เนื้อหาวันที่ : 2012-03-23 11:01:45 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1939 views

MPA นิด้า จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบหวังกระตุ้นศก.ฟื้นตัว

MPA นิด้า มองเศรษฐกิจไตรมาสแรกยังสาหัสจากพิษน้ำท่วม ภาคอุตฯ ยังซม ฉุดส่งออกโตแค่ 1-2% จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบหวังกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว

MPA นิด้า มองเศรษฐกิจไตรมาสแรกยังสาหัสจากพิษน้ำท่วม ภาคอุตฯ ยังซม ฉุดส่งออกโตแค่ 1-2% จี้รัฐเร่งอัดฉีดเงินเข้าระบบหวังกระตุ้นเศรษฐกิจฟื้นตัว

ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า หรือ MPA NIDA ระบุแบงก์ชาติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% เป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว เชื่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสแรก ยังสาหัสจากพิษน้ำท่วมใหญ่ ชี้ภาคอุตสาหกรรมกระอักการผลิตยังไม่ฟื้นตัว ฉุดการส่งออกโต 1-2% เร่งกระทุ้งรัฐอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจในไตรมาส 2-3 ฟื้นตัว

รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรรัฐประศาสนศาสตร์มหาบัณฑิต (MPA) คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยว่า การตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไว้ที่ 3.0% ถือเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมกับภาวะในปัจจุบัน

เนื่องจากเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ ยังไม่ฟื้นตัวหลังเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา โดยมีปัจจัยมาจากการที่ภาคอุตสาหกรรมในนิคมอุตสาหกรรมเริ่มกลับมาผลิตได้เพียง 50% ของกำลังการผลิตทั้งหมด ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยในไตรมาส 1 ปีนี้ คาดว่าจะเติบโตเพียง 1-2% เมื่อเทียบช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดิน และ พ.ร.ก.เงินกู้เพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมของภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจนั้น ยังทำได้ล่าช้า โดยเฉพาะในส่วนของงบประมาณแผ่นดินนั้น พบว่า มีการใช้จ่ายงบประจำเพียง 45% และงบลงทุนเพียง 28% จากงบประมาณทั้งหมด ทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วงไตรมาสแรกไม่สามารถทำได้เต็มที่ ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งใช้จ่ายเงินงบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความเข้มแข็งกับภาคเศรษฐกิจของไทยและผลักดันให้มีอัตราการเติบโตได้ตามเป้าที่วางไว้

“เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก ยังคงบอบช้ำจากภาวะน้ำท่วมในช่วงที่ผ่านมา การคงนโยบายอัตราดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในครั้งนี้ จึงถือเป็นเรื่องที่เหมาะสมต่อสถานการณ์ เพื่อช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเอกชนได้ฟื้นตัวและกลับมาลงทุนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจอีกครั้ง ในระหว่างที่รอกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐที่คาดว่าจะเริ่มใช้จ่ายอย่างเต็มที่ได้ในช่วงไตรมาส 2 เป็นต้นไป”  รศ.ดร.มนตรี กล่าว

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA คณะรัฐประศาสนศาสตร์ นิด้า กล่าวด้วยว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลต่อสถานการณ์เงินเฟ้อที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นนั้น เชื่อว่า ไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากเงินเฟ้อพื้นฐานยังอยู่ในกรอบการดูแลของ ธปท.ที่กำหนดกรอบไม่เกิน 0.5-3% จึงไม่ต้องกังวลมากนัก อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ราคาน้ำมันปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมาก ก็เชื่อว่า ธปท.จะมีนโยบายออกมากำกับดูแลเพื่อลดผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้ออย่างแน่นอน