เนื้อหาวันที่ : 2006-05-04 14:01:41 จำนวนผู้เข้าชมแล้ว : 1062 views

กทม. เร่งสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า โชว์ไอเดียใช้ก่อนผ่อนทีหลัง

ผู้ว่ากรุงเทพมหานครเร่งสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า 3 เส้นทาง หลังนโยบายขยายรถไฟฟ้าของรัฐบาลหยุดชะงักลง งัดไอเดียใช้ก่อนผ่อนทีหลังยอมย้ำเสียดอกให้ผู้รับเหมา และมีแผนโยกงบประมาณฮั้วประมูล 16 โครงการ มูลค่า 20,000 ล้านบาทมาใช้ในการก่อสร้าง คาดเสร็จ ปี 2553

นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะผู้บริหารว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องวงเงินที่จะใช้ก่อสร้างรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง โดยสำนักงบประมาณ กทม.ได้เสนอการใช้เงินคร่าว ๆ นาน 3 ปี แยกเป็น รายละเอียดดังนี้ ปี 2549 เป็นเงิน 700 ล้านบาท ปี 2550 เป็นเงิน 7,000 ล้านบาท และปี 2551 อีก 9,000 ล้านบาท และหากสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ภายในปี 2550 ก็จะสามารถทยอยเปิดใช้งานได้ภายในปี 2553 อย่างไรก็ตามตนได้มอบ ให้กลับไปคำนวณวงเงินการก่อสร้างแต่ละเส้นทางออกเป็นเฟส ๆ และต้องวางแผน การทำงานเป็นเฟส ๆให้สอดคล้องกัน ทั้งแผนการเงินและแผนการก่อสร้าง เพราะตนต้องการให้ก่อสร้างเป็นช่วง ๆ หากเสร็จก่อนจะได้เปิดใช้ก่อน เช่น ช่วงจากสถานีหมอชิต-เกษตร หากสร้างถึงสี่แยกรัชโยธิน ก็สามารถเปิดให้วิ่งก่อนได้ ทั้งนี้เพื่อความสะดวกรวดเร็วของพี่น้องประชาชนและลดปัญหาการจราจร นอกจากนี้ กทม. จะพยายามส่งรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) เส้นทางสถานีรถไฟฟ้าหมอชิต-เกษตร รวมทั้งสถานีรถไฟฟ้าตากสิน-บางหว้า เฉพาะในส่วนของบางหว้าที่จะสร้าง ออกไปอีก 1 กม.เศษ เพื่อต่อเชื่อมกับรถไฟฟ้าสีน้ำเงิน และคาดว่า ปลายสัปดาห์นี้รายละเอียดส่วนใหญ่จะแล้วเสร็จ คงจะบอกได้ว่าจะมีการหารือกับทางสภา กทม.เพื่อขอเปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาเรื่องนี้หรือไม่

 

นายพนิช วิกิตเศรษฐ์ รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยว่า กทม.จะพิจารณาการนำ วงเงินมาใช้อย่างรอบคอบ อาจจะไม่ใช้งบประมาณที่เคยขอก่อสร้างโครงการสะพานและอุโมงค์ทางลอด 16 โครงการการก่อสร้างก็ได้ เพราะยังมีทางเลือกอีกหลายทาง เช่น การออกพันธบัตร แต่วิธีนี้ช้ามาก นอกจากนี้ยังมีวิธีซื้อก่อนแล้วค่อยผ่อนทีหลัง เหมือนกับการซื้อรถยอมเสียดอกแล้วค่อย ๆ ผ่อน รถไฟฟ้าก็สามารถเลือกใช้วิธีการแบบนี้ก็ได้ เพราะงานโครงสร้างและการวางระบบอาณัติสัญญาณ คิดเป็นสัดส่วน 90% ของวงเงินก่อสร้าง หากจะทุ่มเงินก่อสร้างอาจจะสร้างปัญหาทำให้ กทม.ขาดเงินไปใช้จ่ายด้านอื่น ฉะนั้น การเปิดประมูลงานก่อสร้างแบบซื้อก่อนผ่อนทีหลัง ต้องระบุเงื่อนไขให้ต่างจากที่ผ่านมา คือ แม้ผู้รับเหมาจะก่อสร้างงานเสร็จเรียบร้อย กทม.ก็รับงานแต่ยังไม่ชำระเงินทั้งหมด เพียงแต่จะค่อย ๆผ่อนชำระ โดยเสียดอกเบี้ย ให้ผู้รับเหมา อย่างไรก็ตามขณะนี้ให้สำนักงบประมาณ กทม. และสำนักคลัง ไปดูว่า วิธีการนี้ขัดต่อระเบียบและสามารถทำได้หรือไม่ หากทำได้ก็จะเลือกใช้วิธีนี้ แต่ถ้าทำไม่ได้ก็คงต้องเลือกวิธีการจัดงบประมาณประจำปีมาใช้จ่าย