เนื้อหาวันที่ : 2007-05-09 20:11:52 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 919 views

เอบีบี ยักษ์ใหญ่อุปกรณ์ไฟฟ้าทุ่มเฉียด 200 ล. รับอานิสงค์ไอพีพี

"เอบีบี"อัดงบเกือบ 200 ล้านบาทขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 20 - 30% รอรับอานิสงค์ไอพีพีรอบใหม่ และรับปิโตรเคมีเฟส 3 พร้อมเร่งขายสินค้าผ่านโมเดิร์นเทรดหลังกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กเริ่มชะลอตัวจากพิษเศรษฐกิจ แต่เชื่อไม่กระทบรายได้มั่นใจขยายตัวตามเป้า 15%

"เอบีบี"อัดงบเกือบ 200 ล้านบาทขยายกำลังการผลิตเพิ่ม 20 - 30% รอรับอานิสงค์ไอพีพีรอบใหม่ และรับปิโตรเคมีเฟส 3 พร้อมเร่งขายสินค้าผ่านโมเดิร์นเทรดหลังกลุ่มลูกค้าขนาดเล็กเริ่มชะลอตัวจากพิษเศรษฐกิจ แต่เชื่อไม่กระทบรายได้มั่นใจขยายตัวตามเป้า 15%

.

นายชัยยศ ปิยะวรรณรัตน์ ประธานและผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท เอบีบี จำกัด ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนไฟฟ้า และระบบควบคุมอัตโนมัติ 1ใน 5 ของโลกและสาขาประจำประเทศไทยเป็นรายใหญ่ในภูมิภาคอินโดจีนเปิดเผยกับ"ฐานเศรษฐกิจ" ถึงแผนการดำเนินธุรกิจและการลงทุนของสาขาประจำเทศไทยในปี 2550 ว่า จะใช้งบลงทุนใหม่ประมาณ 160 ล้านบาท เพื่อลงทุนขยายกำลังการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการเทคโนโลยีสนับสนุนในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ อาทิ ปิโตรเคมี การผลิตไฟฟ้า เหล็ก ปูนซีเมนต์ และยานยนต์ที่ยังคงมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภายในปีนี้จะมีการเปิดประมูลการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (ไอพีพี) รอบใหม่ และรัฐบาลมีความชัดเจนในการให้ภาคเอกชนขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 ต่อไปได้

.

ทั้งนี้เงินทุนดังกล่าวจะใช้สำหรับขยายการผลิตในส่วนของหม้อแปลงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 10-20% จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 70 หน่วยต่อปี ในส่วนนี้จะใช้เงินลงทุนจำนวน 140 ล้านบาท เริ่มดำเนินการก่อสร้างส่วนขยายในช่วงกลางปีนี้และจะแล้วเสร็จภายในไตรมาสแรกของปี 2551 นอกจากนี้จะมีการใช้เงินลงทุนอีกประมาณ 20 ล้านบาทสั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มเพื่อขยายกำลังการผลิตเครื่องปรับปรุงคุณภาพระบบไฟฟ้าซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ช่วยลดความสูญเสียในระบบไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 30% จากปัจจุบันกำลังการผลิตอยู่ที่ 4 แสนหน่วยต่อปี โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในส่วนขยายได้ภายในช่วงต้นปีหน้า

.

"สถานการณ์ของอุปกรณ์ไฟฟ้าและระบบควบคุมอัตโนมัติ ยังไปได้ดีแม้ปัจจุบันยังมีปัญหาการเมืองภายในประเทศ แต่เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป็นอุตสาหกรรมรายใหญ่ที่มีลงทุนในระยะยาวจึงไม่กระทบมาก"

.

นอกจากนี้การขยายกำลังการผลิตดังกล่าวก็เพื่อต้องการขยายฐานการส่งออกให้มากขึ้นเนื่องจากความต้องการในตลาดต่างประเทศก็มีมากเช่นกัน ซึ่งภายในปีนี้ตั้งเป้าว่าจะขยายสัดส่วนการส่งออกเพิ่มเป็น 15 % จากปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% โดยที่ผ่านมาได้ส่งออกหม้อแปลงไปยังประเทศออสเตรเลียเป็นหลัก ส่วนเครื่องปรับปรุงคุณภาพระบบไฟฟ้าโดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังประเทศจีน ขณะเดียวกันจะเร่งจำหน่ายสินค้าไปยังประเทศลาวและกัมพูชามากขึ้นเพราะตลาดยังมีการขยายตัวค่อนข้างมากโดยเฉพาะกัมพูชามีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจมากขึ้นถึง 8-15% ต่อปีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา และมีอัตราการใช้ไฟฟ้าเพิ่ม 15% ต่อปี

.

นายชัยยศ กล่าวต่ออีกว่า แม้ในปัจจุบันการขยายตัวด้านอุตสาหกรรมหลักจะยังมีการขยายตัวได้ดีแต่ในส่วนของอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก (เอสเอ็มอี) ค่อนข้างชะลอตัวเพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจ โดยสัดส่วนของการจำหน่ายสินค้าของลูกค้าในกลุ่มนี้อยู่ที่ประมาณ 25% อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสถานการณ์ดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินธุรกิจของบริษัทมากนัก เพราะกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ยังคงมีการขยายตัว อย่างไรก็ตามบริษัทได้เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าโดยการวางจำหน่ายสินค้าในห้างค้าส่งค้าปลีกขนาดใหญ่หรือโมเดิร์นเทรดมากขึ้น รวมถึงการเข้าร่วมงานแสดงเทคโนโลยี"ASSEMBLY TECHNOLOGY 2007"ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนนี้ ทั้งนี้เชื่อมั่นว่ารายได้ของบริษัทในปีนี้จะมีการขยายตัวจากปีที่แล้ว 15% ตามเป้า สำหรับปีที่ผ่านมารายได้อยู่ประมาณ 8,000 ล้านบาท

.

สำหรับแนวโน้มของการแข่งขันของอุตสาหกรรมผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนไฟฟ้า และระบบควบคุมอัตโนมัติจะรุนแรงมากขึ้น โดยผู้ที่จะสามารถแข่งขันได้ต้องมีศักยภาพในการบริหารต้นทุนการผลิตอย่างมาก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันบริษัทมีส่วนแบ่งตลาดในสินค้าประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นอันดับหนึ่งหรือประมาณ 20% ส่วนสินค้าประเภทระบบควบคุมอัตโนมัติจะอยู่ระหว่างอันดับ1และ2 ส่วนแบ่งตลาดประมาณ 15% โดยมีผู้ผลิตรายใหญ่ประมาณ 2-3 ราย ทั้งนี้กลุ่มลูกค้าของบริษัทในสินค้าประเภทอุปกรณ์ไฟฟ้านั้นการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่งไอพีพี และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนขนาดเล็ก(เอสพีพี)ส่วนระบบควบคุมอัตโนมัติจะเน้นไปที่โรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น ปิโตรเคมี ปูนซีเมนต์และเหล็ก เป็นต้น

.

ที่มา : ฐานเศรษฐกิจ