู้ในประเทศมาลงทุนรถไฟฟ้ามากกว่าเงินกู้จากต่างประเทศ ซึ่งเงินในประเทศขณะนี้มีจำนวนมากพอ และอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในช่วงขาลงอีกด้วย

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ